บล.กรุงศรีฯ:

INVESTMENT STRATEGY – เศรษฐกิจไทยใน 4Q22 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาด

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDC) รายงานว่าเศรษฐกิจไทยใน 4Q22 ขยายตัว 1.4% yoy ต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้อย่างมากที่ 3.6% นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบ quarter-to-quarter เศรษฐกิจไทยหดตัวลงเป็นครั้งแรก (-1.5% qoq s.a.) นับตั้งแต่ 3Q21 ซึ่งเป็นการชะลอตัวลงในวงกว้างจากการที่ส่วนประกอบของเศรษฐกิจทุกส่วนชะลอตัวหรือหดตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากกระแสโลก และข้อมูลที่มีในมือ เรามองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยใน 1Q23 จะชะลอตัวลงต่อเนื่อง qoq โดยความหวังเพียงหนึ่งเดียวที่จะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในไตรมาสต่อ ๆ ไป คือการส่งออกของภาคบริการ ซึ่งสอคล้องกับกลยุทธ์การลงทุนของเราที่แนะนำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงหุ้น cyclical และเกาะอยู่กับหุ้นที่เกี่ยวข้องกับภาคบริการ และหุ้น defensive เราคิดว่ากลยุทธ์นี้จะยังใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะเห็นสัญญาณชัดเจนว่าธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะ Fed กลับทิศนโยบายการเงินแล้ว

เศรษฐกิจอ่อนแอในวงกว้าง

ดังที่เราเคยระบุเอาไว้แล้วว่าการส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างยาวนาน (เกินหกเดือน) น่าจะฉุดการเติบโตของปัจจัยอื่น ๆ ที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจตามไปด้วย โดยมูลค่าการส่งออกสินค้า และบริการสุทธิลดลง 0.7% yoy ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบห้าไตรมาส ถึงแม้ว่าการส่งออกภาคบริการจะเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 94.6% แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะช่วยชดเชยมูลค่าการส่งออกที่ติดลบถึง -10.5% ได้ ในขณะเดียวกัน การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคชะลอตัวลงอย่างมากอยู่ที่ 5.7% yoy จาก 9.1% ใน 4Q22 ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มอ่อนแอลง ในขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น การจับจ่ายใช้สอยส่วนใหญ่จึงเป็นการซื้อสินค้าและบริการที่จำเป็น ส่วนการจับจ่ายใช้สอยของภาครัฐลดลง 8% ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สอง การลงทุนในประเทศชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 3.9% yoy จาก 5.5% ในไตรมาสก่อนหน้า เพราะการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลดลงอย่างมากเหลือเพียง

4.5% (จาก 11.2%) ในขณะที่การลงทุนภาครัฐที่ขยับเพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง (1.5% yoy) ยังไม่มากพอที่จะชดเชยผลกระทบจากการชะลอตัวของการลงทุนในภาคเอกชนได้

 

แนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มน่าเป็นห่วง

เรามองว่าภาวะเศรษฐกิจไทยอ่อนแอเร็วกว่าที่คาดเอาไว้ก่อนหน้านี้  เนื่องจากการค้าระหว่างประเทศมีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่อง ดังนั้น การส่งออกของไทยจึงจะยังคงถูกกดดันในช่วงเดือนต่อ ๆ ไป โดยสัญญาณลบล่าสุดคือตัวเลขการส่งออกสินค้าที่ไม่ใช้น้ำมันของสิงคโปร์ที่ลดลง 25% ในเดือนมกราคม ซึ่งแย่กว่า consensus ที่คาดเอาไว้ที่ -22% และจะกดดันกิจกรรมทางด้านอุปทานของประเทศ (วัดจาก PMI) ในเดือนต่อ ๆ ไป นอกจากนี้ ข้อมูลของ NESDC ยังแสดงให้เห็นว่าสินค้าคงคลังของประเทศไทยไต่ระดับขึ้นมาอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท (real term) จากเฉลี่ย 4.1 หมื่นล้านบาทใน 3Q22  ทั้งนี้ ถึงแม้ประเทศไทยยังพึ่งรายได้จากภาคบริการได้ แต่เนื่องจากการฟื้นตัวกำลังเข้าใกล้ระดับก่อน COVID ระบาดแล้ว ซึ่งหมายความว่าอัตราการเติบโตอาจจะเกิดการพลิกผันได้ในอีกไม่นาน

- Advertisement -