บล.ทรีนีตี้:
บริษัท พีลาทัส มารีน จำกัด (มหาชน) (PLT)
ซื้อ / ราคาเป้าหมายปี 2566 2.10 บาท / ปริมาณหุ้น (พาร์ 0.50 บาท) 960 ล้านหุ้น
PLT บริษัทเดินเรือที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย
- PLT ประกอบธุรกิจขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquid Petroleum Gas หรือ LPG) ทางเรือและรถให้แก่ผู้ผลิตและ/หรือจำหน่ายก๊าซ LPG รายใหญ่ของประเทศ
- คาดผลการกำไรปี 2566-2567 เติบโตด้วย CAGR กว่าร้อยละ 34.3 เติบโตจากการลงทุนเพิ่มกองเรือ 3 ลำในปี 66 – 67 คิดเป็นน้ำหนักบรรทุก 4,100 ตัน (จากเดิม 19 ลำ คิดเป็นน้ำหนักบรรทุก 19,624 DWT) รวมถึงการขยายกองรถ 15 คัน จากเดิม 44 คัน
- ประเมิน Fair value สิ้นปี 2566 ที่ 2.10 บาท อิง PE ที่ 19.4 เท่า คิดเป็น PEG ที่ 1 เท่า (CAGR ปี 2565 – 2569 อยู่ที่ 19.4%)
ข้อมูลสรุปการเสนอขายหุ้น IPO
บริษัทจะมีทุนจดทะเบียน 480 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ภายหลังการเสนอขายในครั้งนี้ โดยหุ้นสามัญที่เสนอขายในครั้งนี้มีจำนวน 280 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งหมด โดยผู้ถือหุ้นเดิมไม่มีการขายหุ้นขณะ IPO
บริษัทมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อ
1) ขยายกองเรือบรรทุกก๊าซ LPG และก๊าซเคมีเหลว แบ่งเป็นการซื้อเรือมือสองอายุไม่เกิน 20 ปี เพื่อทดแทนเรือเก่า 1 ลำ และซื้อเรือมือ 2 อายุไม่เกิน 20 ปี บรรทุกน้ำหนักได้ 1750 ตัน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าในประเทศและต่างประเทศ คิดเป็นเงินลงทุน 250 – 300 ล้านบาท
2) เพิ่มกองรถบรรทุกก๊าซ LPG 15 คัน คิดเป็นเงินลงทุน 65 ล้านบาท
3) เพื่อใช้ในการติดตั้งระบบ ERP, ปรับปรุงลานจอดรถบรรทุก และซ่อมบำรุงรถบรรทุก, และใช้เป็นเงินหมุนเวียน 27 ล้านบาท
ความน่าสนใจในการลงทุน PLT
1. เป็นธุรกิจที่มีรายได้และกำไรอย่างสม่ำเสมอจากสัญญาระยะยาวจากลูกค้าหลัก แตกต่างกับบริษัทเดินเรือทั่วไปที่รายได้และกำไรขึ้นลงตามวัฏจักร
2. เป็นผู้นำและมีความเชี่ยวชาญในการขนส่งก๊าซ LPG ในประเทศที่ครอบคลุมทั้งทางบกและน้ำ โดยบริษัทมีประสบการณ์ในการให้บริการขนส่ง LPG นานกว่า 10 ปี มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า และมีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจกับ CLMV
3. Barrier to entry สูง และมีผู้เล่นในตลาดน้อยราย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง ต้องมีความชำนาญและประสบการณ์ โดยปัจจุบัน market share ของบริษัทอยู่ที่ราว 60%
4. ผู้ใช้ LPG ปลายทางมาจากโรงบรรจุก๊าซหุงต้ม LPG ตามด้วยโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งโตตาม GDP ของประเทศ และ LPG มีแนวโน้มความต้องการมากขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่ม CLMV ต่างจากอุตสาหกรรม LPG แก๊สรถยนต์ที่โตชาลง
5. ได้ร่วมลงนาม MOU กับผู้นำเข้าและจำหน่ายก๊าซ LPG รายใหญ่ในประเทศเวียดนาม คาดว่าเริ่มดำเนินธุรกิจได้ช่วง 2H66
คาดกําไร 2566 – 2569 เติบโตด้วย CAGR กว่าร้อยละ 19.4
ประเมินแนวโน้มผลประกอบการในปี 2566 กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 103 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิร้อยละ 65.6 ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มจำนวนกองเรือ กองรถ และการขยายธุรกิจไปยังประเทศเวียดนาม ปี 2567 กำไรสุทธิจะอยู่ที่ 121 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิร้อยละ 17.7 จากการเพิ่มขึ้นของกองเรือ และการได้รับสัญญาธุรกิจเดินเรือในประเทศ และกลุ่ม CLMV เพิ่ม
