ALT พร้อมให้บริการสถานีเคเบิลใต้น้ำ นำร่อง จ.สตูล รองรับลูกค้าต่างชาติใช้ไทยเชื่อมโยงสื่อสารทั่วโลก
เอแอลที เทเลคอมโชว์ศักยภาพบริษัทลูก ”IGC” พร้อมให้บริการสถานีเชื่อมต่อระบบเคเบิลใต้น้ำในพื้นที่ จ.สตูล โครงการแรก เพื่อรองรับการใช้บริการเชื่อมโยงการสื่อสารไปทั่วทุกมุมโลก ย้ำชัดเป็นระบบสื่อสัญญาณที่สามารถส่งผ่านข้อมูลได้รวดเร็วด้วยเสถียรภาพที่สูงกว่าระบบสื่อสัญญาณอื่นๆ ปลื้มเซ็นสัญญาลูกค้ารายใหญ่เพื่อเชื่อมต่อระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายสุพัฒน์ เอี่ยมวิวัฒน์ รองกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายปฎิบัติการ บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ จำกัด (IGC ) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทเอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ ALT เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสารความเร็วสูงทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยว่า IGC ได้ดำเนินการให้บริการสถานีเคเบิลใต้น้ำในพื้นที่จังหวัดสตูลเป็นโครงการแรก เพื่อเชื่อมต่อระบบเคเบิลใต้น้ำและบริการรับส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็วด้วยเสถียรภาพที่สูงกว่าระบบสื่อสัญญาณอื่นๆ รองรับการเชื่อมระบบสื่อสารและสัญญาณอินเทอร์เน็ตระหว่างทวีป ทั้งจากทวีปยุโรป ทวีปแอฟริกา ประเทศอินเดียและสิงคโปร์ มายังประเทศไทย ซึ่งจะสามารถเชื่อมระบบเครือข่ายสื่อสารไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(Southeast Asia) การเพิ่มระบบเคเบิ้ลใต้น้ำเชื่อมต่อกับสถานีเคเบิลใต้น้ำในประเทศไทยเพื่อเชื่อมโครงข่ายต่างๆ ภายในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นโครงข่ายของบริษัทเอง หรือโครงข่ายของผู้ประกอบการรายอื่นๆ รวมถึงโครงข่ายที่เชื่อมระหว่างศูนย์ข้อมูล (Data Center) ทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในไทย จะเป็นการเพิ่มปริมาณข้อมูลที่ส่งผ่านและเข้าประเทศไทย จากระบบเคเบิลใต้น้ำที่มาจากทวีปอื่นๆ ได้มากยิ่งขึ้น ความสำเร็จของโครงการนี้นอกจากจะเสริมสร้างรายได้ให้กับบริษัทแล้ว ยังช่วยยกระดับให้ไทยเข้าใกล้เป้าหมายของประเทศที่มุ่งพัฒนาให้เป็น Digital Hub อีกด้วย
โดยโครงการระบบเคเบิลใต้น้ำเพื่อเชื่อมระบบเครือข่ายสื่อสัญญาณโทรคมนาคมรวมถึงสัญญาณอินเตอร์เน็ตข้ามทวีปไปอีกมุมหนึ่งของโลก โดยมีศูนย์กลางข้อมูลอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง อินเดีย ฝรั่งเศส และเยอรมัน มีการเชื่อมสัญญาณสื่อสารไปทั่วโลกด้วยระบบเคเบิ้ลใต้น้ำ เป็นการเชื่อมต่อด้วยสายไฟเบอร์ออฟติคที่ถูกติดตั้งในทะเล สามารถแก้ปัญหาความล่าช้าของการรับส่งข้อมูลได้จากการเดินทางด้วยความเร็วแสง 186,000 ไมล์ต่อวินาที มีค่าความหน่วงต่ำ (Low latency) ทำให้การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สัญญาณภาพและเสียงไม่กระตุกและมีความเสถียรสูง
“ความน่าสนใจของธุรกิจเคเบิลใต้น้ำและการให้บริการสถานีเคเบิลใต้น้ำ โดยทางเทคนิคการใช้งาน Social media ต้องการการเชื่อมสัญญาณระหว่างทวีปที่มีความรวดเร็วและระบบเครือข่ายสื่อสารที่มีความเสถียรสูง แต่การลงทุนระบบเคเบิลใต้น้ำใช้เงินลงทุนที่สูงมาก อย่างเช่นการเชื่อมต่อระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่าง ไทย-อินเดีย จะใช้เงินลงทุนสูงถึง 300-400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเราไม่พร้อมที่จะลงทุนทำเอง แต่ปัญหาหรือจุดอ่อน คือเมื่อก่อนการลงทุนสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำเข้ามาที่ประเทศไทยยังมีน้อย เพราะความกังวลในขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องใช้เวลาในการดำเนินการค่อนข้างนาน ผู้ประกอบการจึงหันไปลงทุนในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์แทน ซึ่งเรามองเห็นโอกาสตรงนี้จึงได้สร้างสถานีเคเบิลใต้น้ำขึ้นมา โดยการขออนุญาตจาก กสทช. และขออนุญาตในการใช้พื้นที่จากหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลและหน่วยงานท้องถิ่นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทได้เซ็นสัญญากับลูกค้าต่างชาติซึ่งเป็นบริษัทระดับโลกเพื่อเชื่อมต่อระบบเคเบิลใต้น้ำเข้ามายังสถานีเคเบิลใต้น้ำของ IGC ที่ จ.สตูล และส่งผ่านสัญญาณเพื่อเชื่อมไปยังโครงข่ายภายในประเทศหรือต่างประเทศ รวมถึงดาต้าเซ็นเตอร์ต่างๆ ในประเทศไทย“
“เรารู้ว่า Submarine cable เป็นความจำเป็นพื้นฐานต่อการพัฒนา Digital Economy ของประเทศไทย แต่โครงการ Submarine cable มีการลงทุนที่สูงมาก จึงเป็นที่มาของการบริหารจัดการอำนวยความสะดวกให้ระบบเคเบิลใต้น้ำเข้ามาในไทยและเชื่อมกับโครงข่ายภาคพื้นดินได้ง่ายขึ้น เราเปรียบเสมือนท่าเรือที่เปิดให้เรือโดยสารเข้ามาเทียบท่าและดูแลผู้โดยสารให้ขึ้นฝั่งและผ่านพิธีการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และปลอดภัย สิ่งที่ IGC ทำนี้ เป็นการสนับสนุนและดำเนินตามนโยบายของภาครัฐที่จะช่วยส่งเสริมการเป็น Digital Hub ของไทย ซึ่ง IGC ได้สร้างสถานีเคเบิ้ลใต้น้ำเพื่อรองรับ Submarine cable จากทั่วโลกที่จะเข้ามาที่ไทย จะทำให้ประเทศไทยน่าสนใจ และจูงใจให้โอเปอเรเตอร์และดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลกมีความมั่นใจที่จะมาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่ง ALT มีแผนที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจในกลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์เพิ่มขึ้นด้วย” นายสุพัฒน์กล่าว
นายสุพัฒน์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า IGC จำเป็นต้องมีการสร้างสถานีเคเบิลใต้น้ำฝั่งตะวันตกเพื่อรองรับการเชื่อมต่อจากยุโรป แอฟริกาใต้ และอินเดีย โดยจำเป็นต้องมีการเชื่อมระบบเครือข่ายสื่อสารมาทางฝั่งตะวันออก จึงต้องมีสถานีเคเบิลใต้น้ำใน จ.สงขลา เพื่อเชื่อมต่อระบบเคเบิลใต้น้ำในฝั่งตะวันออกไปยังญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เวียดนาม จีน และฮ่องกง รวมถึงจำเป็นต้องมีสถานีเคเบิลใต้น้ำในจ.ระยอง เพื่อช่วยส่งเสริมการพัฒนาในพื้นที่ EEC ซึ่งเมื่อมีการเชื่อมระบบเครือข่ายระหว่าง จ.ระยอง จ.สตูล และ จ.สงขลา ถึงกันได้ ผู้ใช้บริการจะสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านระบบเครือข่ายสื่อสารความเร็วสูงที่มีศักยภาพที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัวอย่างเช่น ถ้าญี่ปุ่นที่จะมาลงทุน Submarine cable เชื่อมจากสงขลาไปญี่ปุ่น จะเปิดโอกาสในการเชื่อมต่อข้อมูลสื่อสารกับฐานลูกค้าในภาคตะวันออกที่อยู่ในพื้นที่ EEC และยังสามารถเชื่อมไปยัง อินเดีย ยุโรป ในฝั่งตะวันตกได้อีกด้วย
IGC ต้องการเชื่อมระบบเครือข่ายสื่อสารความเร็วสูงจาก จ.สตูล และสงขลา มายังกรุงเทพฯ และเชื่อมระบบเครือข่ายสื่อสารไปยังมาเลเซีย โดยใช้โครงข่ายหลักของ IGC เชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายใยแมงมุมให้ครอบคลุมพื้นที่สำคัญต่างๆ ทั่วประเทศ และเมื่อเปิดให้บริการครบทั้ง 15 Cross Borders ก็จะเชื่อมโยงโครงข่ายสื่อสัญญาณไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ลาว กัมพูชา มาเลเซีย เมียนมาร์ รวมถึงเวียดนาม และจีน ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมเครือข่ายภาคพื้นดินกับระบบเคเบิลใต้น้ำในภูมิภาคให้มีเสถียรภาพสูง
“ความคาดหวังของรัฐบาลในการเป็น Digital Hub ของ Southeast Asia คงเป็นไปได้เร็วขึ้น ถ้าทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างที่ IGC พยายามทำอยู่”