SJWD ประกาศแผนรุกใหญ่ขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค เตรียมถือหุ้น SCG Inter Vietnam เพิ่มรายได้จากบริการแก่ธุรกิจเครือ SCG ในเวียดนาม
SJWD ประกาศแผนรุกใหญ่ขยายธุรกิจในระดับภูมิภาค เตรียมถือหุ้น SCG Inter Vietnam เพิ่มรายได้จากบริการแก่ธุรกิจเครือ SCG ในเวียดนาม วางกลยุทธ์นำซักเซสโมเดล ‘คลังสินค้าห้องเย็น’ และ ‘โลจิสติกส์ยานยนต์’ บุกต่างประเทศ
บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD ประกาศแผนขยายธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในภูมิภาคอาเซียนหลังรวมกิจการ เดินหน้าแผนงาน 5 ส่วน ผลักดันเป้าหมายรายได้ปีนี้ 30,000 ล้านบาท ภายใต้งบลงทุนรวม 3,500-5,000 ล้านบาท และวางเป้าหมายรายได้ 3 ปีข้างหน้า (ปี 2567-2569) เติบโตเฉลี่ย 12% ต่อปี นำร่องผสานความร่วมมือลดต้นทุนจากการรวมคำสั่งซื้อสินค้าและบริการ มุ่งขยายธุรกิจเดิมและรุกบริการใหม่ เตรียมลุยดีลใหญ่เข้าถือหุ้น 100% ใน SCG Inter Vietnam เพื่อให้บริการแก่ธุรกิจเครือ SCG และลูกค้าทั่วไปในเวียดนาม รุกให้บริการขนส่งสินค้าข้ามแดนกัมพูชา-ไทยแบบ “ไฮบริด โมเดล” ทางรางและรถ วางแผนนำโมเดล “คลังสินค้าห้องเย็น” และ “โลจิสติกส์ยานยนต์” ในไทย บุกเวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์
นายบรรณ เกษมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน เปิดเผยว่า หลังจากบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ได้รวมกิจการเป็นบริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD ตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ผสานความร่วมมือตามแผนงาน 5 ส่วนที่วางไว้ ได้แก่ (1) การประหยัดต้นทุนและเพิ่มรายได้จากการ Cross-Sale และ Up-Sale จากฐานลูกค้าเดิม (2) สร้างมูลค่าเพิ่มแก่บริการเดิมที่แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ (3) เชื่อมต่อการให้บริการในภูมิภาคอาเซียนแบบไร้รอยต่อโดยนำโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทยไปขยายในอาเซียน (4) ให้บริการแบบ D2C (Direct to Consumer) ตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป และ (5) ขยายขอบเขตการให้บริการอย่างต่อเนื่องไปยังธุรกิจใหม่ โดยบริษัทฯ วางเป้าหมายปี 2566 มีรายได้รวม 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งสัดส่วนเป็นรายได้จากในประเทศไทยประมาณ 90% และต่างประเทศอีก 10% พร้อมตั้งงบลงทุนรวม 3,500-5,000 ล้านบาท และคาดหวังปิดดีล M&A เพิ่มเติมได้ภายในปีนี้ ส่วนเป้าหมายระยะยาวในปี 2569 หรืออีก 3 ปีข้างหน้า จะมียอดขายเติบโตเฉลี่ยปีละ 12% โดยคาดว่าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 30%
ทั้งนี้ หลังจากรวมกิจการแล้วในช่วงที่ผ่านมาได้ผสานความร่วมมือกันเพื่อลดต้นทุนแล้วบางส่วน ได้แก่ การรวมคำสั่งซื้อสินค้าและบริการ เช่น การใช้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ, ซื้อประกันภัย เป็นต้น การรวมฟลีตรถและเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการ การปรับอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทฯ โดยบริษัทจัดอันดับเครดิตซึ่งจะมีผลต่อการลดต้นทุนทางการเงิน นอกจากนี้ได้ใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้าของทั้ง 2 ฝ่ายทำ Cross-Sale และ Up-Sale เพื่อเพิ่มรายได้ในอนาคต ส่วนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริการเดิม การเชื่อมต่อบริการในภูมิภาคอาเซียนโดยนำโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในไทยไปต่อยอด การให้บริการแบบ D2C และการขยายขอบเขตการบริการไปยังธุรกิจใหม่นั้น จะดำเนินการภายใต้แผนยุทธศาสตร์ขยายธุรกิจในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ขยายธุรกิจในไทยและอาเซียน ล่าสุดเตรียมเข้าซื้อหุ้น 100% ในบริษัท เอสซีจี อินเตอร์ เวียดนาม จำกัด หรือ SCG Inter Vietnam จากบริษัท เอสซีจี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตามแผนงานที่วางไว้ โดยปัจจุบัน SCG Inter Vietnam เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในประเทศเวียดนาม มีลูกค้าหลักเป็นธุรกิจในเครือ SCG และให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป ล่าสุดเตรียมให้บริการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายแก่สินค้าเคมีภัณฑ์ในโครงการ Long Son Petrochemicals (LSP) ซึ่งเป็นโครงการคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมีขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศเวียดนาม ที่ลงทุนโดยเครือ SCG คาดว่าการเข้าซื้อหุ้นดังกล่าวจะแล้วเสร็จในวันที่ 1 มิถุนายน 2567 และบริษัทฯ คาดว่าในช่วงแรกจะรับรู้รายได้จาก SCG Inter Vietnam 800-1,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ได้วางแผนร่วมมือกับ Transimex Corporation ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ท้องถิ่นที่เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ชั้นนำในประเทศเวียดนามเพื่อร่วมกันขยายธุรกิจในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการขยายขอบเขตการบริการไปยังธุรกิจใหม่ บริษัทฯ ได้ต่อความเชี่ยวชาญด้านการให้บริการขนส่งสินค้าข้ามแดนของทั้ง 2 ฝ่าย กับ Cambodia Railway พาร์ทเนอร์จากกัมพูชา เพื่อให้บริการขนส่งสินค้าข้ามแดนจากกัมพูชา-ไทย ในรูปแบบแบบ “ไฮบริด โมเดล” ครอบคลุมการขนส่งทางรางและทางรถ ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการให้บริการและช่วยลดต้นทุนแก่ลูกค้า โดยบริษัทฯ ถือเป็นผู้ประกอบการรายแรกในไทยที่สามารถให้บริการขนส่งสินค้าข้ามแดนจากกัมพูชา-ไทย แบบไฮบริดและ “Door-to-Door Service” (จากผู้ส่งถึงผู้รับ) ตอกย้ำการเป็นFirst Mover ในการนำเสนอบริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน นอกจากนี้ได้วางแผนยกระดับธุรกิจโรงเรียนสอนขับรถ เป็น “สถาบันสอนขับรถ” เพื่อขยายบริการฝึกอบรมแก่บุคลากรภายในเครือ SCG ไปยังลูกค้าภายนอก
นายชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม SJWD กล่าวว่า บริษัทฯ วางแผนขยายธุรกิจเดิมและรุกให้บริการใหม่ ๆ ผ่านการร่วมทุนและทำ M&A โดยเตรียมนำโมเดลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย ต่อยอดขยายการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนเพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายการให้บริการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในระดับภูมิภาคและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
ล่าสุด บริษัทฯ ได้ขยายธุรกิจให้บริการขนส่งชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย โดยมีแผนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในประเทศ เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการขนส่งชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ไปยังโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรและจัดส่งแก่ดีลเลอร์รถทั่วประเทศ คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้บางส่วนในปีหน้าและรับรู้รายได้เต็มปีตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
พร้อมกันนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างวางแผนนำโมเดลธุรกิจ “คลังสินค้าห้องเย็น” และ “โลจิสติกส์ยานยนต์” ไปขยายการลงทุนในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรสูงสุด 3 อันดับแรกในอาเซียน รูปแบบจะเป็นการเข้าถือหุ้นหรือร่วมลงทุนกับพาร์ทเนอร์ในแต่ละประเทศ โดยมองว่าทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวมีศักยภาพสูง เนื่องจากมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้มีความต้องการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นและยังเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาคอีกด้วย
นอกจากนี้ ได้วางแผนขยายการให้บริการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิไปยังกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น ยาและเวชภัณฑ์, สินค้าเพื่อสุขภาพเป็นต้น ซึ่งจะต่อยอดจากความเชี่ยวชาญในบริการคลังสินค้าห้องเย็นและรถขนส่งควบคุมอุณหภูมิสำหรับวัคซีน โดยได้วางงบลงทุน (เฉพาะธุรกิจขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิ) ตามแผน 5 ปี ประมาณ 450 ล้านบาท
“หลังจากรวมกิจการเป็น เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ ทำให้บริษัทฯ มีความแข็งแกร่งและศักยภาพเพิ่มขึ้น โดยผสานความเชี่ยวชาญ เพื่อรุกขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และพร้อมรับมือกับการแข่งขันในอุตสาหกรรมและความท้าทายจากปัจจัยต่าง ๆ”นายชวนินทร์ กล่าว