บล.กรุงศรีฯ:

BANKING SECTOR – ฐานะสภาพคล่องและโครงสร้างที่เหนือกว่า (POSITIVE)

เราคงมุมมองว่าปัญหาจาก SVB จะส่งผลกระทบจำกัดต่อระบบธนาคารไทย พิจารณจากขนาดสินทรัพย์ของ SVB ถือว่าเล็กเมื่อเทียบกับทั้งระบบธนาคารและขนาดเศรษฐกิจของสหรัฐ นอกจากนี้ ธนาคารขนาดใหญ่ของไทยยังมี profile สภาพคล่องและโครงสร้างพอร์ตที่เหนือกว่า ซึ่งน่าจะทำให้สามารถรับมือกับความกลัวว่าจะเกิดการแห่ถอนเงินฝากได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าภาวะแห่ถอนเงิน (bank run) ในสหรัฐอาจจะถือเป็น wake-up call ให้กับธนาคารไทยที่จะพิจารณาเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากโดยเฉพาะกับบัญชี CASA ในปีนี้

ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงและจะได้รับผลกระทบทางอ้อมเพียงเล็กน้อย

เรายังคงมองว่าการที่ SVB ล้มน่าจะส่งผลกระทบในวงจำกัดต่อระบบธนาคารไทย เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยชี้แจ้งแล้วว่าไม่มีธนาคารไทยแห่งไหนที่มีการทำธุรกรรมโดยตรงกับ SVB อย่างไรก็ตาม เราอาจจะเห็นผลกระทบทางอ้อมในแง่ของภาวะตลาด แต่ก็น่าจะเป็นผลกระทบไม่รุนแรงเท่ากับปี 2008 หลังการล่มสลายของ Lehman Brothers เพราะ SVB มีขนาดสินทรัพย์เพียง US$2.12 แสนล้าน คิดเป็นเพียง 0.9% ของสินทรัพย์รวมในระบบธนาคารของสหรัฐ และ 0.9% ของ GDP สหรัฐ ในขณะที่สินทรัพย์ของ  Lehman Brothers มีขนาดสูงถึง  US$6.91 แสนล้าน (เมื่อปี 2007 ก่อน GFC) คิดเป็น 6.4% ของสินทรัพย์รวมในระบบธนาคารสหรัฐ และ 4.8% ของ GDP สหรัฐในปี 2007 ทั้งนี้ SVB จัดเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ในปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าเล็กกว่าเมื่อเทียบกับ Lehman Brothers ซึ่งอยู่ใน top 5 ของธนาคารสหรัฐในปี 2007 นอกจากนี้ SVB น่าจะมีส่วนเชื่อมโยงกับธนาคารใหญ่อื่น ๆ ไม่มากนัก เพราะธุรกิจเน้นที่กิจการ startup ในกลุ่มเทคโนโลยี

 

ธนาคารไทยมี profile สภาพคล่อง และโครงสร้างพอร์ตเหนือกว่า

ก่อนที่ SVB จะล้ม ได้มีการรายงานฐานเงินทุนแข็งแกร่งและมีสินทรัพย์สภาพคล่องสูงอยู่ในพอร์ตเป็นจำนวนมาก โดย CAR อยู่ที่ 16.2% และสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสูงต่อเงินฝากอยู่ที่ 23% อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกว่า 70% ของสินทรัพย์สภาพคล่องเป็นการลงทุนใน UST และตราสารหนี้ประเภทอื่น ๆ  ดังนั้น ผลขาดทุนที่ยังไม่รับรู้ของการลงทุนเหล่านี้ซึ่งอยู่ในรายการสินทรัพย์รอการขายที่เกิดขึ้นหลังจากที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายรอบและความไม่สอดคล้องของอายุตราสารหนี้ (maturing mismatch) คือสาเหตุสำคัญเบื้องหลังที่ทำให้ SVB ประสบปัญหา ในขณะเดียวกัน ธนาคารขนาดใหญ่ของไทยมี profile สภาพคล่อง และโครงสร้างพอร์ตที่เหนือกว่า โดยมีสัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องสูงต่อเงินฝากอยู่ที่ 37.4% และเกือบ 60% ของสินทรัพย์สภาพคล่องเป็นเงินสด และการกู้ยืมระยะสั้นระหว่างธนาคารในตลาดเงิน ซึ่งแปลว่าธนาคารไทยมีความยืดหยุ่นมากกว่า และสามารถรับมือกับการไหลออกของเงินฝากได้ดีกว่า

 

ภาวะ Bank run ในสหรัฐอาจจะนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารไทย

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าสภาพคล่องของทุกธนาคารยังไงก็มีไม่พอแน่นอนหากเจอกระแสคนแห่ถอนเงิน ซึ่งจะทำให้ธนาคารล้มได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าจะธนาคารนั้นจะมีรากฐานทางการเงินที่แข็งแกร่งก็ตาม ดังนั้น เราจึงเชื่อว่าภาวะ bank run ที่เกิดขึ้นในสหรัฐจะเป็นเหมือน wake-up call สำหรับธนาคารไทยในการพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก โดยเฉพาะบัญชี CASA ในปีนี้ ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำไมผู้บริหารธนาคารต่าง ๆ มองแนวโน้ม NIM ปี FY23 ค่อนข้างระมัดระวัง และดึงความคาดหวังในเชิงบวกของตลาดต่อ NIM เอาไว้ เรายังคงมองบวกกับกลุ่มธนาคารไทย และคาดว่าราคาหุ้นในกลุ่มน่าจะดีดกลับในระยะสั้นหลังจากที่ผู้ฝากเงินในสหรัฐดูกลับมามีความเชื่อมั่นมากขึ้นหลังได้มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของ Fed แต่เนื่องจากภาวะตลาดยังไม่เอื้ออำนวย และดูยังมีอุปสรรคทางด้านเศรษฐกิจมหภาค เราเชื่อว่ากลุ่มธนาคารจะกลับมาน่าสนใจได้อีกครั้งก็ต่อเมื่อผลประกอบการ 1Q23 แสดงให้เห็นว่าธนาคารสามารถขยายสินเชื่อได้อย่างแข็งแกร่ง และมี NIM ที่เพิ่มขึ้น

- Advertisement -