Our View? “รีบาวด์บ้างเถอะ!”

คาดตลาดวันนี้ “Rebound” มองแนวรับที่บริเวณ 1,520 / 1,510 และแนวต้านที่บริเวณ 1,540 / 1,550 เมื่อคืนนี้ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ก.พ. ออกมาอยู่ที่ระดับ 6.00% YoY และ 0.40% MoM ตามที่ตลาดคาด โดยเป็นการปรับลดลงในเกือบทุกภาคยกเว้นภาคบริการที่ยังคงปรับตัวขึ้นบ้างเล็กน้อย ขณะที่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคไม่รวมอาหารและพลังงาน (Core CPI) ออกมาอยู่ที่ระดับ 5.55% YoY และ 0.40% MoM ยังเป็นภาพที่ชะลอตัวลงแบบค่อยเป็นค่อยไปต่อเนื่อง คาดจะหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เริ่มชะลอการขึ้นดอกเบี้ยลงได้ จากเงินเฟ้อผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และผลของการใช้ยาแรงในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ FED เริ่มส่งผลกระทบเข้าสู่ระบบ ธนาคารของสหรัฐ โดยล่าสุด CME FED Watch Tools บ่งชี้ตลาดคาดการณ์ FED จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเพียง 0.25% ในเดือน มี.ค. สู่ระดับ 4.75-5.00% ที่โอกาส 70-80% จากก่อนหน้าคาดที่ 0.50% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสูงสุดอยู่ที่ระดับเพียง 5.00-5.25% ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. จากก่อนหน้าที่ระดับ 5.50-5.75% และจะเริ่มกดอัตราดอกเบี้ยลง ตั้งแต่ช่วงเดือน มิ.ย. – ก.ค. คาดจะเป็นปัจจัยบวกต่อทิศทางราคาสินทรัพย์เสี่ยงในระยะกลาง

อีกทั้งเราคาดว่าตลาดจะเริ่มคลายความกังวลจากการล้มละลายของ Silicon Valley Bank (SVB) และ Signature Bank ที่คาดจะไม่ลุกลามเป็นวงกว้าง หลังจากที่ FED และกระทรวงการคลังสหรัฐออกมาตรการแก้ไขปัญหาค่อนข้างเร็วและตรงจุด โดยการจัดตั้งโครงการ Bank Term Funding Program เพื่อเปิดทางให้ภาครัฐส่งเงินสนับสนุนด้านการฝากเงินได้มากขึ้น โดยเสนอเงินกู้อายุ 1 ปีให้กับสถาบันทางการเงินประเภทต่างๆ โดยต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน อาทิ พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ หรือตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) รวมทั้งสั่งคุ้มครองเงินฝากทั้งหมดของผู้ฝากเงินใน SVB และ Signature Bank ซึ่งปกติแล้วจะคุ้มครองไม่เกิน 2.5 แสนดอลลาร์/บัญชี โดยเรามองว่า FED และกระทรวงการคลังสหรัฐออกมาตรการได้ค่อนข้างไวมาก ซึ่งเรามองว่าเพียงพอที่จะช่วยไม่ให้ปัญหาดังกล่าวลุกลามไปสู่ทั้งระบบธนาคารของสหรัฐ อีกทั้งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเชิงสภาพคล่องจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ FED ที่เร็วเกินไปส่งผลให้บางธนาคารมีผลขาดทุนจากการขายพันธบัตร จากการที่ราคาพันธบัตรปรับลดลง เพราะดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นเร็วทั้งที่หากปล่อยให้หมดอายุมูลค่าจะกลับมาตามเดิม รวมทั้งการที่หลายๆ ภาคส่วนออกมาแถลงสามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้ คาดจะไม่ลุกลามเป็นวงกว้าง และคาดจะช่วยลดแรง Panic ของตลาดไปได้ โดยล่าสุดดัชนี VIX Index ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดความผันผวนของตลาดเริ่มวกตัวลงแล้วเช้านี้อยู่ที่ระดับ 23.7 +/- จากการขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ก่อนหน้าที่ระดับ 30.81 เมื่อวานนี้ สะท้อนตลาดเริ่มผ่อนคลายลง ขณะที่ดัชนี Fear and Greed Index เริ่มฟื้นตัวขึ้นเช้านี้อยู่ที่ระดับ 26 เข้าสู่ช่วงของระดับ Fear จากเมื่อวานนี้ปรับตัวลงสู่ระดับ 20 ซึ่งหมายความว่าตลาดอยู่ในระดับ Extreme Fear คาดจะหนุนทิศทางราคาสินทรัพย์เสี่ยงรีบาวด์กลับขึ้นได้

สําหรับปัจจัยในประเทศ เรายังคงต้องติดตามแรงขายของนักลงทุนต่างชาติอย่างใกล้ชิด คาดยังส่งผลให้ตลาดได้รับแรงกดดันได้อยู่ในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม เรามองปัญหาดังกล่าวคาดจะไม่ลุกลามมาสู่ระบบธนาคารของไทย จากการชี้แจงของ ธปท. ว่าไทยไม่มีธนาคารที่ทำธุรกรรมโดยตรงกับ SVB และปริมาณธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีธุรกรรมใน Fintech และ Startup ค่อนข้างน้อย ทั้งนี้เรามองว่าโครงสร้างทางการเงินของธนาคารไทยค่อนข้างแตกต่างจาก SVB และ Signature Bank ค่อนข้างมาก มองจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อธนาคารฯ ในประเทศไทย ขณะที่หุ้นในกลุ่มธนาคารฯ (KBANK, SCB, BBL, KTB และ TTB) ที่โดนขายออกมามากในช่วงวันก่อนคาดมาจากแรง Panic ของตลาด มองเป็นโอกาสในการเข้าสะสมเมื่อปรับตัวลงสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ สําหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ แนะนำหลีกเลี่ยงการลงทุนออกไปก่อนหรือสะสมหุ้นในกลุ่ม Defensive อาทิ หุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า (GPSC, BGRIM และ GULF) ขณะที่เรามีมุมมองเชิงบวกต่อการที่เมื่อวานนี้ ตลท. ส่งสัญญาณเตรียมหารือกับสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เตรียมผลักดันกองทุน LTF กลับมาอีกครั้ง แม้เราคาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะแต่มองเป็นจิตวิทยาเชิงบวกต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยได้

ธีมการลงทุน “Selective Play”

หุ้นแนะนำวันนี้ “KBANK”

กลยุทธ์ ซื้อสะสม แนวรับ 126.00 / 125.00 Target 132.00 / 135.00 stop <124.00

- Advertisement -