Daily Focus 

ตลาดหุ้นวานนี้: SET Index ปรับตัวขึ้นได้แข็งแกร่งกว่าคาด โดยปิดบวกได้อีก 12.98 จุด สวนทางตลาดหุ้นต่างประเทศที่ปรับลง โดยยังคงมีแรงซื้อในกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่กระจายตัว สถาบันในประเทศซื้อสุทธิในตลาดหุ้นหนาแน่นกว่า 3 พันลบ. ขณะที่ต่างชาติพลิกมาขายสุทธิ 1.1 พันลบ. (แต่ Long Index Future 4.8 พันสัญญา)

แนวโน้มตลาดวันนี้: เราคาด SET Index มี Upside ระยะสั้นจำกัด ที่ 1,550 จุด หลังจาก Rebound ขึ้นมาได้ค่อนข้างเร็ว โดยรวมดัชนียังคงขาดปัจจัยใหม่เข้ามากระตุ้น และการเคลื่อนไหวของดัชนียังขึ้นอยู่กับแรงซื้อ-ขายของสถาบันในประเทศเป็นหลัก โดยรวมสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศยังน่าเป็นห่วง และไม่เอื้อให้ศบค. ผ่อนคลาย Lockdown ได้เร็วๆ นี้ ซึ่งกดดันให้ GDP 3Q21 จะเป็นจุดต่ำสุดของปี ขณะที่การฟื้นตัวคาดยังค่อนข้างช้าขณะที่ 4Q21 เราประเมินว่าการเมืองจะมีความร้อนแรงมากขึ้นหลังผ่านงบประมาณปี 2022 โดยเฉพาะประเด็นการยุบสภา ขณะที่ FED คาดส่งสัญญาณ และทยอยลด QE ปลายปี ทำให้กระแสเงินทุนคาดยังไม่กลับมาไหลเข้ากลยุทธ์ระยะกลาง-ยาวยังเน้นสะสมหุ้น Domestic และ Reopening Play ช่วงตลาด Panic ลง หาบริเวณ 1,500 +- จุด ส่วนระยะสั้นยังเน้นเลือกเก็งกำไรหุ้นที่ถูกกระทบจากการ Lockdown จำกัด โดยเฉพาะกลุ่มส่งออกอย่างอิเล็กทรอนิกส์ขนส่ง (เรือ) ยานยนต์รวมถึงกลุ่มการแพทย์

กลยุทธ์: เก็งกำไรเป็นรายตัวที่มีประเด็นบวก // สะสมหุ้น Domestic เพิ่มบริเวณ 1,500 +-จุด หุ้นเด่นเดือน ส.ค. : BCPG, EKH, ORI, SONIC, TTA

หุ้นเด่นวันนี้: SYNEX

  • แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 26.30 บาท
  • แนวโน้มกำไร 3Q21 คาดถูกกระทบจาก Lockdown น้อยที่สุดในกลุ่ม และคาดยังทรงตัวในระดับที่สูงได้แม้เป็น Low Season โดยยังได้อานิสงส์จาก WFH
  • คาดจะเริ่มเป็น Catalyst บวกในกลางเดือน ก.ย. จาก Apple ที่จะเปิดตัว iPhone 13 โดย SYNEX จะได้ประโยชน์จากการขายใน 4Q21 ซึ่งเป็น High Season แนวรับ 23.50 บาทแนวต้าน 24.50-25 บาท

Fund Flow: วานนี้กระแสเงินทุนพลิกมาไหลออกจากภูมิภาค US$913 ล้าน นำโดยเกาหลีใต้และไต้หวัน US$417 ล้าน และ US$393 ล้าน ตามลำดับ ส่วนอาเซียนไหลออกทุกประเทศ นำโดยเวียดนาม US$61 ล้าน โดยตลาดที่เกี่ยวเนื่องกับจีนถูกกดดันจากการนโยบายควบคุมและแทรกแซงของจีน แนวโน้มของกระแสเงินทุนคาดว่ายังคงอยู่ในทิศทางไหลออกจาก Dollar Index ที่แข็งค่า

ประเด็นสำคัญวันนี้

(+) BANPU เรามองการปรับลงของราคาในวันขึ้น XA ได้สะท้อนจำนวนหุ้นที่เพิ่มขึ้นจากทั้งการเพิ่มทุน RO และ Warrant ไปมากพอสมควร ขณะที่แนวโน้มกำไร 3Q21 คาดเติบโตโดดเด่นโดยเบื้องต้นคาดแตะ 3-4 พันลบ. จากราคาถ่านหินและก๊าซที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เราปรับลดราคาเป้าหมายลงเหลือ 14.60 บาท จากจำนวนหุ้นถัวเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นในปี 2023 แต่ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” (Source: FSSIA)

