ฟิลเตอร์ วิชั่น “FVC” ปิดดีลคว้างานใหม่ มูลค่ารวม 49.67 ลบ. เล็งขยาย 3 ธุรกิจ ระบบน้ำภาคอุตสาหกรรม – พาณิชย์ – บริการทางการแพทย์ เติบโตต่อเนื่อง
บมจ. ฟิลเตอร์ วิชั่น (“FVC”) เสิร์ฟข่าวดี ล่าสุดคว้างานใหม่ 12 งานมูลค่ารวม 49.67 ล้านบาท คาดติดตั้งให้แล้วเสร็จ Q2–4/66 พร้อมประกาศเดินเกมรุกเร่ง ขยาย 3 กลุ่มธุรกิจ สอดรับเศรษฐกิจฟื้น หนุนการใช้งานระบบน้ำทั้งภาคอุตสาหกรรม – พาณิชย์ และที่พักอาศัย ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่ม ธุรกิจบริการทางการแพทย์ ในกลุ่ม KTMS สยายปีกลุยเปิดสาขา และเครื่องไตเทียม ต่อเนื่อง มั่นใจภาพรวมของกลุ่มธุรกิจปรับตัวเชิงบวก ขณะที่ผลการดำเนินงาน Q1/2566 กวาดรายได้จากการขาย และบริการ 214.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.88% (YoY) และมีกำไรสุทธิในส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่ จำนวน 8.14 ล้านบาท
นายวิจิตร เตชะเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลเตอร์ วิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ (“FVC”) เปิดเผยว่า ล่าสุดกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการด้านระบบน้ำ ได้รับคำสั่งซื้อจากกลุ่มลูกค้า 12 งานมูลค่ารวม 49.67 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถติดตั้งระบบดังกล่าวแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2566 นี้ และคาดว่าจะเริ่มทยอยรับรู้รายได้เข้ามาตั้งแต่ เดือนพฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ สำหรับในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการด้านระบบน้ำ บริษัทฯ ยังคงวางกลยุทธ์การตลาด เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำในเทคโนโลยีบำบัดและการฆ่าเชื้อในน้ำมาช่วยแก้ปัญหาให้ลูกค้า ภายใต้การขยายงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเสนอผลิตภัณฑ์และโครงการสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมชั้นนำขนาดใหญ่
สำหรับทิศทางการตลาดของส่วนธุรกิจดังกล่าว เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยตั้งแต่ปลายไตรมาส ที่ 4/2565 บริษัทฯ สามารถเข้าดำเนินงานโครงการระบบน้ำขนาดใหญ่แล้วเสร็จต่อเนื่องตามที่วางไว้ ส่งผลให้บริษัทฯ จะเริ่มทยอยรับรู้รายได้เข้ามาตามแผนกำหนด และคาดว่าหลังจากนี้บริษัทฯจะมีงานใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของกลุ่มลูกค้าครัวเรือน รวมถึงลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ที่กลับมาลงทุนในระบบบำบัดน้ำ
ขณะที่กลุ่มธุรกิจพาณิชย์และที่พักอาศัย (B2) จากสถานการณ์ฟื้นตัวเศรษฐกิจ แบบค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้ภาคธุรกิจเริ่มส่งสัญญาณบวก ทำให้ลูกค้าของบริษัทฯ ในกลุ่มร้านอาหาร รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ กลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยสะท้อนจากการกลับมาเปิดดำเนินกิจการในสภาวะปกติ ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวทำให้คำสั่งซื้ออะไหล่ ไส้กรอง อุปกรณ์กรองน้ำ รวมถึงงานบริการดูแลบำรุงรักษา เริ่มกลับมาทยอยเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสอดรับกับการที่ลูกค้าเตรียมแผนงานติดตั้งระบบน้ำใหม่ ประกอบกับจากผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาด ส่งผลให้ลูกค้ามีความใส่ใจในเรื่องสุขภาพ ความสะอาดของอาหารและเครื่องดื่มเกี่ยวกับการจัดการเรื่องเชื้อปนเปื้อนในอาหาร ทำให้บริษัทฯ มีโอกาสในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับโอโซน เช่น เครื่องผลิตน้ำดื่มไฮโดรเจนและน้ำโอโซนให้กับลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่มชั้นนำได้เพิ่มขึ้น
ส่วนกลุ่มธุรกิจบริการทางการแพทย์(B3)หรือกลุ่มบมจ.เคที เมดิคอล เซอร์วิส “KTMS” นั้น ปัจจุบันทาง KTMS มีการวางกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยการขยายสาขาและเพิ่มเครื่องไตเทียม ซึ่งมีการตั้งเป้าปี 2566 จะขยายสาขาประมาณ 4 – 9 แห่ง และเครื่องไตเทียมประมาณ 70 – 82 เครื่อง ขณะที่บริษัท เนโฟรวิชั่น จำกัด ( ภายใต้บริษัทย่อย KTMS) ปัจจุบันมีแผนสำหรับการเปิดสาขา และซื้อเครื่องไตเทียม ในปี 2566 โดยจะเปิดสาขา 1 – 2 แห่ง และซื้อเครื่องไตเทียมประมาณ 16 – 24 เครื่อง เช่นเดียวกันบริษัท เออร์วิง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ปัจจุบันบริษัทฯได้รับสั่งซื้องานติดตั้งระบบน้ำจากลูกค้าแล้ว 8 โครงการ มูลค่ารวม 6.00 ล้านบาท โดยคาดว่าจะติดตั้งให้แล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2 ถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2566 และในส่วนของ บริษัท เมดิคอล วิชั่น จำกัด ได้รับคำสั่งซื้องานติดตั้งท่อลมรับ-ส่ง สิ่งส่งตรวจทางการแพทย์จากลูกค้าแล้ว 9 โครงการ มูลค่ารวม 16.05 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งและคาดว่าแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2566นี้
อย่างไรก็ตาม จากแผนการดำเนินงานของการให้บริการทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจ จะหนุนการอัตราการเติบโตรายได้ของ FVC ในปี 2566 แตะระดับพันล้านบาท ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มโอกาสการเติบโตให้กลุ่มบริษัทมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการ จำนวน 214.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.88% (YoY) และมีกำไรสุทธิในส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทใหญ่ จำนวน 8.14 ล้านบาท ทั้งนี้แม้ผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกจะปรับเพิ่มขึ้น แต่บริษัทฯ ก็ยังคงจับตาภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่มีตัวแปรหลักเรื่องอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความยืดเยื้อของสงครามระหว่างรัสเซีย และ ยูเครน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อต้นทุนด้านพลังงาน ต้นทุนสินค้า และบริการของกลุ่มบริษัทฯเพิ่มสูงขึ้น
“ตั้งแต่ต้นปี 2566 เศรษฐกิจของไทยกลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม โรงแรม กลับมาเปิดดำเนินงานอย่างเต็มรูปแบบ ส่งผลให้กำลังซื้อภาคครัวเรือน และธุรกิจภาคอุตสาหกรรมของไทยทยอยฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด และจากปัจจัยดังกล่าวทำให้ การดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯเติบโตเพิ่มขึ้น 12.88 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน”