GUNKUL เปิดกลยุทธ์ขับเคลื่อนพลังงานทดแทน-EPC เต็มสูบ ตั้งเป้าปี 66 กำลังการผลิตแตะ 1 พันเมกะวัตต์รายได้โตไม่ต่ำกว่า 15%

บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ฉายภาพปี 66 ยังเป็นปีที่สดใสของกลุ่มบริษัทฯ จากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน งานรับเหมาก่อสร้างและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) เป็นแรงหนุนสำคัญ พร้อมตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตแตะระดับ 1,000 เมกะวัตต์ภายในปีนี้ ฟากซีอีโอ “สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย” ประกาศ! เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานทดแทน-EPC ไม่ยั้ง วางเป้ารายได้โตปีละไม่ต่ำกว่า 15% 

ดร.สมบูรณ์ เอื้ออัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) (GUNKUL) เปิดเผยถึงภาพรวมธุรกิจปี 2566 เชื่อว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 3,010.52 ล้านบาท ส่วนรายได้รวมเท่ากับ 9,515.10 ล้านบาท เนื่องจากธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน ธุรกิจงานรับเหมาก่อสร้างและวางระบบทางด้านวิศวกรรม (EPC) ยังเป็นตัวขับเคลื่อน และยังคงตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตแตะระดับ 1,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2566 ซึ่งบริษัทฯ มีแผนเข้าร่วมประมูลโครงการพลังงานทดแทน ทั้งโครงการโซลาร์ฟาร์ม และพลังงานลมอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้กลุ่มบริษัทฯ มีความพร้อมทางด้านการเงิน และสัดส่วนหนี้สินต่อทุนที่สามารถรองรับการเติบโตและการลงทุนได้มากกว่า 40,000 ล้านบาทภายใน 3 ปี เพื่อรองรับการเข้าร่วมการยื่นขอเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ขนาด 5 กิกะวัตต์

“กลุ่มบริษัทฯ มีเป้าหมายสร้างการเติบโตของรายได้และกำไรในทุกกลุ่มธุรกิจที่ดำเนินการอยู่ ทั้งธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานและนวัตกรรมพลังงาน ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ธุรกิจด้านการบริการก่อสร้างครบวงจร  เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจพลังงานในอนาคต ทำให้บริษัทฯ มั่นใจว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ จะเติบโตได้ตามแผนที่วางไว้ คือ ไม่ต่ำกว่า 15% ซึ่งเป็นการเติบโตต่อเนื่องกว่า 12 ปีของบริษัทฯ นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ “ดร.สมบูรณ์กล่าวในที่สุด

สำหรับธุรกิจพลังงานบริษัทฯ ได้ร่วมประมูลจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573  ซึ่งได้กำหนดการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3 ประเภท ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System : BESS) โดยบริษัทฯ ผ่านคุณสมบัติและเทคนิคขั้นต่ำของการประมูลรวมกว่า 20 โครงการ ส่งผลให้บริษัทมั่นใจว่าจะมี portfolio เมกะวัตต์รวม เติบโตตามเป้า 1,000 เมกะวัตต์ ที่บริษัทฯ ได้ตั้งไว้ ซึ่งตามระเบียบคาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่ได้รับการคัดเลือกภายในวันที่ 5 เมษายน 2566 โดยบริษัทฯ มีงบลงทุนที่เตรียมไว้กว่า 2.5 หมื่นล้านบาท

 ส่วนความคืบหน้าในการ Spin-Off  บริษัท กันกุล พาวเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (GPD) ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง (EPC) ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คาดว่าจะเข้าจดทะเบียนได้ในช่วงไตรมาส 4/2566  ซึ่งประเมินว่างานรับเหมาก่อสร้างจะมีเพิ่มขึ้นมากในช่วง 5 ปีนี้ เนื่องจากมีแผนจะเข้าไปรับงานภาคเอกชนมากขึ้น จากปัจุบันมีงานในมือที่รอรับรู้รายได้กว่า 5,000 ล้านบาท และคาดว่าปีนี้จะมีการประมูลงานใหม่กว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อมาสนับสนุนงานในมือให้เพิ่มมากขึ้น

- Advertisement -