บล.เคจีไอ (ประเทศไทย):
KCE Electronics (KCE.BK/KCETB)*
ยังต้องรอกันไปก่อน
Event
ประชุมนักวิเคราะห์
Impact
ผลประกอบการจะไม่หวือหวาใน 2Q66 แต่คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นใน 2H66
เราคาดว่ากำไรของ KCE จะทรงตัว หรือขยับเพิ่มขึ้น QoQ แต่จะยังคงลดลง YoY ในไตรมาสที่สอง เนื่องจากปัจจัยที่มีทั้งบวกและลบ ได้แก่ i) ยอดขายทรงตัว ii) อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น และ iii) ต้นทุนสาธารณูปโภคแพงขึ้น ทั้งนี้ ยอดขายใน 1Q66 ลดลงอยู่ที่ 119 ล้านดอลลาร์ฯ (-13% YoY, -7% QoQ) เนื่องจากลูกค้าปรับจำนวนสต็อกสะท้อนความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก บริษัทยังไม่เห็นการฟื้นตัวของยอดขายในไตรมาสที่สอง (ยอดขายน่าจะทรงตัวใน 2Q66) อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่ายอดขายจะฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ 3Q66 เป็นต้นไป เนื่องจาก i) เริ่มเห็นคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม และมิถุนายน ii) จะมีการติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มเติมใน 2Q66-3Q66 ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตของ HDI เพิ่มขึ้น อัตรากำไรขั้นต้นมีโอกาสฟื้นตัวขึ้นใน 2Q66 เนื่องจากมีสัดส่วนของวัตถุดิบที่มีต้นทุนสูงลดลง และบริษัทมองว่าต้นทุนวัตถุดิบมีแนวโน้มลดลง ในขณะเดียวกัน ต้นทุนสาธารณูปโภคที่เพิ่มขึ้นจะกดดันผลประกอบการใน 2Q66 ทั้งนี้ ต้นทุนสาธารณูปโภคคิดเป็นประมาณ 5% ของยอดขายรวมในปี 2565 ในขณะที่คิดเป็น 7% ของยอดขายรวมใน 1Q66
เศรษฐกิจถดถอยยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง แม้ว่าจะยังไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในปัจจุบัน
บริษัทยังไม่พบว่ายอดคำสั่งซื้อได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ แต่ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอยยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตา และอาจะทำให้ช่วงเวลาในการ destock ของอุตสาหกรรมยานยนต์ยาวขึ้นไปอีก ดังนั้น KCE จึงเลื่อนการขยายโรงงานแห่งใหม่ที่ Rojana ออกไป เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตในปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และรอการยืนยันสัญญาณว่ามีอุปสงค์ที่กลับมาแข็งแกร่งเสียก่อน บริษัทคาดว่าการขยายธุรกิจไปสู่ HDI จะเป็นกลยุทธ์ของบริษัทในการเพิ่มยอดขายในครึ่งหลังของปีนี้
Valuation & action
เรายังคงราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 ไว้ที่ 36.50 บาท อิงจาก PER ที่ 22.0x (ค่าเฉลี่ยในอดีต -0.5 S.D.) และ ยังคงคำแนะนำ “ถือ” เราแนะนำให้นักลงทุนรอดูสถานการณ์ และจับตาผลประกอบการ 2Q66 ไปก่อน โดยเรามองว่า 2H66 อาจจะเป็นจังหวะที่เหมาะสำหรับการกลับมาพิจารณาหุ้น KCE อีกครั้ง
Risks ภัยธรรมชาติ, มีการปิดโรงงานนอกแผน, ลูกค้าเปลี่ยนไปสั่งสินค้าจาก supplier รายอื่น, ขาดแคลน วัตถุดิบ, เงินบาทแข็งค่าขึ้น (เราใช้สมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนปี 2566-67 ที่ 33.80 บาท/ดอลลาร์ฯ)