“PTECH” ปิดดีลเซ็นสัญญางานตรวจสอบระบบถังก๊าซหุงต้ม ปตท. จาก “OR” ลุ้นคว้างาน โปรเจกต์ OR ต่อเนื่อง และ BCP ซ่อมบำรุง – ปูความพร้อมระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
บรรยายภาพ: ดร.ทิวา ศิวะภิญโญยศ (กลางขวา) ประธานกรรมการบริหาร ร่วมด้วย นายเกษม วิริยะสกุลธรณ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท พี เอ อี เทคนิคอล เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (“PTECH”) พร้อมด้วย นายทรงพล เทพนำโสมนัสส์ (กลางซ้าย) รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจเอนเนอร์ยี่โซลูชัน นายณัฐวัฒน์ รัฐวิวรรธน์ ผู้จัดการฝ่ายตลาดก๊าซหุงต้ม และ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)(“OR”) ร่วมลงนามเซ็นสัญญาจ้างเหมาทดสอบและตรวจสอบถังก๊าซหุงต้ม (LPG) โรงซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ โรงซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มภาคใต้ จังหวัดสงขลา มูลค่างานกว่า 20 ล้านบาท และคาดว่าในปีนี้จะได้งานประมูลตรวจสอบถังก๊าซหุงต้ม ปตท. ทั้งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจาก OR เพิ่มเติม ส่งผลให้มูลค่างานในมือ (Backlog) ในปีนี้ลุ้นแตะระดับ 300 ล้านบาท
บมจ.พีเออี เทคนิคอล เซอร์วิส (“PTECH”) ปิดดีลเซ็นสัญญารับงาน “OR” เข้าทดสอบและตรวจสอบถังก๊าซหุงต้ม ปตท. โรงซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโรง ซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มภาคใต้ จังหวัดสงขลา มูลค่างานกว่า 20 ล้านบาท พร้อมส่งซิก ลุ้นคว้างานตรวจสอบถังก๊าซหุงต้ม ปตท. ในภูมิภาคอื่น ๆ จาก OR เพิ่มเติม จ่อกรุยทางรอประมูลงานซ่อมบำรุง ในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลี่ยมอื่นๆ ไตรมาส2/2566 ด้าน “ดร.ทิวา ศิวะภิญโญยศ”บอสใหญ่ “PTECH” ประเมินภาพอุตสาหกรรมด้านงานวิศวกรรมฟื้นตัว สบช่องการขยายงานให้บริการตรวจสอบทางวิศวกรรม ส่อแววพุ่ง มั่นใจปีนี้ Backlog ทะลุ 300 ล้านบาท ขณะที่รายได้โตกว่า 10%พร้อมส่งสัญญาณเตรียมยื่นไฟลิ่ง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯเร็วๆนี้
ดร.ทิวา ศิวะภิญโญยศ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พีเออี เทคนิคอล เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “PTECH” ประกอบธุรกิจประเภทกิจกรรมวิชาชีพวิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ โดยให้บริการด้านกิจกรรมงานวิศวกรรมและการให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้อง หรืองานระบบเอ็กซเรย์ (ตรวจสอบ) โครงสร้าง เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ลงนามเซ็นสัญญาจ้างเหมาทดสอบและตรวจสอบถังก๊าซหุงต้ม ปตท. ณ โรงซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มภาคกลาง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและ โรงซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มภาคใต้ จังหวัดสงขลา กับ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ “OR” คิดเป็นมูลค่างานกว่า 20 ล้านบาท
“ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทาง“OR” ที่ให้ “PTECH” เข้าไปดูแลงานด้านบริการตรวจสอบระบบทางวิศวกรรมในโปรเจ็กต์งานเอ็กซเรย์ถังก๊าซหุงต้ม ปตท. ณ โรงซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มภาคกลาง และ โรงซ่อมบำรุงถังก๊าซหุงต้มภาคใต้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำศักยภาพความเป็นมืออาชีพในการเป็นหนึ่งในผู้นำระดับต้นๆของประเทศทางด้านงานบริการตรวจสอบทางวิศวกรรม”
ระหว่างการรอผลประมูลงานเอ็กซเรย์ถังก๊าซหุงต้ม ปตท. จาก OR ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มเติม โดยมีมูลค่างานรวมกว่า 30 ล้านบาท พร้อมทั้งเตรียมต่อยอดธุรกิจหลักไปสู่งานกลุ่มซ่อมบำรุงในอนาคต โดยล่าสุดบริษัทฯอยู่ระหว่างการเข้าประมูลงานซ่อมบำรุงในกลุ่มบริษัท ปิโตรเลี่ยมอื่น ๆ มูลค่างานปะมาณ 96 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปดีลได้ภายในไตรมาส 2/2566 นี้ รวมถึงงานของภาคเอกชนในโปรเจกต์อื่น ๆ ทั้งนี้หากดีลงานโปรเจกต์ใหม่ๆแล้วเสร็จ จะส่งผลให้ในปีนี้ บริษัทฯจะมี Backlog เพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 300 ล้านบาทอย่างแน่นอน
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมด้านงานวิศวกรรมในปัจจุบัน มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าหลังจากนี้ภาพรวมของอุตสาหกรรมดังกล่าวจะสามารถขยายตัวได้ในระดับที่สูงกกว่า 20% ต่อปี (เทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19) ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมกลับสู่ภาวะปกติ 100% แล้ว โดยจะเห็นได้จากเริ่มมีการทยอยจัดจ้างงานรับเหมาและตรวจสอบระบบต่าง ๆ รวมถึงโครงการบิ๊กโปรเจกต์ของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
ดังนั้น จากปัจจัยในเชิงบวกดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทฯได้รับอานิสงส์จากการกลับมาฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งก็ส่งผลให้บริษัทฯตั้งเป้าอัตราการเติบโตในปี 2566 เพิ่มขึ้นกว่า 10% จากการเข้าประมูลงานใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็จะต่อยอดธุรกิจไปในส่วนที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ
ดร.ทิวา ยังได้กล่าวทิ้งท้ายถึงกรณีการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ขณะนี้บริษัทฯได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติเดินหน้าแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเตรียมความพร้อมด้านการตรวจสอบรายละเอียดทางบัญชี และโครงสร้างธุรกิจของบริษัทฯทั้งหมด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินกรณีการเตรียมเอกสารยื่นแบบคำขอเพื่อเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.)ในขั้นตอนต่อไป
“สำหรับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในอนาคตให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยบริษัทฯจะใช้เป็นเงินทุนในการขยายกิจการ ด้วยการลงทุนในเครื่องจักร อุปกรณ์ ที่ใช้ในงานตรวจสอบด้านวิศวกรรม ซึ่งหากมีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ดี จำนวนมาก และขนาดใหญ่ขึ้น จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเข้ารับงานของบริษัทฯได้ในอนาคต รวมถึงจะเป็นการส่งผลบวก สู่ความน่าเชื่อถือให้กับผู้ว่าจ้าง คู่ค้า และพันธมิตรอื่น ๆ อีกด้วย”