L&E ส่งซิกปี 66 สดใส ธุรกิจในประเทศฟื้นตัว กอดแบ็กล็อคแน่น 1,300 ลบ. ประกาศงบปี 65 บุ๊ครายได้ 3,220 ลบ.โต 20% กำไร 31.4 ลบ. ชงจ่ายปันผลหุ้นละ 0.0610 บาท
L&E ส่งซิกแนวโน้มปี 66 สดใส ธุรกิจในประเทศฟื้นตัว งานภาคเอกชนและรัฐกลับมาดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างอีกครั้งหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) แข็งแกร่งอยู่ในระดับสูงที่ 1,300 ลบ. ชูจุดแข็ง “Total Lighting Solution Provider” การทำธุรกิจแสงสว่างแบบครบวงจร บวก Innovation สร้างความมั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับบริการที่ดีที่สุดและสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้เป็นอย่างดี ตอบรับเทรนด์ธุรกิจสินค้าที่เชื่อมต่อถึงกันได้หรือ IoT ในยุคเทคโนโลยี 5G ล่าสุดประกาศผลงานปี 65 มีรายได้จากการขายและให้บริการ 3,220 ลบ. โต 20% กำไรสุทธิอยู่ที่ 31.4 ลบ. ลดลงจากปีก่อน ผลจากการตั้งสำรองหนี้สูญลูกค้างานโครงการแห่งหนึ่ง ด้านบอร์ดชงจ่ายปันผล 0.0610 บาทต่อหุ้น คิดเป็นสัดส่วนเงินปันผลต่อกำไรของงบรวมอยู่ที่ 95.53%
นายอนันต์ กิตติวิทยากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ L&E ผู้นำธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายโคมไฟฟ้า รวมทั้งอุปกรณ์แสงสว่างรายใหญ่ของประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2566 เชื่อว่ามีแนวโน้มเติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ซึ่งปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีปริมาณงานจากภาครัฐและภาคเอกชน ทยอยเข้ามาให้ประมูลเป็นจำนวนมาก และจะมีงานขนาดใหญ่ อาทิ โครงการ Mixed-use งานสนามบิน งานโรงพยาบาล และงานโรงงาน เป็นต้น โดยบริษัทฯ ยังคงโมเดลธุรกิจ “Total Lighting Solution Provider” การทำธุรกิจแสงสว่างแบบครบวงจร ควบคู่ innovation สร้างความมั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับบริการที่ดีที่สุดและสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้เป็นอย่างดี เพื่อตอบรับเทรนด์ธุรกิจสินค้าที่เชื่อมต่อถึงกันได้หรือ IoT ในยุคเทคโนโลยี 5G โดยตั้งเป้าหมายรายได้รวมในปี 2566 คาดการณ์เติบโตตัวเลขหลักเดียวเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ปริมาณงานในมือ (backlog) อยู่ในระดับสูงถึง 1,300 ล้านบาท
ส่วนงานต่างประเทศ ปัจจุบันยังทรงตัวเนื่องจากที่ผ่านมา ด้วยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นลูกค้าหลัก ส่อแววมีความเสี่ยง จากการได้รับผลกระทบทางลบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน และภาวะเงินเฟ้อในประเทศที่สูงขึ้น อาจจะตามมาด้วยภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด
“ในปี 2566 คาดการณ์รายได้โดยรวมจะเพิ่มเพียงเป็นเปอร์เซ็นต์เลขหลักเดียวจากปีที่แล้ว แต่คาดการณ์กำไรสุทธิน่าจะปรับตัวดีขึ้น เพราะต้นทุนสินค้า วัตถุดิบ ค่าขนส่งกลับสู่ภาวะปรกติ และการปรับปรุงประสิทธิภาพในสายการผลิตทำให้ต้นทุนสินค้าโดยรวมลดต่ำลงได้ ราคาขายโครงการใหม่ๆ มีการปรับราคาขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กอปรกับมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเป็น one time expense ในปีที่ผ่านมาหมดแล้ว ทำให้ในปีนี้บริษัทไม่มีภาระการตั้งสำรองหนี้อีกแล้ว” นายอนันต์ กล่าว
มองว่าปี 2566 ความต้องการสินค้า IoT SMART POLES , Horticulture Lighting และ L&E virtual studio ที่ตอบโจทย์ยุค metaverse คาดการณ์จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ ปัจจุบันได้ขยายการเติบโตธุรกิจ โดยช่วงที่ผ่านมาได้เปิดตัวธุรกิจใหม่ภายใต้ชื่อ L&E Beyond เพื่อดำเนินธุรกิจจำหน่ายและให้บริการงานโปรดักชั่น (Production Solution Provider) แบบครบวงจร ให้บริการทั้งระบบแสง เสียง ภาพ และเทคโนโลยีล้ำสมัยกลุ่ม Entertainment Tech แก่ธุรกิจด้านบันเทิง อาทิ งานละคร งานถ่ายรายการโทรทัศน์ งานถ่ายทำ Music Video งานคอนเสิร์ต งานนิทรรศการแบบครบวงจร เสริมภาพลักษณ์ให้ L&E เป็นมากกว่าผู้นำธุรกิจ Lighting Solution
