บล.บัวหลวง:
Asset Management – เติบโตอย่างช้าๆ และอัพไซด์ต่อประมาณการกำไรปี 2566 ที่จำกัด (UNDERWEIGHT)
เราได้กลับมาเริ่มต้นให้คําแนะนํากลุ่มบริหารสินทรัพย์ โดยให้น้ำหนักการลงทุนที่ต่ำกว่าตลาด โดยเราคาดจะเห็นการเติบโตของกำไรที่ชะลอตัวลง และมูลค่าหุ้นที่เริ่มตึงตัว ดังนั้นเราจึงแนะนำ “ถือ” สําหรับ BAM และ JMT
แนวโน้มการเติบโตกลุ่มบริหารสินทรัพย์ปี 2566 ที่ไม่สดใส
เราคาดกําไรสุทธิรวมกลุ่มบริหารสินทรัพย์ที่เราให้คําแนะนําปี 2566 ที่ 5 พันล้านบาท เติบโต 10.8% YoY หนุนจากการเรียกเก็บเงินที่ 2.46 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.3% YoY ซึ่งน่าจะกลบผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น แต่ประมาณการเติบโตของกำไรปี 2566 ดังกล่าวถือว่าต่ำกว่าอัตราการเติบโตสะสมเฉลี่ยของปี 2562-65 ที่ 18.7% เราคาดกำไรปี 2566 ของ JMT จะขยายตัว 20.3% YoY (ต่ำกว่าอัตราการเติบโตสะสมเฉลี่ยของปี 2562-65 ที่ 36.7%) เราคาดการเติบโตของกำไรปี 2566 ของ BAM ที่เพียง 4.7% (กว่าอัตราการเติบโตสะสมเฉลี่ยของปี 2562-65 ที่ 17.1%)
สําหรับไตรมาส 1/66 เราคาดกําไรสุทธิรวมที่ 725 ล้านบาท เติบโต 6.7% YoY แต่ลดลง 46.6% QoQ (ตามปัจจัยทางฤดูกาล) เราคาดการเรียกเก็บเงินที่มากขึ้น 9% YoY (แต่ลดลง 29.8% QoQ) สําหรับไตรมาสดังกล่าว หนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและส่วนแบ่งรายได้จาก JK AMC (เริ่มต้น ดำเนินงานในไตรมาส 2/65 และรายงานกำไรในไตรมาส 3/65)
โอกาสมากมาย แต่การชำระหนี้เสียต้องใช้เวลา
ข้อมูลของธปท.แสดงให้เห็นว่ากลุ่มธนาคารของประเทศไทยมีสินเชื่อในระบบอยู่ที่ 18.3 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 คิดเป็นอัตราการเติบโตสะสมเฉลี่ยของปี 2555-65 ที่ 5% โดยสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อปรับตัวขึ้นจาก 2.2% ณ สิ้นปี 2565 มาอยู่ที่ 2.7% ณ สิ้นปี 2565 โดยธนาคารมีหนี้เสียรวมที่ 4.99 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 คิดเป็นอัตราการเติบโตสะสมเฉลี่ยของปี 2555- 65 ที่ 6.9% เมื่อเจาะเข้าไปดูหนี้เสียของผู้บริโภคที่ออกโดยธนาคาร (บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และการจำนองบ้าน) มีมูลค่ารวม 1.4 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 ซึ่งเป็นอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 8.9% ในปี 2555-65 ข้อมูลระบุว่าการเติบโตของหนี้เสียของผู้บริโภคนั้นเร็วกว่าอัตราการเติบโตของหนี้เสียในค่าเฉลี่ยของธนาคารโดยรวมถึง 1.3 เท่า
สินเชื่อกลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (SMLs) ของธนาคารในประเทศไทย โดยรวมอยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 คิดเป็นอัตราการเติบโตสะสมเฉลี่ยของปี 2555-65 ที่ 16.3% โดยสัดส่วน SMLs ต่อสินเชื่อปรับตัวขึ้นจาก 2.1% ณ สิ้นปี 2555 มาเป็น 6.2% ณ สิ้นปี 2565 โดยสินเชื่อกลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษของผู้บริโภครวมอยู่ที่ 3.52 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 คิดเป็นอัตราการเติบโตสะสมเฉลี่ยของปี 2555-65 ที่ 15.2% โดยรวมสินเชื่อด้อยคุณภาพและหนี้เสียมีจำนวนมาก ซึ่งทั้ง BAM และ JMT มีความเชี่ยวชาญในการบริหารหนี้เสีย แต่หนี้เสียอาจใช้เวลานานในการชำระ โดยเฉพาะหนี้เสียที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งโดยทั่วไปอาจใช้เวลา 5-6 ปี จึงจะชำระได้ เนื่องจากกระบวนการยืดอสังหาฯ ในศาลมักใช้เวลาหลายปี โดยทั่วไปหนี้เสียที่ไม่มีหลักประกันจะใช้เวลา 1-2 ปีจึงจะเริ่มหนุนกำไรสุทธิ
มูลค่าที่เริ่มตึงตัว
นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ราคาหุ้น BAM ปรับตัวลง 23% และ JMT ลง 42% ตามงบที่ออกมาต่ำกว่าคาด และความกังวลต่อการเติบโตของกำไรที่ชะลอตัวลงในกลุ่มบริหารสินทรัพย์ โดยบริษัทที่เราให้คำแนะนำ ปัจจุบันซื้อขายบน PER ปี 2566 เฉลี่ยที่ 20 เท่า (ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี อยู่ 35%) ขณะที่เราคาดอัตราการเติบโตสะสมเฉลี่ยของกำไรปี 2566-68 ที่ 12.1% (ต่ำกว่าอัตราการเติบโตสะสมเฉลี่ยของปี 2562-65 ที่ 18.7%) คิดเป็น PEG ที่ 1.6 เท่า ซึ่งดูค่อนข้างตึงๆ เราจึงให้น้ำหนักการลงทุนที่ต่ำกว่าตลาด และแนะนำ “ถือ” ต่อทั้ง BAM และ JMT