KS Daily View 30.03.2023 >>> ติดตามตัวเลขส่งออกไทย คาด กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งที่ 2% SET คาดแกว่งในกรอบ 1,596-1,630 หุ้นแนะนำวันนี้ CK

สรุปภาวะตลาดวานนี้

ต่างประเทศ: ดัชนี DJIA +1.00%, S&P 500 +1.42%, NASDAQ +1.79% โดย Sector ที่ outperform ใน S&P 500 ได้แก่ Real Estate (+2.31%), IT (+2.09%), Consumer discretionary (+1.91%) เป็นต้น Sector ที่ underperform ใน S&P 500 ได้แก่ Healthcare (+0.24%), Consumer Staples (+0.54%) เป็นต้น ในประเทศ: SET Index ปรับตัวขึ้น +3.61 จุด หรือ +0.22% ปิดที่ 1,610.52 จุด โดยหุ้นที่ปรับขึ้นแรง ได้แก่ DELTA (+2.86%), SINGER (+2.73%), PTTEP (+2.33%), BH (+1.83%) เป็นต้น ส่วนหุ้นที่ปรับลงแรง ได้แก่ GLOBAL (-2.08%), BLA (-1.72%), ONEE (-1.67%) เป็นต้น

แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ: คาดตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบ 1596-1630 จุด รอประเมินตัวเลข GDP และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนใน 1Q23 รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของเฟดในระยะถัดไป ขณะที่นักลงทุนต่างชาติคาดว่าจะยังชะลอการลงทุนรอดูผลการเลือกตั้งในเดือน พ.ค. ก่อนตัดสินใจ ผลการประชุม กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยยังเติบโตแข็งแกร่งหนุนโดยการบริโภคในประเทศ และการท่องเที่ยว ขณะที่คาดว่าการส่งออกจะฟื้นตัวใน 2H23 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่ต้องติดตามในช่วงที่เหลือสัปดาห์นี้ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือน ก.พ., ตัวเลขเงินเฟ้อของยุโรป, และตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีน เป็นต้น โดยรวมในเชิงกลยุทธ์ยังแนะนำเลือกหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว และราคาหุ้นอยู่ในโซนล่าง

ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:

1.) KBANK คาด กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งไปหยุดที่ 2% วานนี้ที่ประชุมกนง.มีมติเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps เป็น 1.75% เท่ากับที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้า ทำระดับสูงสุดนับตั้งแต่ 4Q18 โดยเศรษฐกิจไทยในประเทศได้รับแรงหนุนโดยตรงจากภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยที่ประชุมกล่าวถึงผลกระทบจากธนาคารในสหรัฐต่อภาคธนาคารประเทศไทยที่จำกัด โดยปัจจุบันธนาคารไทยมีเงินกองทุน (BIS ratio) สูงถึง 19.4% สภาพคล่อง LCR 197% และ เงินสำรองต่อ NPL 172% ซึ่งสามารถวัดผ่านราคาหุ้นกลุ่มธนาคารในบ้านเราที่ Outperformed ธนาคารประเทศอื่นๆ (US-16%, EU-16%, KR-4%, TW-3% vs. Thailand -2%)

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการ โดยธปท.ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อปีนี้ลงเล็กน้อยที่ 2.9% (3.0%) แต่ปรับปีหน้าขึ้นจาก 2.1% เป็น 2.4% ในเชิงเศรษฐกิจกลับสู่ช่วงก่อน COVID-19 เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้าลงเล็กน้อยเท่ากันที่ 0.1% ที่ 3.6% และ 3.8% ตามลำดับ โดยสำหรับเป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ ธปท.ปรับประมาณการการบริโภคภาคเอกชนขึ้นจาก 3.4% เป็น 4.0% ในขณะที่ปรับประมาณการการบริโภคภาครัฐลงจาก -1.4% เป็น -2.2% ปรับเป้าการส่งออกสินค้าลงจาก 1.0% เป็น -0.7% พร้อมปรับประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวในปีนี้และปีหน้าขึ้นเป็น 28 และ 35 ล้านคน จากเดิม 25.5 และ 34.0 ตามลำดับ โดยการสัมภาษณ์ของคุณปิติ ดิษยทัต เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน ส่งสัญญาณว่าธปท.ยังจะไม่ผ่อนหรือพักการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่งในขณะที่ถึงแม้เงินเฟ้อจะชะลอตัวลง แต่ยังไม่สามารถไว้วางใจได้ เนื่องจากอาจเห็นแรงส่งฝั่งอุปสงค์เงินเฟ้อจากภาคการท่องเที่ยว

