TEAMG คาดภัยแล้งปี 66 ไม่รุนแรง-อากาศไม่ร้อนจัด-ฝนทิ้งช่วงเหมือนปีก่อน เตือน ระวัง! “พายุฤดูร้อน” ปลายเดือนมีนาคมต่อเนื่องเดือนเมษายน พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดแล้งนี้
นายชวลิต จันทรรัตน์ วิศวกรแหล่งน้ำ และกรรมการ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TEAMG ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำของประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่ได้ประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2566 หลังกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนในปี 2566 อย่างเป็นทางการ เมื่อ 5 มีนาคม และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนพฤษภาคมนี้ แนวโน้มสถานการณ์แล้งปีนี้นับว่าไม่รุนแรงและน่าจะรุนแรงน้อยกว่าปีก่อนๆ เนื่องจากแล้งนี้ยังคงอยู่ในช่วงปรากฏการณ์ “ลานีญา” ส่งผลให้สภาพอากาศไม่ร้อนจัดและฝนมาเร็ว แต่อาจเกิดพายุฤดูร้อนและลูกเห็บตกขึ้นได้ในบางพื้นที่ ช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงต้นเดือนเมษายน
สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อน พบว่า ภาพรวมถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ มีปริมาณน้ำใช้การได้ทั้งในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมกัน 33,700 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 58% ของอ่างเก็บน้ำ เนื่องจากในปี 2565 มีฝนตกชุกและหนาแน่นในช่วงปลายฤดูฝน นับเป็นสถานการณ์น้ำที่อยู่ในเกณฑดี เพียงพอในการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรรวมถึงใช้การอุปโภคและบริโภคไปตลอดฤดูแล้งนี้ โดยภาครัฐได้กำหนดมาตรการและแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2566 ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในฤดูแล้งปีนี้แล้ว
ส่วนเกษตรกรที่ปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งเป็นพืชที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในช่วงฤดูแล้ง จากข้อมูลของกรมชลประทาน จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า มีเกษตรกรทั่วประเทศปลูกข้าวนาปรังแล้วประมาณ 9 ล้าน 3 แสนไร่ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคกลางตั้งแต่ท้ายเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และท้ายเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ลงมา รวมประมาณ 8 ล้าน 6 แสนไร่ ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยขอให้เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ชลประทานใช้น้ำอย่างประหยัด ส่วนเกษตรกรที่อยู่นอกแนวชลประทาน อาจจะประสบกับการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในบางพื้นที่ ขอให้เกษตรกรเตรียมพร้อมในการจัดหาน้ำจากแหล่งน้ำในพื้นที่ใกล้เคียง หรือสูบน้ำจากพื้นที่ต้นน้ำเพื่อนำไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังต้องการน้ำไม่ให้ต้นข้าวยืนต้นตาย
“แม้ปีนี้ ปรากฏการณ์ “ลานีญา” จะทำให้มีความชื้นมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ส่งผลให้สภาพอากาศไม่ร้อนจัดและไม่เผชิญกับภัยแล้งที่ยาวนานเหมือนกับหลายๆ ปีที่ผ่านมาก แต่เพื่อลดการเผชิญความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ อยากจะขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝนนี้” นายชวลิต กล่าว