บล.บัวหลวง:

Betagro (BTG TB/BTG.BK)

BTG – สูงกว่าคาด; คาดกำไรไตรมาส 1/66 ทรงตัว YoY

สูงกว่าที่เราคาด

BTG รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4/65 ที่ 1.79 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 99% YoY แต่ลดลง 22% QoQ หากไม่รวมรายการพิเศษในไตรมาส 4/65 ได้แก่ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจํานวน 106 ล้านบาท กำไรจากการป้องกันความเสี่ยง ตราสารอนุพันธ์จํานวน 64 ล้านบาท ขาดทุนจากสินทรัพย์ชีวภาพจํานวน 5 ล้านบาท และกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนและขายที่ดิน อาคารและอุปกรณ์จํานวน 9 ล้านบาท กำไรหลักในไตรมาสนี้อยู่ที่ 1.83 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 684% YoY แต่ลดลง 21% QoQ ทั้งกำไรสุทธิและกําไรหลักสูงกว่าที่เราคาด 5% และ 10% ตามลำดับ หนุนโดยยอดขายที่มากกว่าคาด ยอดขายมากกว่าที่เราคาด 25% ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 18.3% ต่ำกว่าที่เราคาด ก่อนหน้าเล็กน้อยที่ 18.6% (และเทียบกับ 11.2% ในไตรมาส 4/64 และ 21.1% ในไตรมาส 3/65) กำไรหลังหักภาษีสูงกว่าที่เราคาด 23%

ประเด็นสําคัญจากผลประกอบการ

กําไรหลักที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด YoY เนื่องจากราคาขายผลิตภัณฑ์เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ เนื้อสัตว์และอาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ (ในลาวและกัมพูชา) ที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง อัตราการเติบโตมาจากทั้งวอลุ่มขายและราคาขายที่ปรับตัวสูงขึ้น หากอิงจากยอดขายรวมในไตรมาส 4/65 ยอดขายจากธุรกิจการเกษตร (หลักๆ คืออาหารสัตว์) เพิ่มขึ้น 28% YoY ขณะที่ยอดขายจากธุรกิจอาหารและโปรตีนเติบโต 30% YoY หนุนโดยธุรกิจส่งออก (เพิ่มขึ้น 68% YoY) ธุรกิจผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนในประเทศและผลพลอยได้ (เพิ่มขึ้น 32%) ธุรกิจผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ที่ไม่ได้บรรจุหีบห่อ (เพิ่มขึ้น 27%) ธุรกิจอาหารเพื่อการบริโภค (เพิ่มขึ้น 22%) และธุรกิจ ขายสัตว์มีชีวิต (เพิ่มขึ้น 11%)

ในแง่ของกําไรจากการดำเนินงาน ทุกธุรกิจปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นธุรกิจเกษตร (หลักๆ คือ ธุรกิจอาหารสัตว์) และธุรกิจในต่างประเทศ กำไรจากการดำเนินงานธุรกิจอาหารสัตว์ลดลง 64% YoY (เนื่องจากไม่สามารถผลักต้นทุนวัตถุดิบที่ เพิ่มสูงขึ้นไปยังราคาขายอาหารสัตว์ได้ทั้งหมด) ในขณะที่ขาดทุนจากการดำเนินงานในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 128% YoY (ราคาหมูในกัมพูชาที่ปรับลดลงแรง เนื่องจากอุปทานเนื้อหมูนำเข้าที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น) สำหรับในไตรมาส 4/65 ราคาตลาดสําหรับหมูมีชีวิตไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 101.7 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 32% YoY แต่ลดลง 1% QoQ และราราตลาดสำหรับไก่มรชีวิตไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 44.7 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 35% YoY แต่ลดลง 4% QoQ ในขณะที่ราคาหมูมีชีวิตในกัมพูชาลดลงแรง 16% YoY และ 27% QoQ และราคาไก่มีชีวิตในกัมพูชาลดลง 4% YoY ราคาเนื้อสัตว์บกในประเทศลาวยังคงยืนในระดับที่แข็งแกร่งในไตรมาส 4/65 ทั้งราคาไก่มีชีวิต (เพิ่มขึ้น 53% YoY) และราคาหมูมีชีวิต (เพิ่มขึ้น 84% YoY)

แนวโน้ม

เนื่องจากราคาหมูไทยที่ปรับตัวลดลงและราคาไก่ไทยที่อ่อนตัวลงตั้งแต่เดือน ก.พ. 2566 (หลังเทศกาลตรุษจีน) ซึ่งเป็นผลมาจากอุปทานหมูและไก่ที่เพิ่มขึ้น และการลักลอบนําเข้าหมูจากประเทศเพื่อนบ้าน เราจึงใช้สมมติฐานใหม่สำหรับประมาณการทั้งราคาหมูไทยและราคาไก่ไทยเฉลี่ยสำหรับในปี 2566 เราคาดการณ์ใหม่ว่าราคาหมูไทยเฉลี่ยในปี 2566 ที่ 86.2 บาท/กก. ลดลง 13% YoY และราคาไก่ไทยเฉลี่ยในปี 2566 ที่ 39.8 บาท/กก. ลดลง 7% YoY เราคาดกำไรหลักไตรมาส 1/66 ที่ 1.3 พันล้านบาท ทรงตัว YoY แต่ลดลง 29% QoQ ถ้าหากอิงจากราคาเฉลี่ย นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เราคาดราคาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ในไตรมาส 1/66 ดังนี้ ราคาไก่ไทย (40 บาท/กก. ทรงตัว YoY แต่ลดลง 10% QoQ) และราคาหมูไทย (85 บาท/กก. ลดลง 10% YoY และ 16% QoQ)

สิ่งที่เปลี่ยนแปลง

เราทำการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2566 ลงอีก 12% (เหลือ 7.4 พันล้านบาท) เพื่อสะท้อนราคาหมูไทยที่ ปรับลดลง (ปรับลดลงอีก 8% จากประมาณการก่อนหน้า) และราคาไก่ไทยที่ปรับลดลง (ปรับลดลงอีก 2%) และ อัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับลดลง (จาก 19.1% เหลือ 18.2%) และเราปรับลดราคาเป้าหมายลงอีก 12% (เหลือ 46 บาท)

คําแนะนํา

เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” หุ้น BTG เนื่องจากมูลค่าหุ้นที่ถูก ณ ปัจจุบัน โดยซื้อขายที่ PER ปี 2556 ที่ 8.8 เท่าเทียบกับค่าเฉลี่ย PER กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจสัตว์บกที่ 11.2 เท่า

BTG – ประเด็นสำคัญจากการประชุมนักวิเคราะห์

What’s new?

เราเข้าร่วมประชุมนักวิเคราะห์ของ BTG ช่วงเช้าที่ผ่านมา และมองว่าจากเป้าของผู้บริหารที่มองอัตรากำไรขั้นต้น (GM) ลดลงไปอยู่ในช่วง 15-17% ในปี 2023 (จาก 19.3% ในปี 2022) ถือว่ามี downside risk ต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2023 ของเราซึ่ง GM ของเราอยู่ที่ 18.2% โดยภาพรวม สารสำคัญจากการประชุมในครั้งนี้เป็นไปในเชิงลบ

Highlights:

  • ผู้บริหารกล่าวว่าราคาหมูไทยที่ลงแรงในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาเกิดจาก 3 เหตุผลได้แก่ การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนมีชีวิตจากกัมพูชาเข้ามาในไทย การระบายชิ้นส่วนหมูของห้องเย็นที่ลักลอบนำเข้าก่อนหน้า และการดัมพ์หมูที่เลี้ยงให้มีน้ำหนักตัวเกินเข้ามาในตลาด
  • ผู้บริหารกล่าวว่าในส่วนของหมูที่ลักลอบนำเข้าและหมูที่น้ำหนักเกินและดัมพ์เข้ามาในตลาดคิดเป็นกระทบ 20% ของอุปทานหมูขุนรวมของทั้งระบบซึ่ง ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 16-17 ล้านตัว ในส่วนชิ้นส่วนหมูที่ลักลอบนำเข้าคิดเป็นกระทบแค่ 2-3% ของอุปทานหมูของทั้งระบบ
  • ผู้บริหารยังมั่นใจถึงวอลุ่มไก่ส่งออกจากทั้งญี่ปุ่น ยุโรปและจีนว่าจะกลับมาเพิ่มขึ้นแรงตั้งแต่ 2Q-3Q23 ในขณะที่ราคาไก่ส่งออกเฉลี่ยคาดว่าจะลดลง ไม่มากนัก YoY
  • สำหรับในปี 2023 ผู้บริหารตั้งเป้ายอดขายเติบโต 5-10% (เทียบกับ 32% ในปี 2022) GM ที่ 15-17% (เทียบกับเฉลี่ย 19.3% ในปี 2022) อัตราส่วน SG&A/sales ที่ 11-12% (เทียบกับ 11.2% ในปี 2022) และคาดกำไรสุทธิปี 2023 มีแนวโน้มลดลง YoY
  • ผู้บริหารมองราคาหมูไทยมีแนวโน้มกลับไปที่ 90 บาท/กก. อีกครั้ง ถ้ารัฐบาลสามารถจัดการปัญหาหมูเถื่อนได้สำเร็จใน 2Q23 และมองวอลุ่มไก่ไทยยังเติบโตได้ 5% ในขณะที่คาดราคาไก่ไทยลดลงเล็กน้อย 2% ในปี 2023

View From Fundamental:

เนื่องจาก GM ที่คาดว่าจะลดลงค่อนข้างมากถึง 230-430 basis points ในปี 2023 เราจึงเชื่อว่าโอกาสที่กำไรหลักปี 2023 จะเติบโต YoY เป็นไปได้ยากมาก เราอยู่ระหว่างปรับลดประมาณการของ GM จากปัจจุบันที่ 18.2% ลงไปอยู่ที่ 17% (อิงตามกรอบบนของเป้า GM ของบริษัท) ซึ่งมีแนวโน้มส่งผลให้กำไรปี 2023 ปรับลดลงไปอีกจากประมาณการปัจจุบัน แต่แม้ว่าแนวโน้มกำไรปี 2023 จะลดลงจากเดิม แต่มูลค่าหุ้น ณ ปัจจุบันถือว่าถูกมาก และเรายังคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” และรอราคาหมูไทยกลับมาฟื้นตัวซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่ 2Q23

- Advertisement -