โดย L&E จะเดินหน้าบุกตลาดทั้งงานโปรดักชั่นบันเทิงและอีเวนต์ทั้งแบบ On-Ground และแบบ Online อาทิ Music Video, คอนเสิร์ต รายการ งานประกาศรางวัล ภาพยนตร์ ซีรีส์ งานเปิดตัวสินค้า ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกกลุ่มและทุกสถานการณ์
นอกจากนี้ สินค้า IoT SMART POLES, Horticulture Lighting และ L&E Virtual Studio ที่ตอบโจทย์ยุค Metaverse คาดการณ์จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทได้รับงานโครงการ One Bangkok ซึ่งคาดว่าจะเป็นโอกาสในการยกมาตรฐานของบริษัทให้เติบโตมากขึ้น
สำหรับผลประกอบการในปี 2565 บริษัทมีรายได้จากการขายและให้บริการ 3,220 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 542 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 20% เป็นผลจากรายได้จากงานขายโครงการเพิ่มขึ้น 22% รายได้จากงานขายส่ง/ขายปลีกเพิ่มขึ้น 18% ส่วนงานขายต่างประเทศเพิ่มขึ้น 18% รายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ลดความรุนแรงลง รวมทั้งบริษัทห้างร้านต่างๆสามารถปรับตัวให้สามารถดำเนินธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์ที่ยังมีการแพร่ระบาดของโรคได้ ส่งผลให้มีการขยายหรือปรับปรุงกิจการเพิ่มมากขึ้น และในปีนี้บริษัทได้ขายสินค้าให้กับงานโครงการขนาดใหญ่หลายแห่ง เช่นงานศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และงานพาร์ค สีลมเป็นต้น ส่วนการเพิ่มขึ้นของงานขายต่างประเทศ เป็นผลจากการขายสินค้าไปในตลาดอเมริกายังสามารถปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในปีนี้
บริษัทมีผลกำไรสำหรับงวด 31.4 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้า 12.4 ล้านบาท หรือลดลง 28% เป็นผลจากปัจจัยต่อไปนี้ กำไรขั้นต้นจากการขายรวมรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 105.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14% เป็นผลจากรายได้จากการขายและให้บริการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 20% แต่อัตรากำไรขั้นต้นได้ปรับตัวลดลงจาก 27.0% ในปี 2564 เป็น 25.6% ในปี 2565 สาเหตุใหญ่มาจากปีนี้บริษัทได้ขายสินค้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่าในสัดส่วนที่ลดลง รวมทั้งในปีนี้บริษัทได้รับผลกระทบจากการติดตั้งงานโครงการแห่งหนึ่งที่ส่งผลให้มีต้นทุนของโครงการเพิ่มสูงขึ้น
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารรวมดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้น 121.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17% เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามผลการดำเนินงาน และการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการนำเอาระบบ ERP ของ SAP มาใช้ รวมถึงค่าขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากยอดขายที่สูงขึ้นและค่าน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น และในปีนี้บริษัทมีการตั้งสำรองหนี้สูญจำนวน 16.0 ล้านบาทสำหรับลูกค้างานโครงการแห่งหนึ่งด้วย นอกจากนี้ยังมีดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะยอดขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลง 3.4 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อสะท้อนความเชื่อมั่น และตอบแทนผู้ถือหุ้นที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินปันผล สำหรับผลการดำเนินงานงวดปี 2565 ให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในอัตราหุ้นละ 0.0610 บาท กำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับปันผล (Record Date) วันที่ 3 พฤษภาคม 2566 และจ่ายเงินปันผลวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 โดยบริษัทฯ จะจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น วันที่ 19 เมษายน 2566 เพื่อพิจารณามติดังกล่าว