ALT โชว์งวดปี 65 กำไรขั้นต้นเติบโตเพิ่ม 147% ดันธุรกิจบริการโครงข่าย–วางระบบ–ขายสินค้าปีนี้รุ่ง
เอแอลที เทเลคอม เปิดผลการดำเนินงานงวดปี 65 มีกำไรขั้นต้น 202 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 147% จากทุกธุรกิจที่ทำกำไรขั้นต้นได้ดี ทั้งกลุ่มขายสินค้า บริการติดตั้งวางระบบ และบริการโครงข่าย พร้อมมั่นใจแนวโน้มปีนี้มีศักยภาพเติบโตสูง โชว์งานรอรับรู้รายได้ในมือ 3,560 ล้านบาท ขณะที่บริษัทมีการตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์ โครงข่าย Wi-Fi Network กว่า 97 ล้านบาท ทำให้มียอดขาดทุนสุทธิ 107 ล้านบาท
นายสมบุญ เศรษฐ์สันติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทรวมงวดปี 2565 เทียบกับงวดปี 2564 ปรากฏว่า บริษัทมีรายได้รวม 1,148.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 1,072.65 ล้านบาท โดยรายได้หลักๆ ที่เพิ่มขึ้นมาจาก รายได้จากการให้บริการโครงข่ายเพิ่มขึ้น 39.3% จาก 333.67 ล้านบาท เป็น 464.65 ล้านบาท และ รายได้จากการขายสินค้าเพิ่มขึ้น 52% จาก 63.19 ล้านบาท เป็น 96.08 ล้านบาท
“หากพิจารณารายกลุ่มธุรกิจ ปี 2565 มีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มธุรกิจ ทั้งกลุ่มขายสินค้า บริการติดตั้งวางระบบ และบริการโครงข่าย มีกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 34.4% , 104.7%และ 545.6% ตามลำดับ” นายสมบุญ กล่าว
อย่างไรก็ตามบริษัทมีค่าใช้จ่ายอื่น 97.61 ล้านบาท เป็นรายจ่ายจากการตั้งสำรองด้อยค่าของสินทรัพย์โครงข่าย Wi-Fi Network เนื่องจากลูกค้าที่ใช้บริการได้ระงับการต่ออายุสัญญาบริการ ด้วยเหตุที่อยู่ในกระบวนการควบรวมกิจการ อย่างไรก็ตามรายจ่ายจำนวนนี้ จะถูกกลับรายการทันทีตามสัดส่วนรายได้ที่บริษัทสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้ในอนาคต
นายสมบุญกล่าวว่า การตั้งสำรองด้อยค่าดังกล่าว ส่งผลให้ผลการดำเนินงานของบริษัทมีขาดทุนสุทธิ 107.88 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากผลขาดทุนในปี 2564 ที่ 133.29 ล้านบาท ทั้งนี้หากไม่นับรวมขาดทุนจากการตั้งสำรองด้อยค่าสินทรัพย์ บริษัทจะมีขาดทุนสุทธิจำนวน 10.27 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทมีงานในมือ (Backlog) จำนวน 3,560 ล้านบาท
โดยผลการดำเนินงานตามแผนกลยุทธ์ปี 2565 ในส่วนธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม (Network Infrastructure) โครงข่ายไฟเบอร์ใยแก้วนำแสง บริษัทได้วางโครงข่ายหลัก (Backbone Network) ลงทุนครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ รวมถึงมีการสร้างสถานีฐานเพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายของผู้ประกอบการประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย ลงทุนผ่านกิจการร่วมค้า คือ บริษัท สมาร์ท อินฟราเนท จำกัด (SIC) และ บริษัท อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด (IH) เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าภายในประเทศ และลงทุนผ่านบริษัทย่อย คือ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เกทเวย์ จำกัด (IGC) เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศ รวมถึง ลงทุนผ่าน บริษัทร่วมคือ เมียนมาร์ อินฟอร์เมชั่น จำกัด (MIH) ที่เป็นกิจการในเมียนมาร์ให้บริการอินเตอร์เน็ตแก่ลูกค้าในเมืองย่างกุ้ง
ทั้งนี้โครงการเคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศ (CLS) ที่ IGC ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการให้บริการ สถานีชายฝั่งเพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายภาคพื้นน้ำ (CLS) เป็นโครงการร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมและ OTT มีความยาวกว่า 8,000 กิโลเมตร มีจุดการเชื่อมต่อโดยเริ่มต้นจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เมียนมาร์ และไปสิ้นสุดที่อินเดีย ระบบเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง มีจำนวนคู่ใยแก้วนำแสงตามแนวเส้นทางหลักทั้งสิ้น 12 คู่ใยแก้วนำแสง (fiber pairs) โดยระบบรองรับความจุในการสื่อสารข้อมูลได้มากกว่า 200 เทราบิทต่อวินาที (Tbps) สำหรับงานให้บริการสถานีชายฝั่งเพื่อเชื่อมต่อเคเบิ้ลภาคพื้นน้ำที่จังหวัดสตูล IGC ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบให้กับลูกค้าในแล้วในไตรมาส 3/2565
“ในปี 2565 บริษัทได้เข้าทำสัญญาระยะยาว 5-20 ปี กับลูกค้าต่างประเทศที่เป็นผู้ให้บริการด้านข้อมูลรายใหญ่ของโลก เพื่อให้บริการโครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสงเพื่อเชื่อมต่อระหว่างศูนย์ข้อมูล (Data Centers) หลายแห่งของลูกค้า มูลค่าสัญญามากกว่า 1,000 ล้านบาท ระยะทางรวมกว่า 3,000 กิโลเมตร โดยสัญญามีเงื่อนไขกำหนดให้ลูกค้าชำระค่าบริการโครงข่ายตลอดอายุสัญญาเป็นการล่วงหน้า” นายสมบุญกล่าว
นอกจากนี้ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เกทเวย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ยังได้ลงทุนก่อสร้างวางระบบโครงข่ายสื่อสารใยแก้วนำแสง เพื่อรองรับการเชื่อมต่อโครงข่ายสื่อสารภาคพื้นน้ำระหว่างชายฝั่งทะเลตะวันตกถึงชายฝั่งทะเลตะวันออก เส้นทางกรุงเทพ-สตูล-สงขลา-มาเลเซีย ระยะทางรวมประมาณ 2,200 กิโลเมตร โดยลงทุนผ่าน บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เกทเวย์ จำกัด ด้วยงบประมาณ 595 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับบริษัทปีละ 50-80 ล้านบาท
ส่วนธุรกิจพลังงาน บริษัทได้ ดำเนินงานลงทุนและติดตั้งระบบและอุปกรณ์ Solar Rooftop ให้กับภาครัฐและภาคเอกชน เช่น ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจโรงงานและอุตสาหกรรมขนาดกลาง ในรูปแบบ Private PPA โครงการดังกล่าวนอกเหนือจากช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับลูกค้าแล้ว ยังมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ช่วยกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการใช้พลังงานทดแทน ปัจจุบันได้เข้าทำสัญญากับลูกค้าแล้วทั้งสิ้น 31 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 15.2 Mwh