บล.ฟิลลิป:

ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี-STA ธุรกิจยางกลับมาแข็งแรง

2Q64 กำไรเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตัว y-y แต่ลดลง 15% q-q

2Q64 รายงานกำไร 5,044 ล้านบาทเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตัว หลักๆ จากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นของ STGT จากการปรับราคาขายเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นจาก COVID-19 แต่หากเทียบ q-q กำไรสุทธิลดลง 15% จากการเริ่มปรับลดราคาขายในกลุ่มถุงมือยางลง จากกำลังการผลิตของผู้ผลิตในตลาดโลกเพิ่มขึ้น อีกทั้ง 1 ในผู้ผลิตรายใหญ่ในมาเลเซียไม่สามารถส่งไปขายในสหรัฐ ทำให้มีการตัดราคาขายในตลาดอื่น ทำให้ STGT ได้รับผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว ส่วนธุรกิจยางธรรมชาติฟื้นตัว q-q โดยปริมาณขายยางอยู่ที่ 311,657 ตัน ลดลง 5% จากเป็นฤดูปิดกรีดในไทย แต่ราคาขายดีขึ้นส่งผลให้ margin ธุรกิจยางดีขึ้น แต่เมื่อรวมผลกระทบจาก STGT ทำให้ margin ลดลงเหลือ 36.7% จาก 42.9% ใน 1Q64 ขณะที่ค่าใช้จ่ายขายและบริหารเพิ่มขึ้น 6% เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายพิเศษจากนำหุ้น STGT จดทะเบียนในสิงคโปร์, ค่าขนส่งเพิ่มขึ้น แต่รับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบ. ร่วมเพิ่มขึ้น และมีรายการพิเศษ -63 ล้านบาท (กำไรอัตราแลกเปลี่ยน 51, ขาดทุนป้องกันความเสี่ยง 114 ล้านบาท)

ยืนยันการฟื้นตัวของธุรกิจยาง

ผู้บริหารยืนยันถึงการฟื้นตัวของธุรกิจยางว่ามีทิศทางที่ดีต่อเนื่องอย่างที่เคยแจ้งในรายงานฉบับก่อนว่า ความต้องการยางกลับมาฟื้นตัวชัดเจนจากการกลับมาของผู้ผลิตยางล้อในยุโรปและสหรัฐ หลังการกลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง ทดแทนการลดลงของจีน, มีลูกค้าใหม่ๆ ในอินเดียเพิ่มขึ้น และความต้องการใช้น้ำยางข้นยังเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ในกลุ่มถุงมือยางที่ยังมีอยู่มากจาก COVID-19 ที่เกิดขึ้น ขณะที่อุปทานจากผู้ผลิตยางอันดับ 2 ของโลกอย่างอินโดนีเซียคาดว่าผลผลิตอาจลดลงราว 10-15% y-y จากโรคใบร่วงที่เกิดขึ้นในประเทศดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศอื่นๆ ต้องมาซื้อยางจากไทยแทน ทำให้อุปสงค์ยังดีต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ รวมถึงการขาดแคลนแรงงาน ทำให้อุปทานยางในไทยได้รับผลกระทบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาขายอาจไม่ได้ปรับเพิ่มมากนัก เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่อุปทานยางโลกไม่เกิดภาวะขาดแคลน

ปรับประมาณการปี 2564 ลงตามการปรับกำไรของ STGT

แม้ว่าทางฝ่ายจะปรับประมาณการในส่วนธุรกิจยางขึ้นจากเดิม จากปรับสมมติฐานปริมาณขายขึ้นตามแนวโน้มความต้องการยางที่ฟื้นตัวที่ 1.29 ล้านตันเพิ่มขึ้น 25% y-y และปรับราคาขายเพิ่มขึ้นจากเดิมราคาขายที่ดีกว่าที่คาดไว้  แต่ได้ปรับประมาณการธุรกิจถุงมือยางลงจากเดิม ทั้งในส่วนปริมาณและราคาขายเฉลี่ยจากการขยายกำลังการผลิตในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทั้งในไทยและคู่แข่งหลักอย่างมาเลเซียและจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ STGT เช่นกัน คาดยอดขาย 123,562 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 64% y-y และปรับ margin ลงจากเดิมจากการปรับลดราคาขายถุงมือยางลงและปรับกำไรสุทธิลงเหลือ 18,772 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 97% y-y

คงคำแนะนำ “ซื้อ” แต่ปรับราคาพื้นฐานลงเหลือ 50 บาท

แม้ทางฝ่ายคาดว่าอุตสาหกรรมยางที่กลับมาฟื้นตัวค่อนข้างโดดเด่นอีกครั้ง ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการดำเนินงานในกลุ่มผู้ผลิตยาง แต่ราคาหุ้น STA อาจไม่ตอบสนองต่อปัจจัยดังกล่าววมากนัก เนื่องจากตลาดกังวลต่อการดำเนินงานที่อ่อนแอลงของ STGT ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ STA เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายคาดการดำเนินงานในอนาคตยังอยู่ในระดับที่ดี จากอุปสงค์ถุงมือยางที่ยังเติบโตได้ อีกทั้งคาดผลตอบแทนเงินปันผลยังน่าสนใจ ทางฝ่ายคงแนะนำ “ซื้อ” ปรับราคาพื้นฐานลงเหลือ 50 บาท

- Advertisement -