รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ด้วยเหตุนำเงินของลูกค้าไปใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยมิได้รับอนุญาต และไม่นำมาคืนภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการ ก.ต.ท. กำหนด และไม่สามารถแก้ไขการดำเนินงานเพื่อจัดให้มีระบบงานในการป้องกันมิให้เกิดการนำเงินของลูกค้าไปใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยลูกค้ามิได้อนุญาตภายในระยะเวลาที่กำหนด

สืบเนื่องจากในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เข้าตรวจสอบการดำเนินงานของหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด (บล. เอเชีย เวลท์) พบว่า เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 บล. เอเชีย เวลท์ ได้นำเงินของลูกค้าจำนวน 154 ล้านบาท ไปใช้ชำระค่าซื้อหลักทรัพย์บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) (MORE) กับบริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นการนำเงินของลูกค้าไปใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยที่ลูกค้ามิได้อนุญาต โดยสาเหตุเกิดจากลูกค้าที่ซื้อหลักทรัพย์ MORE ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ไม่สามารถชำระราคาได้

สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นว่า บล. เอเชีย เวลท์ มีการดำเนินงานในลักษณะที่อาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์ของประชาชน จึงได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการกำกับตลาดทุน (คณะกรรมการ ก.ต.ท.) ซึ่งคณะกรรมการ ก.ต.ท. อาศัยอำนาจตามมาตรา 143 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) สั่งให้ บล. เอเชีย เวลท์ แก้ไขการดำเนินงาน โดยให้นำทรัพย์สินของลูกค้าที่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์มาคืนและให้จัดให้มีระบบงานการป้องกันมิให้เกิดการนำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยลูกค้ามิได้อนุญาตภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งต่อมา บล. เอเชีย เวลท์ ไม่สามารถดำเนินการภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการ ก.ต.ท. กำหนดได้ ทั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ต.ท. มีมติไม่ขยายระยะเวลาให้กับ บล. เอเชีย เวลท์ ตามที่ได้ขอขยายระยะดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว โดยได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ของการดำเนินการ รวมทั้งความเหมาะสมและการป้องกันผลกระทบต่อทรัพย์สินของลูกค้าแล้ว

สำนักงาน ก.ล.ต. จึงนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 16/2565 วันที่ 1 ธันวาคม 2565 ซึ่งคณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า บล. เอเชีย เวลท์ ไม่ได้นำทรัพย์สินของลูกค้าที่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์มาคืนภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการ ก.ต.ท. กำหนด และไม่สามารถแก้ไขการดำเนินงานเพื่อจัดให้มีระบบงานในการป้องกันการนำเงินของลูกค้าไปใช้ผิดวัตถุประสงค์โดยที่ลูกค้ามิได้อนุญาตตามการสั่งการของคณะกรรมการ ก.ต.ท. ได้ ประกอบกับการที่บริษัทนำเงินของลูกค้าไปใช้ในครั้งนี้ มิได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่เคยกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวมาแล้ว รวมทั้งก่อนเกิดเหตุการนำเงินของลูกค้าไปใช้ในครั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้เตือน บล. เอเชีย เวลท์ แล้วว่า บริษัทจะต้องไม่นำเงินลูกค้าไปใช้ แต่บริษัทยังคงกระทำการที่เป็นความผิดซ้ำอีกโดยที่บริษัทรู้ว่ากระทำมิได้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ก* ของ บล. เอเชีย เวลท์ ตามมาตรา 143 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้อสั่งการของคณะกรรมการ ก.ต.ท. ตามมาตรา 143 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 143 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ก ของบริษัท โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2566

อนึ่ง สำหรับลูกค้า บล. เอเชีย เวลท์ ขอให้ติดต่อขอรับทรัพย์สินที่ฝากไว้กับ บล. เอเชีย เวลท์ คืน โดยติดต่อผ่านช่องทางของบริษัท หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อขอคำแนะนำได้ที่ “ศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต.” โทร 1207 หรือผ่านช่องทางเฟซบุ๊กเพจ “สำนักงาน กลต.” หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. หรืออีเมล info@sec.or.th

____________________________

หมายเหตุ:

*ใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบ ก (ของ บล. เอเชีย เวลท์) ซึ่งประกอบด้วย การประกอบธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ การจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ กิจการการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ การจัดการกองทุนส่วนบุคคล และการค้าหลักทรัพย์

- Advertisement -