AMA กวาดกำไร Q1/66 ที่ 80.17 ลบ. โตสนั่น 16,964.71% ค่าระวางเรือพุ่ง ปริมาณขนส่งสูง Utilization Rate เกือบ 100%
“อาม่า มารีน” กวาดกำไร Q1/66 ที่ 80.17 ลบ. เพิ่มขึ้น 16,964.71% พร้อมโกยรายได้ที่ 754.31 ลบ. พุ่งกระฉูด 25.58%YOY หลังค่าระวางเรือพุ่งสูง ปริมาณขนส่งเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ Utilization Rate เกือบเต็ม 100% รับอานิสงส์ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง
นายพิศาล รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ AMA เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 บริษัทมีรายได้รวม 754.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 153.67 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 25.58% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวม 600.64 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการขนส่งสินค้าทางเรือ 423.98 ล้านบาท และรายได้จากการขนส่งสินค้าทางรถ 330.33 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 80.17 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80.64 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 16,964.71% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 0.48 ล้านบาท
โดยที่รายได้ และกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากอัตราค่าระวางเรือที่สูงขึ้น 37.57% และปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น 9.15% รวมถึงอัตราการใช้งานกองเรือเฉลี่ย หรือ Utilization Rate ที่ดีขึ้นมาอยู่ที่ 98.72% ในขณะที่ราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนหลักในการให้บริการขนส่งสินค้าปรับตัวลดลง โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยอยู่ที่ 82.06 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 16.15% จากราคาเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กลุ่มธุรกิจการขนส่งสินค้าทางรถมีรายได้เพิ่มขึ้น 3.75% จากสถานการณ์โรคระบาดที่คลี่คลาย และมีแนวโน้มดีขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน
ในขณะที่ภาพรวมของธุรกิจ บริษัทคาดการณ์ว่าธุรกิจบริการขนส่งสินค้าทางถนนมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3-5% ต่อปี สำหรับช่วงปี 2565-2567 จากปัจจัยสนับสนุน หลัก คือ การเติบโตของภาคการผลิต การค้าและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ รวมถึงปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับดีขึ้น อานิสงส์การค้าชายแดนและผ่านแดนที่ขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงธุรกรรมการค้าออนไลน์ และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ด้านธุรกิจบริการขนส่งสินค้าทางเรืออาจจะมีแนวโน้มที่ราคาปาล์มดิบเฉลี่ยในปี 2566 อาจจะต่ำกว่าราคาเฉลี่ยปี 2565 จากผลผลิตน้ำมันถั่วเหลืองที่มากขึ้นซึ่งกดดันราคาน้ำมันพืชทั่วโลก
“ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เราสามารถเติบโตได้ดีเมื่อเทียบกับปีก่อนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลายลงในหลายภูมิภาคทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดิบก็ยังมีแรงกดดันอยู่บ้าง รวมถึงราคาน้ำมันดิบยังมีความผันผวนจากหลายปัจจัย ทั้งในเรื่องความกังวลในเรื่องของอุปทานน้ำมันดิบ และความกังวลถึงภาคการเงิน รวมถึงความกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่งผลกระทบถึงราคาน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลก แต่เราเองก็มีแผนที่จะขยายการลงทุนไปยังธุรกิจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อสร้างการเติบโตที่อย่างต่อเนื่อง” นายพิศาลกล่าว