(+) MEGA กำไร 2Q21 สูงเป็นประวัติการณ์ +40% Q-Q, +71% Y-Y ดีกว่าคาด จากธุรกิจแบรนด์ Mega We Care ที่มีมาร์จิ้นสูงเติบโตแข็งแกร่งในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นตลาดหลัก แนวโน้ม 2H21 ดีจากฤดูกาลและการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ฟ้าทะลายโจร เราปรับกำไรปี 2021-0-22 ขึ้นเป็น +27% Y-Y และ +12% Y-Y ปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 56 บาท แนะนำ “ซื้อ”

(+) LEO มองค่าระวางเรือจะยังสูงต่อเนื่องจนถึงกลางปี 2022 ทำให้กำไรคาดว่ายังโดดเด่น ผู้บริหารปรับเป้ารายได้ขึ้นเป็นโค 80-85% Y-Y ล่าสุดได้เซ็น MOU กับไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่นเพื่อพัฒนาการขนส่งโดยเน้นวัคซีนทั่วประเทศ เรายังคาดกำไรปี 2021-2022 +168% Y-Y และ +7% Y-Y ตามลำดับ คงราคาเป้าหมาย 13 บาทแนะนำ “ซื้อ”

(0) NRF ผู้บริหารปรับเป้ารายได้ปี 2023 ขึ้นเป็น 5 พันลบ. เพิ่มจากปี 2020 ซึ่งอยู่ที่ 1.4 พันลบ. โดยจะใช้กลยุทธ์เข้าลงทุนในกิจการเป้าหมายอื่นๆ ตามแผน อย่างไรก็ตาม ระยะสั้นจากกำไร 2Q21 ที่ต่ำกว่าคาดมาก ขณะที่การฟื้นตัวใน 2H21 ยังต้องติดตาม เราจึงอยู่ระหว่างปรับลดประมาณการกำไร และราคาเป้าหมายลงจาก 10 บาท ยังแนะนำเพียง “เก็งกำไร” และเป็นหุ้น Story Driven

(+) ORI ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการเติบโต 2H21 แม้จะถูกกระทบจากการปิดแคมป์ 1 เดือน แต่คาดเร่งกลับมาเปิด 14 โครงการใหม่ได้ทัน รวมถึงมีคอนโดสร้างเสร็จโอนใหม่อีก 4 โครงการ ระยะยาวยังมองบวกต่อการ Diversify ธุรกิจร่วมกับ Partner อย่าง JWD และ GUNKUL คงราคาเป้าหมาย 10.10 บาท แนะนำ “ซื้อ” เป็น Top Pick

(-) ตลาดดาวโจนส์ลดลง 282.12 จุดหรือ 0.79% ปิดที่ 35,343.28 จุด จากรายงานยอดค้าปลีกของสหรัฐเดือนก. ค. ปรับลง 1.1% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลง 0.3% รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้สร้างบ้านปรับลง 5 จุดเป็น 75 ในเดือนส. ค.

(+) ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกจากการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซนที่ขยายตัว 2% ใน 2Q21 และผลประกอบการที่แข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน

(+) ตลาดเอเชียปรับขึ้นจากแรงซื้อเก็งกำไรหุ้นที่ปรับลงในวันก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ยังถูกกดดันจากผู้ติดเชื้อ COVID ที่สูงขึ้น ขณะที่ติดตามธนาคารกลางนิวซีแลนด์แถลงนโยบายการเงิน

(+) ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอยู่ที่บริเวณ 33.24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

(-) ราคาน้ำมันดิบ NYMEX ลดลง 70 เซนต์หรือ 1% ปิดที่ 66.59 ดอลลาร์/บาร์เรล จากการแพร่ระบาดอย่างหนักของ COVID-19 สายพันธุ์เดลตาในหลายประเทศ และการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมกระทบอุปสงค์น้ำมัน ขณะที่ติดตาม EIA เปิดเผยตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐในวันนี้เวลา 21.30 น. ตามเวลาไทยท่ามกลางนักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 3.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา

(-) ราคาทองคำ COMEX ลดลง 2 ดอลลาร์หรือ 0.11% ปิดที่ 1,787.8 ดอลลาร์/ออนซ์จากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์

SPDR Gold Trust ถือครองทองค่า 1,017.14 / -3.49

- Advertisement -