กลยุทธ์การลงทุน เรามีมุมมองเป็นกลางต่อผลการประชุม กนง. และถ้อยคำแถลงของผู้บริหาร และหากอิงจากค่าเงินบาทและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้น 2 ปี พบว่าแกว่งตัวในกรอบแคบเช่นกันที่บริเวณ 34.2บาท/ดอลลาร์ และ 1.76% เราประเมินว่านอกเหนือจากประเด็นเรื่องเงินเฟ้อและตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศ แล้วธนาคารกลางแต่ละประเทศนั้นๆรวมทั้งธปท.(การประชุมกนง.ครั้งถัดไป วันที่ 31 พค 2566) จะเลือกรอดูการส่งสัญญาณดอกเบี้ยสหรัฐในเดือนพ.ค. และนำมาประกอบการพิจารณาทิศทางดอกเบี้ยของประเทศนั้นๆอีกครั้ง เบื้องต้นเราคงกรอบการซื้อขายของ SET Index ที่บริเวณ 1596-1630จุด

2.) ติดตามตัวเลขส่งออกเดือน ก.พ. ที่จะประกาศในวันนี้ คาด -7.0% YoY จากผลกระทบของการลดระดับสินค้าคงคลังของผู้ประกอบการ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศหลัก และจีนยังฟื้นไม่เต็มที่ ซึ่งดูน่าเป็นห่วงเพราะการส่งออกมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของจีดีพี นอกจากนี้นักลงทุนต้องตามแนวโน้มที่ค่าเงิน USD จะอ่อนค่าจากโอกาสที่เฟดจะผ่อนคลายนโยบายการเงินใน 2H23 ทำให้อัตราการทำกำไรของผู้ส่งออกมีแนวโน้มแย่ลง โดยเราคาดว่าตัวเลขการส่งออกของไทยจะหดตัว 1-2% ในปี 2566 ดังนี้เราแนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนหุ้นกลุ่มส่งออกไปก่อนในระยะนี้

3.) หุ้นกลุ่มเทคฯ ปรับตัวขึ้นโดดเด่นวานนี้ หลัง Micron ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐฯ ให้ข้อมูลว่าปัญหาสินค้าคงคลังเริ่มคลี่คลายดีขึ้น ทำให้นักลงทุนกลับมาคาดหวังว่าตัวเลขการสั่งซื้อจะกลับมาในระยะถัดไป หนุนราคาหุ้น Micron ปรับตัวขึ้น 7%, Nvidia +2%, และ AMD +1.6% วานนี้ อย่างไรก็ตามเรามองว่ายังเร็วไปที่จะตัดสิน เนื่องจากคาดว่าอุปสงค์ต่อสินค้าไอทีจะยังชะลอตัวตามภาพเศรษฐกิจ สินเชื่อที่ตึงตัวขึ้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นด้วย

4.) สำนักข่าว Reuters รายงานว่า กลุ่มเซ็นทรัลกำลังเจรจาเพื่อเข้าซื้อหุ้นใน Vincom Retail หรือ VRE (+11% YTD) ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม มี 83 สาขา และปัจจุบันมี market cap. ราวๆ US$2.8bn หรือ 9.5 หมื่นลบ. โดยปัจจุบัน Vingroup ถือหุ้น VRE อยู่ 60%

5.) วันนี้จับตา ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคำพิพากษาคดีระหว่าง BTSC (ผู้ฟ้องคดี) กับ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา36 ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เบื้องต้นหาก รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ ชนะคดีจะถือเป็น Sentiment บวกต่อ CK, BEM อาจส่งผลให้การอนุมัติของโครงการรถไฟฟ้าดังกล่าวเกิดขึ้นได้เร็วภายหลังได้ครม.ชุดใหม่ และในทางตรงกันข้ามหากว่า รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ แพ้คดีจะถือเป็นลบโดยตรงเช่นกัน เพราะจะทำให้โครงการดังกล่าวล่าช้า หากนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาราคาหุ้น CK, BEM ปรับตัวลงมามากกว่า 16% และ 10% ตามลำดับ จากความกังวลเรื่องดังกล่าวและคดีความยังไม่ถึงที่สิ้นสุด เป็นเหตุที่ทำให้ครม.ได้พิจารณาชะลอการอนุมัติโครงการดังกล่าวออกไป

Theme การลงทุนสัปดาห์นี้ แนะนำ

1.) หุ้นที่ราคาพักฐานลงมาแล้ว แต่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวหนุนหรือทิศทางผลประกอบเติบโตต่อเนื่องในปี 2023  แนะนำ CK ราคาพื้นฐาน  33.3  บาท , CPN ราคาพื้นฐาน  79.0  บาท  , SNNP ราคาพื้นฐาน  30.3 บาท, AAV ราคาพื้นฐาน 3.10 บาท

2.) หุ้น Defensive ที่จะช่วยลดความผันผวน/ความเสี่ยงของพอร์ทการลงทุนรวม แนะนำ กลุ่ม ICT (ADVANC ราคาพื้นฐาน 233.85 บาท และ TRUE ราคาพื้นฐาน 10.32 บาท) กลุ่มโรงไฟฟ้า (BGRIM ราคาพื้นฐาน 64.5  บาท และ GULF ราคาพื้นฐาน 54.50 บาท) และกลุ่มน้ำประปา (TTW ราคาพื้นฐาน 11.90 บาท) และ 3.) โอกาสการจบรอบดอกเบี้ยขาขึ้น แนะนำกลุ่ม Finance (HENG ราคาพื้นฐาน 3.80 บาท)

ประเมินตลาดหุ้นไทยวันนี้ฟื้นตัวในกรอบ 1,596-1,630  จุด หุ้นแนะนำวันนี้ HENG

Top pick:

CK (ราคาพื้นฐาน 33.34 บาท) ราคาหุ้นปรับตัวลงสะท้อนความเสี่ยงจากความล่าช้ารถไฟฟ้าสายสีส้มไปแล้ว ขณะที่หากโครงการดังกล่าวได้รับการอนุมัติเราคาดจะสร้าง upsides มากกว่า 50% จาก backlog ปี 66 ที่ = 5.3 เท่า ของปี 62 และสูงสุดเป็นประวัติการณ์, กำไรปกติปี 66/67 = 1.8/7.3 เท่า และ MV/EV ปัจจุบันอยู่ที่ 1.16/1.27 เท่า นอกจากนี้ด้วยโมเมนตัมกำไรที่ดี และรายได้จากบริษัทในเครือที่สูงขึ้น ทำให้คาดว่าหุ้นจะเทรดด้วย holding discount ที่ลดลง แนะนำติดตามศาลปกครองสูงสุดนัดตัดสิน คดี BTSC ฟ้องบอร์ดคัดเลือกฯ-รฟม.ยกเลิกประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ในนี้ รวมถึงการประชุมนักวิเคราะห์ในวันศุกร์ที่ 31 มี.ค.

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

  • วันพฤหัสฯ ติดตาม ติดตาม ตัวเลขส่งออก และนำเข้าของไทยเดือน ก.พ. คาด -7.0% YoY และ +2.0% YoY ดุลการค้าของไทยเดือน ก.พ. คาด -US$1,414mn (ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ -US$4,650mn) ตัวเลข Industrial production ของไทย เดือน ก.พ. คาด -1.1% YoY ตัวเลขเงินเฟ้อของเยอรมัน เดือน มี.ค. คาด +0.7% MoM และ7.3% YoY (ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 8.7% YoY) ตัวเลข Initial Jobless Claim รายสัปดาห์ของสหรัฐฯ คาด+196K (จากสัปดาห์ก่อนหน้าที่ +191K) และถ้อยแถลงของ Fed Barkin
  • วันศุกร์ ติดตาม ตัวเลขเศรษฐกิจเดือน ก.พ. ของ ธปท. ตัวเลข Industrial production ของญี่ปุ่น เดือน ก.พ. คาด +2.7% MoM ตัวเลข NBS Manufacturing PMI ของจีน เดือน มี.ค. คาด 51.2 จุด (ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 52.6 จุด) ตัวเลข NBS Non Manufacturing PMI ของจีน เดือน มี.ค. คาด 54.9 จุด (จากเดือนก่อนหน้าที่ 56.3 จุด) ตัวเลข Retail sales ของเยอรมัน เดือน ก.พ. คาด+0.5% MoM ตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซน เดือน มี.ค. คาด 7.2% YoY (ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 8.5% YoY) ตัวเลขCore inflation ของยูโรโซน เดือน มี.ค. คาด 5.7% YoY (เทียบเดือนก่อนหน้าที่ 5.6% YoY) ตัวเลขอัตราการว่างงานในยูโรโซนเดือน ก.พ. คาด 6.7% ตัวเลข Core PCE Price index ของสหรัฐฯ เดือน ก.พ. คาด +0.4% MoM และ+4.7% YoY ตัวเลข PCE Price index ของสหรัฐฯ เดือน ก.พ. คาด +0.5% MoM และ +5.1% YoY ตัวเลข Personal spending ของสหรัฐฯ เดือน ก.พ. คาด +0.3% MoM (จากเดือนก่อนหน้าที่ +1.8% MoM) ถ้อยแถลงของ Fed William และ Fed Cook
- Advertisement -