บล.กรุงศรีฯ:
INVESTMENT STRATEGY – การฟื้นตัวในเศรษฐกิจไทยขึ้นกับภาคบริการล้วนๆ
- What’s new?
รายงานภาวะเศรษฐกิจรายเดือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือนเม.ย.แสดงแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลงอย่างมาก สอดคล้องกับตัวเลขการค้าต่างประเทศที่อ่อนแอที่ประกาศออกมาก่อนหน้านี้ โดยในฝั่งอุปทาน กิจกรรมในภาคการผลิตหดตัวลงแรงขึ้นที่ -8.1% yoy จาก -3.9% ในเดือนมี.ค. ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (capacity utilization) ลดลงเหลือ 59% (จาก 60.9%) ซึ่งเป็นการชะลอตัวในวงกว้าง โดยมี 10 หมวดจากทั้งหมด 11 หมวดที่หดตัว yoy ยกเว้นเพียงหมวดปิโตรเลียมที่ยังเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย ทั้งนี้ ยอดผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (passenger car) เป็นหมวดย่อยเพียงหมวดเดียว (ในกลุ่มยานยนต์) ที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งที่ 13.8% yoy ส่วนทางฝั่งอุปสงค์ การบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น 7.6% yoy แต่สาเหตุเดียวที่ทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้นคือการจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อบริการที่โตถึง 24% ในขณะเดียวกัน การจับจ่ายเพื่อซื้อสินค้าคงทน (1.3% จาก 3%) สินค้ากึ่งคงทน (-1.4% จาก 1.3%) และสินค้าไม่คงทน (0.9% จาก 2.1%) มีแนวโน้มลดลงทั้ง yoy และ mom ทำให้ตีความได้ว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะเผชิญอุปสรรคที่แข็งแกร่งมากใน 3Q ซึ่งเป็นช่วง low season ของภาคบริการ ส่วนทางฝั่งของการลงทุน กิจกรรมการลงทุนยังคงอ่อนแออย่างมากตามคาด โดยการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลง 17.8% yoy แต่ยังมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง คือตลาดงานโดยรวมที่ยังแข็งแกร่ง ซึ่งทำให้มีจำนวนลูกจ้างเข้าจดทะเบียนประกันสังคมเพิ่มขึ้นในเดือนเม.ย.
- Analysis
โมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในทุกด้าน การฟื้นตัวขึ้นอยู่กับภาคบริการเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เราพบว่าดัชนีภาคบริการกลับขึ้นไปถึงระดับก่อน COVID ระบาดแล้ว ดังนั้น เราจึงมองว่าการที่ภาคบริการจะขึ้นไปสูงกว่าระดับสูงสุดในอดีตเป็นความท้าทาย อย่างน้อยก็ใน 3Q23 นอกจากนี้ เราคิดว่าเศรษฐกิจยังมีโอกาสที่จะชะลอตัวลงได้อีก เพราะภาคการผลิตทั่วโลก และการค้าระหว่างประเทศยังคงอยู่ในขาลง นอกจากนี้ ธปท. ยังขึ้นดอกเบี้ยอีก 25bp ในการประชุมรอบล่าสุดซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดเอาไว้ สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย การตัดสินใจในช่วงต่อไปจะขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งหมายความว่าเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงเร็วขึ้น และเงินเฟ้อที่ลดลงเร็วขึ้นน่าจะทำให้ ธปท. คงดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ระดับนี้ยาวไปจนถึงสิ้นปี สำหรับประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ ธปท. ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของ GDP ไว้ที่ 3.6% แต่เราคิดว่ามีโอกาสมากขึ้นที่จะมีการปรับลดประมาณการดังกล่าวลงในอนาคต ทั้งนี้เรามองว่าดอกเบี้ยดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะถึงจุดสูงสุดแล้ว ซึ่งจะเป็นแรงส่งด้านบวกต่อหุ้นในกลุ่มขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ วัสดุก่อสร้าง และสื่อ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขึ้นได้มากที่สุดหลังจากธนาคารหยุดขึ้นดอกเบี้ยจากสถิติอดีต