Our View? “เงียบๆ คนเดียว”
คาดตลาดวันนี้ “Sideway Up” มองแนวรับที่บริเวณ 1,585 / 1,578 และแนวต้านที่บริเวณ 1,600 / 1,610 คาดตลาดจะยังให้น้ำหนักกับการรอติดตามการรายงานตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน มี.ค. ของสหรัฐในคืนวันที่ 12 เม.ย. คาดจะออกมาที่ระดับ 5.10% YoY และ 0.2% MoM ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้า สะท้อนทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐที่ยังอยู่ในภาพชะลอตัวลงต่อเนื่องแม้ยังอยู่ในระดับสูงก็ตาม คาดจะช่วยลดทอนคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยในระยะกลางของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ได้บ้าง อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามการเปิดเผยรายงานการประชุม FOMC รอบเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาในคืนวันที่ 13 เม.ย. นี้ คาดจะส่งผลให้ตลาดคาดการณ์เกี่ยวกับทิศทางอัตราเงินเฟ้อของ FED ได้มากขึ้น ขณะที่ล่าสุด CME FedWatch Tools บ่งชี้นักลงทุนคาด FED จะปรับขึ้นอัตรา ดอกเบี้ยอีก 0.25% ที่นํ้าหนักราว 70.0%+/- จากก่อนหน้าคาดที่ระดับ 50.0%+/- หลังจากตัวเลขแรงงานในสหรัฐเดือน มี.ค. ยังคงอยู่ในภาวะตึงตัว คาดจะเป็นปัจจัยจำกัด Upside การเคลื่อนไหวของทิศทางราคาสินทรัพย์เสี่ยงได้อยู่
ขณะที่เรายังมีมุมมองเชิงลบต่อการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาคาดการณ์เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มโตไม่ถึง 3.0% ในปี’66 ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าที่ระดับ 3.4% และคาดจะโตทรงตัวที่ระดับ 3.0% ไปอีก 5 ปี ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยเศรษฐกิจโลก 10 ปีย้อนหลัง แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว 20 ปีย้อนหลังที่ระดับราว 3.6% คาดจากอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางที่สําคัญของโลกอยู่ในระดับสูง และความขัดแย้งทางการเมืองต่างๆ คาดเป็นจิตวิทยาเชิงลบต่อทิศทางราคาสินทรัพย์เสี่ยงได้
ทางด้านราคาสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI. ส่งมอบเดือน พ.ค. ยังคงแกว่งตัวออกด้านข้าง แต่เริ่มชะลอกำลังลงปิดที่ระดับ 79.74 ดอลลาร์/บาร์เรล -0.96 ดอลลาร์ (-1.19%) คาดได้รับแรงกดดันจากคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของ FED อาจส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันในสหรัฐอ่อนแอลง คาดจะกดดันทิศทางหุ้นในกลุ่มพลังงานได้บ้างเล็กน้อย
สำหรับปัจจัยในประเทศเรายังคงคาดปริมาณการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยจะยังคงเบาบางต่อไป จากการคาบเกี่ยววันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ คาดจะส่งผลให้ตลาดผันผวนได้บ้างในระยะสั้น แต่มองจะเป็นปัจจัยช่วยให้เศรษฐกิจไทยที่เงินหมุนเวียนมากขึ้นจากการที่หลายภาคส่วนกลับมาจัดงานเทศกาลสงกรานต์อีกครั้งในปีนี้ ขณะที่เรายังมีมุมมองเชิงบวกต่อตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน มี.ค. ของไทยที่ออกมาเพียง +2.83% YoY และ -0.27% MoM ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ระดับ +3.25% และ +0.14% MoM บ่งชี้เงินเฟ้อของไทยผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง พยายามปรับตัวลงเริ่มเข้าใกล้กรอบเป้าหมายของ ธปท. ที่ระดับ 2.00% เรามองเป็นปัจจัยสะท้อนความสามารถในการควบคุมเงินเฟ้อของไทย รวมทั้งยังลดทอนแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ ธปท. ในระยะถัดไป ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินในประเทศไม่ได้เร่งตัวขึ้นแรง เป็นปัจจัยหนุนทิศทางเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นได้ต่อ และจะเป็นจิตวิทยาเชิงบวกหนุนแรงเก็งกำไรต่อหุ้นในกลุ่มการเงิน (MTC, SAWAD, TIDLOR และ KTC) อีกทั้งเรายังมองประเด็นในการเลือกตั้งของไทยเดือน พ.ค. ที่มีความชัดเจนขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่าการหาเสียงในช่วงเดือน เม.ย. นี้ คาดจะเป็นสีสันให้เศรษฐกิจไทยเช่นกัน เป็นจิตวิทยาเชิงบวกต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มค้าปลีก (CPALL, BJC และ MAKRO) กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง (STEC และ CK) และกลุ่มสื่อโฆษณา (PLANB และ VGI) รวมทั้งการออกมาทยอยปรับเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยขึ้นสู่ระดับ 25-30 ล้านรายภายในสิ้นปี’66 ของหลายๆ หน่วยงาน คาดจะหนุนหุ้นในกลุ่มสายการบิน (AAV และ BA) ฟื้นตัวขึ้นได้
ธีมการลงทุน “Selective Play”
หุ้นแนะนําวันนี้ “CPALL”
กลยุทธ์ แนวรับ 61.50 / 60.75 Target 64.00 / 67.00 Stop <60.00