บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง:
Thanachart Capital (TCAP TB)
ราคาหุ้นสะท้อนกลยุทธ์การเติบโตที่ดีในปัจจุบัน
ถือ เพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 54 บาท ชอบ TTB มากกว่า
เราคงคำแนะนำ “ถือ” ขณะที่เพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 54 บาท จาก 45 บาท จากการเพิ่มประมาณการรายได้และสัดส่วนการถือหุ้นที่สูงขึ้นในบริษัทโฮลดิ้ง และบริษัทย่อย แม้คาดว่ากำไรของ TCAP จะเติบโต 16% ในปีนี้และ 7% ในปีหน้า แต่เราเชื่อว่าราคาหุ้นได้ตอบรับปัจจัยแนวโน้มที่แข็งแกร่งไปแล้ว เนื่องจากราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นแล้ว 30% และ Outperform ดัชนี SET Index ไปถึง 38% ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้เราชอบ TTB (ราคาปิด 1.55 บาท, ซื้อ, ราคาเป้าหมาย 1.70 บาท) มากกว่า TCAP เนื่งจาก TTB มีการเติบโตของกำไรที่แข็งแกร่งกว่า โดยหลังจากที่ TCAP เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน TTB จนถึงขีดจำกัดแล้ว ตอนนี้เราคาดว่า TCAP จะใช้สภาพคล่องในการขยายสินเช่ือ Tplus และเพิ่มความเสี่ยงใน THANI
เพิ่มประมาณการกำไรสุทธิขึ้น 18-21% ในปี 66-67
เราปรับเพิ่มคาดการณ์กำไรขึ้น 18-21% หลังจากรวมปัจจัยปรับเพิ่มประมาณการกำไรของ TTB ในวันที่ 19 พ.ค.66 (TMB Thanachart Bank) และสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทย่อยที่สูงขึ้นเข้าไปในโมเดลของเรา โดยเราคาดว่ากำไรของ TCAP จะเติบโต 16%/7% ในปี 66-67 ทั้งนี้ใน 1Q66 กำไรของ TCAP เพิ่มขึ้น 52%YoY และ 45%QoQ แตะระดับ 1.58 พันล้านบาท (คิดเป็น 26% ของประมาณการกำไรปี 66 ของเรา) โดยมีปัจจัยหนุนหลักมาจากส่วนแบ่งกำไรที่เพิ่มขึ้นจากบริษัทร่วม 1.1 พันล้านบาท (+88%YoY และ 15%QoQ) ทั้งนี้เราคาดว่ากำไรจะเติบโตในอัตราที่ช้าลงในไตรมาส 2-3/66 จากผลของฐานที่สูง ขณะที่ ROE ของบริษัทคาดว่าจะสูงถึง 8.9-9.1% ในปี 66- 67 จาก 7.9% ในปี 65
ราคาหุ้นสะท้อนกลยุทธ์การเติบโตที่ดีในปัจจุบัน
การเติบโตของ TCAP ส่วนใหญ่ ได้รับแรงหนุนจากการเปลี่ยนจากตั๋วเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำ ไปสู่การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทย่อย อย่างไรก็ตาม เราคาดว่ากลยุทธ์การเติบโตดังกล่าวน่าจะถึงจุดชะลอตัว เนื่องจากการเข้าถือหุ้นในบริษัทย่อยชนเพดานแล้ว ส่งผลให้อัพไซด์เริ่มจำกัด ทั้งนี้ TCAP ได้เปลี่ยนจากการลงทุนใน T-bills เป็นการ ลงทุนในบริษัทร่วมโดยใช้วงเงิน 8 พันล้านบาท ในการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน TTB, ธนชาตประกันภัย (TNI, ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) และหลักทรัพย์ธนชาต (TNS, ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) เพื่อเพิ่ม ROE ระยะยาว โดยที่บริษัทเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ใน TTB จาก 23.30% ในไตรมาส 1/65 เป็น 24.95% ในไตรมาส 1/66 และยังเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน TNI และ TNS จาก 50.96% เป็น 89.96% ซึ่งสัดส่วนการถือหุ้นของ TCAP ใน TTB จะไม่เกิน 24.99% ซึ่งเป็นขีดจำกัดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ทำไมเราถึงชอบ TTB มากกว่า TCAP
เราคาดการณ์กำไร 3 ปีของ TTB ที่ 15%CARG เทียบกับ TCAP ที่เติบโต 11% ในปี 65-68 หุ้นทั้งสองเทรดกันที่ PER ปี 66 ที่ 8.6 เท่า แต่เราคาดว่า ROE ของ TTB จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่า TCAP ขณะที่ TCAP ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูงกว่าในปี 66 แต่ผลตอบแทนของ TTB มีแนวโน้มสูงกว่า TCAP ในปี 67 จากอัตราการจ่ายที่สูงกว่า โดยสรุปแล้วรายได้ของ TCAP ได้รับแรงหนุนหลักจากการเติบโตของกำไรสุทธิใน TTB ดังนั้น เราจึงแนะนำให้ลงทุนใน TTB โดยตรงมากกว่า TCAP เนื่องจาก Valuation Gap ค่อนข้างแคบ เรามองว่าผลประกอบการของ TTB น่าจะดีกว่า เนื่องจากบริษัทในเครือของ TCAP บางแห่งยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด