บล.บัวหลวง:
Charoen Pokphand Foods (CPF TB/CPF.BK)
CPF – กำไรต่ำกว่าที่เราคาด; แนวโน้มราคาหมูไทยและไก่ไทยที่อ่อนตัวลงในไตรมาส 1/66
กําไรต่ำกว่าคาด
CPF รายงานกําไรสุทธิไตรมาส 4/65 ที่ 1.81 พันล้านบาท ลดลง 73% YoY และ 65% QoQ หากไม่รวมรายการพิเศษในไตรมาส 4/65 ได้แก่ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 52 ล้านบาท กำไรจากสินทรัพย์ชีวภาพ 749 ล้านบาท กําไรหลังหักภาษีจากการเทรดดิ้งหุ้น CPALL 199 ล้านบาท กําไรจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของอสังหาฯ เพื่อการลงทุนจํานวน 336 ล้านบาท และขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์ 482 ล้านบาท กำไรหลักในไตรมาสนี้อยู่ที่ 1.06 พันล้านบาท เทียบกับขาดทุนหลัก 4.63 พันล้านบาทในไตรมาส 4/64 แต่ลดลง 81% QoQ กำไรสุทธิและกำไรหลักต่ำกว่าที่เราคาดคิดเป็น 18% และ 57% ตามลำดับ โดยหลักๆ มาจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ต่ำกว่าคาด ยอดขายสูงกว่าที่เราคาด 3% ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นที่ 11% ถือว่าต่ำกว่าที่เราคาดก่อนหน้าอย่างมีนัยสําคัญที่ 14% (เทียบกับ 7.1% ในไตรมาส 4/64 และ 15% ในไตรมาส 3/65) ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมสูงกว่าที่เราคาดคิดเป็น 91% โดยหลักมาจากส่วนแบ่งกำไรของ CTI ที่สูงกว่าคาด
ประเด็นสําคัญจากผลประกอบการ
ผลประกอบการหลักที่พลิกกลับไปเป็นกำไรหลัก YoY เนื่องมาจาก 1) ราคาหมูที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย (เพิ่มขึ้น 32% YoY) จีน (เพิ่มขึ้น 43% YoY ผ่านการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก CTI) เวียดนาม (เพิ่มขึ้น 27% YoY) ลาว (เพิ่มขึ้น 84% YoY) และมาเลเซีย (เพิ่มขึ้น 85% YoY) และราคาไก่ที่เพิ่มขึ้นในประเทศ ไทย (เพิ่มขึ้น 35% YoY) เวียดนาม (เพิ่มขึ้น 18% YoY) ลาว (เพิ่มขึ้น 53% YoY) และอินเดีย (เพิ่มขึ้น 11% YoY) 2) ส่วนแบ่งกำไรจาก CTI (จากฐานที่ต่ำมากเพียง 170 ล้านบาท ในไตรมาส 4/64 ไปเป็น 2.6 พันล้านบาทในไตรมาส 4/65 โดยมีปัจจัยหนุนมาจากราคาหมูจีนที่เพิ่มขึ้น) และ 3) การพลิกกลับไปเป็นกําไรของ CPP ซึ่งมีปัจจัยหนุนมาจากราคาหมูและไก่ในประเทศเวียดนามที่เพิ่มขึ้น กลบผลกระทบจากภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และผลขาดทุนที่เพิ่มขึ้นของ HyLife กำไรหลักที่ลดลง QoQ เป็นผลมาจากปัจจัยด้านฤดูกาล ราคาหมูไทยที่ปรับลดลงเล็กน้อย (ลดลง 1% QoQ) ราคาไก่ไทยที่ปรับลดลง (ลดลง 4% QoQ) ราคาหมูเวียดนามที่ปรับลดลง (ลดลง 16% QoQ) และราคาหมูกัมพูชาที่ปรับลดลง (ลดลง 27% QoQ)
แนวโน้ม
ราคาหมูมีชีวิตในกทม. ปรับตัวลดลง 13% ภายในระยะเวลา 1 เดือน (จาก 96 บาท/กก. เหลือ 84 บาท/กก. ในช่วงปลายเดือนก.พ.) ในขณะที่ราคาไก่มีชีวิต ในกทม. ปรับตัวลดลง 4% ในเดือนก.พ. (จาก 41 บาท/กก. เหลือ 39.5 บาท/ กก.) นอกจากนี้ราคาลูกหมูไทยปรับตัวลงแรงถึง 25% ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน (จาก 3,200 บาท/ตัวเหลือ 2,400 บาท/ตัว) และราคาลูกเจี๊ยบไทยก็ปรับตัวลดลงมากถึง 27% ในเดือนก.พ. (จาก 18.50 บาท/ตัวเหลือ 13.50 บาท/ตัว) เราเชื่อว่าราคาที่ปรับตัวลดลงถือว่าเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงอุปทานที่เพิ่มสูงขึ้นของจำนวนหมูและไก่ที่เตรียมเข้าโรงเชือด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของไตรมาส 1/66 ถ้าอิงจากราคาเฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เราคาดในไตรมาส 1/66 ราคาไก่ไทยที่ 40 บาท/กก. ทรงตัว YoY หมูไทย ราคาหมูไทยที่ 85 บาท/กก. ลดลง 10% YoY ราคาหมูจีนที่ 15 หยวน/กก. เพิ่มขึ้น 15% YoY และราคาหมูเวียดนามที่ 51,000 ดอง/กก. ลดลง 3% YoY เราคาดกาไรหลักที่ 600 ล้านบาทในไตรมาส 1/66 ลดลง 20% YoY และ 43% QoQ โดยจะมีปัจจัยกดดันจากค่าใช้จ่ายภาระดอกเบี้ยจ่ายท่ีเพิ่มสูงข้ึน ราคาหมูไทยที่ปรับตัวลดลง และต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น เราคาดว่าบริษัทจะรับรู้ขาดทุนจากสินทรัพย์ชีวภาพภายในไตรมาส 1/66 ถ้าอิงจากราคาหมูจีน และราคาหมูไทยที่ปรับตัวลดลง QoQ
สิ่งที่เปลี่ยนแปลง
เนื่องจากความคาดหวังต่อกำไรไตรมาส 1/66 ที่ลดลงจากเดิม เนื่องจากราคาหมูไทยที่ปรับตัวลดลง เราจึงทำการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ลงอีก 10% (เหลือ 1.44 หมื่นล้านบาท) เพื่อสะท้อนราคาไก่ไทยเฉลี่ยที่ปรับลดลง (ปรับลดลงอีก 2% เหลือ 40 บาท/กก.) และราคาหมูไทยเฉลี่ย (ปรับลดลงอีก 8% เหลือ 86 บาท/กก.) และอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับลดลง (จาก 13.8% เหลือ 13.5%) สำหรับในปี 2566 ราคาเป้าหมายของเราปรับลดลงอีก 9% (เหลือ 30.5 บาท)
คำแนะนำ
เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” เนื่องจากความคาดหวังของราคาหมูจีนและราคาหมูเวียดนามที่จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2/66 เป็นต้นไป จนถึงตลอดในช่วงครึ่งหลังของปี 2566
CPF – ประเด็นสำคัญจากการประชุมนักวิเคราะห์
What’s new?
เราเข้าร่วมประชุมนักวิเคราะห์ช่วงเช้าที่ผ่านมา และมองว่าผลประกอบการหลัก 1Q23 เป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ และคาดว่าจะทยอยปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ 2Q23 โดยผลประกอบการในช่วง 2H23 มีแนวโน้มสูงกว่า 1H23 ปัจจัยผลักดันได้แก่ ธุรกิจหมูจีนและเวียดนามที่ดีขึ้น ขาดทุนของ HyLife และ Bellisio รวมถึงอินเดียที่ลดลง
Highlights:
- สำหรับในปี 2023 ผู้บริหารตั้งเป้ายอดขายเติบโต 10-15% (เทียบกับ 20% ใน ปี 2022) หลักๆ จากวอลุ่มขายที่เติบโต อัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่า 13.3% (เทียบกับเฉลี่ยที่ 13.3% ในปี 2022) และงบลงทุนที่ 2.5 หมื่นล้านบาท
- ผู้บริหารคาดราคาหมูจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้จากดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ โดยราคาหมูจีนในตลาดซื้อขายล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 15.9 หยวน/กก. ณ ปัจจุบันไปอยู่ที่ 19 หยวน/กก. ณ สิ้นปี 2023
- ผู้บริหารคาดราคาหมูไทยมีแนวโน้มแตะระดับต่ำสุดในเดือนมี.ค. ก่อนที่จะฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือนเม.ย. เป็นต้นไปจากช่วงเทศกาลสงกรานต์และการเลือกตั้งซึ่งจะกระตุ้นให้การบริโภคเพิ่มขึ้น และราคาหมูขยับเพิ่มขึ้น คาดอุปทานหมูไทยกลับไปสู่ระดับปกติใน ปี 2024
- ผู้บริหารคาดราคาหมูเวียดนามมีแนวโน้มขยับสูงขึ้นตั้งแต่ 2Q23 ถึงปลายปี 2023 เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น (เทียบกับเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัวและกำลังซื้อที่ลดลงใน 1Q23)
- แม้ว่าจะยังมีความท้าทายสำหรับธุรกิจ HyLife ในปี 2023 ผู้บริหารมองว่าในส่วนของประเทศแคนาดาคาดว่าจะสามารถพลิกมามีกำไรในปี 2023 (จากขาดทุนในปี 2022 จากโรคระบาดและต้นทุนวัตถุดิบ) ในขณะที่ในส่วนของประเทศสหรัฐฯ จะทบทวนเรื่องการลงทุนใหม่และคาดว่าจะรู้ผลใน 2Q23
- ในส่วนของ Bellisio การปรับโครงสร้างการบริหารงานภายใน การลดจำนวนคน การปรับขึ้นราคาขายสินค้าอีก 60% (ซึ่งส่งผลให้วอลุ่มขายลดลงไม่มากนัก) การรุกตลาดใหม่ และการปรับโครงสร้างด้านการผลิตคาดว่าจะส่งผลให้ Bellisio พลิกกลับมาขาดทุนลดลงในปี 2023
- ผู้บริหารมอง GM ที่จะมากกว่า 13.3% ในปี 2023 จะมาจาก Bellisio และอินเดียที่จะดีขึ้น บวกกับราคาเนื้อสัตว์ไทยที่จะเริ่มดีขึ้นตั้งแต่มี.ค.-เม.ย.ปีนี้
View From Fundamental:
เรามองว่ากำไรหลัก 1Q23 ยังคงอ่อนแอเนื่องจากตัวแปรหลักทั้งราคาหมูจีน หมูไทย หมูเวียดนามและไก่ไทยยังคงอยู่ในระดับต่ำ และต้นทุนวัตถุดิบที่ยังคงอยู่ในทิศทางขาขึ้น แต่คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” หุ้น CPF จากกำไรที่จะกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่ 2Q23 และต่อเนื่องไปยัง 2H23 ที่ราคาเป้าหมาย 30.50 บาท