การประเมินมูลค่าหุ้น
เราใช้วิธี P/E ratio ประเมินมูลค่าหุ้น บริษัท พีลาทัส มารีน จำกัด (มหาชน) ได้ราคาเหมาะสมปี 2566 ที่ 2.1 บาท จากการอิง EPS ปี 2566 ที่ 0.11 บาท และ P/E ที่ 19.4 เท่า คิดเป็น PEG ที่ 1 เท่า (CAGR ปี 2565 – 2569 อยู่ที่ 19.4%) ทั้งนี้เราได้ทำกรอบ P/E sensitivity เพื่อประกอบการตัดสินใจการลงทุน
วัตถุประสงค์การใช้เงิน
1.1 ปรับอายุเฉลี่ยของกองเรือให้มีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 25 ปี
ด้วยปัจจุบันกองเรือของบริษัททั้ง 19 ลำ มีอายุเฉลี่ย 30 ปี โดยบางลำอายุการใช้งานเกินกว่า 35 ปี บริษัทจึงวางแผนที่จะลงทุนซื้อเรือมือสองที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 20 ปี เข้ามาเพื่อทดแทนเรือที่บริษัทวางแผนไว้ว่าจะปลดระวาง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายคือสามารถปรับอายุ เฉลี่ยของกองเรือให้มีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 25 ปี อย่างไรก็ตาม ถึงแม้บริษัทวางแผนที่จะจัดหาเรือที่มีอายุใช้งานไม่เกิน 20 ปี หากแต่ในช่วงที่บริษัทจัดหาเรือนั้น เรือมือสองที่พร้อมจำหน่ายในตลาดมีอายุใช้งานเกินกว่า 20 ปี เล็กน้อย แต่อยู่ในสภาพดี และมีราคาที่เหมาะสม บริษัทก็จะพิจารณาจัดหาเรือดังกล่าวมาใช้งานได้เช่นกัน ทั้งนี้ การใช้เรือที่อายุการใช้งานน้อยมีผลดี ต่อบริษัทดังนี้
1. เรือที่มีอายุการใช้งานน้อยจะได้รับค่าบริการการขนส่งในอัตราที่สูงกว่าเรือที่มีอายุการใช้งานสูง โดยลูกค้าบางรายจะมีการกำหนดเงื่อนไขในการคิดอัตราค่าบริการขนส่ง โดยอายุการใช้งานของเรือของผู้ให้บริการขนส่งก็เป็นหนึ่งในปัจจัยในการกำหนดอัตราค่าบริการขนสง
2. สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านค่าบำรุงรักษาเรือ เรือที่อายุมากจะมีค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษามากกว่าเรือที่มีอายุน้อย
3. สามารถลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเรือที่มีอายุมากจะใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในการเดินเรือมากกว่าเรือที่มีอายุน้อย
4. สามารถลดค่าใช้จ่ายในการนำเรือเข้าอู่แห้ง (Dry Docking) เรือที่มีอายุมากจะต้องมีการเปลี่ยนอะไหล่จำเป็นที่มีมูลค่าสูงถี่กว่าเรือที่มีอายุน้อย
1.2 ขยายกองเรือเพื่อขยายการดำเนินธุรกิจ
บริษัทวางแผนที่จะลงทุนซื้อเรือขนส่งก๊าซ LPG มือสองที่มีอายุใช้งานไม่เกิน 20 ปี และมีขนาดใหญ่กว่าที่บริษัทใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งเรือดังกล่าวยังสามารถใช้ขนส่งก๊าซเคมีเหลว เช่น โพรพิลีน (Propylene) และมิกซ์ซี (Mixed-C4) ทั้งนี้ การขยายกองเรือที่มีขนาดใหญ่กว่าที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบันเป็นไปเพื่อ วัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
1. เพื่อรองรับการขยายตลาดการขนส่งก๊าซ LPG ไปยังต่างประเทศ เช่น ประเทศในแถบ CLMV) โดยที่ผ่านมา บริษัทได้รับการติดต่อจากคู่ค้าในต่างประเทศแจ้งถึงความต้องการเรือที่สามารถให้บริการขนส่งก๊าซ LPG ไปยังต่างประเทศได้ เช่น ประเทศเวียดนาม บริษัทจึงมีแผนที่จะลงทุนซื้อเรือขนาดประมาณ 3,500 CBM เพื่อรองรับความต้องการการขนส่งในประเทศในแถบ CLMV
2. เพื่อรองรับการขยายตลาดการขนส่งก๊าซเคมีเหลว (ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการในปี 2568 โดยจากการศึกษาของบริษัทพบว่า ตลาดการขนส่งก๊าซเคมีเหลวทางเรือปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจขนส่งทางเรือในตลาดน้อยราย เป็นผลให้มีอัตรากำไรขั้นต้นค่อนข้างสูง) โดยแผนการซื้อเรือเพื่อขยายกองเรือและงบประมาณที่ต้องใช้ในการลงทุนรายปีในช่วงปี 2566 – ปี 2569 สามารถแสดงได้ดังนี้
2. ขยายธุรกิจขนส่งทางรถ
บริษัทเล็งเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจขนส่งทางรถ โดยเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าที่ต้องการใช้บริการการขนส่งก๊าซ LPG รายใหม่ และเพิ่มการให้บริการขนส่งผลิตภัณฑ์ก๊าซเหลวประเภทอื่น เช่น ก๊าซ NGV และเคมีเหลว บริษัทจึงวางแผนที่จะซื้อรถบรรทุกใหม่เพื่อขยายกองรถบรรทุก และ/หรือ ซื้อรถบรรทุกเพื่อทดแทนรถบรรทุกที่มีอายุการใช้งานนานเกินกว่าการคุ้มค่าในการใช้ขนส่งสินค้า ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทมีศักยภาพการขนส่งเพิ่มมากขึ้น โดยมีแผนและงบประมาณในการขยายกองรถบรรทุกในปี 2566 ดังนี้
3. เพื่อใช้ในการติดตั้งระบบ ERP ภายในองค์กร และปรับปรุงลานจอดรถบรรทุกก๊าซ และสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงรถบรรทุกก๊าซ
ลักษณะการประกอบธุรกิจ
ธุรกิจให้บริการขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวทางเรือ
บริษัทและบริษัทย่อยให้บริการขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquid Petroleum Gas หรือ LPG) ทางเรือ โดยเป็นการขนส่งทางทะเล โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทมีเรือขนส่งก๊าซ LPG เป็นของบริษัทเองรวมทั้งสิ้นจำนวน 19 ลำ โดยมีขนาดตั้งแต่ 570 ถึง 900 ตัน (ความจุสุทธิที่สามารถขนได้) รวมน้ำหนักบรรทุกเรือทั้งหมดเท่ากับ 19,624 DWT และขนาดถังบรรจุรวม ทั้งหมดเท่ากับ 25,110 ลบ.ม. กลุ่มลูกค้าหลักของบริษัทและบริษัทย่อยในธุรกิจขนส่งก๊าซ LPG คือผู้จำหน่ายก๊าซ LPG ราย ใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งว่าจ้างบริษัทและบริษัทย่อยในการขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวให้แก่ลูกค้าของผู้จำหน่าย LPG ดังกล่าว หรือเป็นการขนส่งก๊าซ LPG ระหว่างคลังของผู้ว่าจ้าง นอกจากนี้ยังให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าผู้ซื้อก๊าซ LPG ที่ทำการซื้อก๊าซ LPG จากผู้จำหน่ายโดย มิได้รวมค่าขนส่งในราคาซื้ออีกด้วย โดยลักษณะของการให้บริการมีสองรูปแบบ ดังนี้
- สัญญาจ้างขนส่งล่วงหน้า (Contract of Affreightment หรือ COA) เป็นสัญญาว่าจ้างขนส่งตามระยะเวลาที่กำหนด สำหรับลูกค้าที่มีจำนวนเที่ยวขนส่งมาก เพื่อให้สามารถว่าจ้างการขนส่งได้อย่างต่อเนื่อง โดยสัญญา COA จะมีการะบุเงื่อนไขการว่าจ้างขนส่งเหมาเรือลำที่กำหนด หรือลักษณะเรือตามที่กำหนด จำนวนเรือที่ว่าจ้าง สถานที่รับและส่งสินค้า จำนวนเที่ยวขนส่งขั้นต่ำตามสัญญาว่าจ้างขนส่ง ซึ่งอัตราค่าขนส่งจะผันแปรไปตามราคาขายปลีกของน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ณ สถานีบริการน้ำมันในเขตกรุงเทพมหานคร ตามที่ตกลงกับลูกค้า ซึ่งสัญญาข้างต้นจะมีอายุ 15 ปี และสัญญารายปี (ต่ออายุทุกๆ 1 ปี) นอกจากนี้ บริษัทย่อยยังมีสัญญาที่ไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด (Evergreen Contract) กับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายก๊าซ LPG รายใหญ่ของประเทศไทย สำหรับเรือขนส่งก๊าซ LPG ของบริษัท จำนวน 7 ลำ
- การว่าจ้างขนส่งรายเที่ยว (Spot Charter) เป็นการว่าจ้างขนส่งเป็นรายเที่ยวตามความต้องการของลูกค้า โดยบริษัทจะทำการเสนอราคาค่าขนส่งตามเงื่อนไขที่ลูกค้ากำหนด เช่น ลักษณะเรือ ปริมาณสินค้า ตารางเวลาขนส่ง และสถานที่รับและส่งสินค้า เป็นต้น โดยบริษัทจะทำการคำนวณอัตราค่าขนส่งแปรผันตามราคาเชื้อเพลิงในขณะนั้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นหนึ่งในต้นทุนหลักเรือขนส่งก๊าซ LPG ของบริษัทและบริษัทย่อย บริษัทจะทำการรับก๊าซ LPG จากโรงกลั่น หรือโรงแยกก๊าซจากท่าเรือต้นทาง โดยมีท่าหลักคือ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี ระยอง และนครศรีธรรมราช เป็นต้น และไปส่งยังท่าเรือปลายทาง โดยมีท่าหลักคือ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา สมุทรสงคราม สงขลา และสุราษฎร์ธานี โดยบริษัทและบริษัทย่อยให้บริการขนส่งก๊าซ LPG ทางเรือในเส้นทางเดินเรือกลเดินทะเลเฉพาะเขตและเรือกลเดินทะเลใกล้ฝั่ง (Near-coastal) ครอบคลุมประเทศไทยในฝั่งอ่าวไทย ประเทศ กัมพูชา และเวียดนาม โดยเส้นทางการขนส่งก๊าซ LPG ทางเรือสามารถสรุปตามแผนภาพดังนี้
ธุรกิจให้บริการขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวทางรถ
นอกจากการให้บริการขนส่งก๊าซ LPG ทางเรือแล้ว บริษัทยังมีธุรกิจให้บริการขนส่งก๊าซ LPG ทางรถ โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 บริษัทมีรถบรรทุกทั้งหมดจํานวน 44 คัน และถังบรรจุ ก๊าซ LPG ที่ติดต้ังอยู่กับรถบรรทุกจํานวน 38 ถัง โดยมีรายละเอียด ดังน้ี
การให้บริการขนส่งก๊าซ LPG ทางรถของบริษัทนั้น จะเป็นลักษณะการทําสัญญาว่าจ้างขนส่งระยะยาว โดยมีการกําหนดเส้นทางขนส่งขนาดและจํานวนรถ ปริมาณการขนส่งต่อเดือน เป็นต้น และแบบว่าจ้างเป็นรายเที่ยว โดยบริษัทจะทําการเสนอราคาค่าขนส่งตามปริมาณการขนส่งและเส้นทางตามที่ลูกค้ากําหนด โดยอัตราค่าขนส่งจะผันแปรไปตามระยะทาง และราคาขายปลีกน้ํามันเชื้อเพลิงในขณะนั้น โดยกลุ่มลูกค้าของบริษัทในธุรกิจให้บริการขนส่งก๊าซ LPG ทางรถ คือ ผู้ประกอบการค้าส่งก๊าซ LPG สถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลว (ปั๊ม LPG) โรงบรรจุก๊าซหุงต้ม โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยเส้นทางการขนส่งทางรถที่บริษัทให้บริการครอบคลุมภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทย รวมถึงประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ําโขง (CLMV) ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ทั้งน้ี สรุปเส้นทางการให้บริการขนส่งก๊าซ LPG ทางรถสามารถแสดงได้ดังนี้
โครงสร้างรายได้
การประกอบธุรกิจของบริษัทและบริษัทย่อยสามารถแบ่งออกตามประเภทของการดําเนินธุรกิจเป็น 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ 1) ธุรกิจให้บริการขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวทางเรือ 2) ธุรกิจให้บริการขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวทางรถ โดยโครงสร้างรายได้ตามแต่ละประเภทของการดําเนินธุรกิจในงวดปี 2562 ถึงงวดปี 2565 มีสัดส่วนรายได้ดังน้ี