บล.บัวหลวง: 

GFPT (GFPT TB/GFPT.BK)

GFPT – เข้ากับธีมการลงทุน “กำไรผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว”

เราชอบกลุ่มผู้ประกอบการไก่ไทยมากกว่ากลุ่มผู้ประกอบการหมูไทย ณ ปัจจุบันภายใต้ภาวะที่ราคาไก่ไทยมีความผันผวนน้อยกว่า ราคาหมูไทยสําหรับในรอบนี้ เรามองว่าหุ้น GFPT เข้ากับธีมการลงทุนในหุ้นที่กำไรผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และมูลค่าหุ้น ณ ปัจจุบันที่ยังคงถูก โดยมีปัจจัยหนุนจากกำไรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น QoQ สําหรับในไตรมาส 2/66-3/66 ซึ่งได้อานิสงค์จากช่วงไฮซีซั่นและราคาไก่ ที่ยังคงยืนในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” สําหรับหุ้น GFPT

ราคาไก่มีชีวิตไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในเดือนมี.ค. 2566

เราเห็นสัญญาณเชิงบวกสําหรับกลุ่มไก่ไทยในไตรมาส 2/66 โดยในช่วงไตรมาส 2/66 ราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มในกทม. เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 25% (จาก 36.5 บาท/กก. ในช่วงต้นเดือนเม.ย. ไปเป็น 45.5 บาท/กก. ในช่วงกลางเดือนมิ.ย.) ในขณะที่ราคาไก่มีชีวิตในจังหวัดนครปฐมเพิ่มขึ้น 12% (จาก 42 บาท/กก. ในช่วงต้นเดือนเม.ย. ไปเป็น 47 บาท/กก. ในช่วงกลางเดือนมิ.ย.) ดูเหมือนกับว่าราคาไก่มีชีวิตได้ผ่านจุดต่ำสุดที่ 35.5 บาท/กก. (สําหรับราคาไก่มีชีวิตในกทม.) และ 41 บาท/กก. (สําหรับราคาไก่มีชีวิตในจังหวัดนครปฐม) ไปแล้วในช่วงเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ราคาลูกเจี๊ยบได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง 44% (จากจุดต่ำสุดของปีที่ 11.25 บาท/ตัว ในช่วงต้นเดือน เม.ย. ไปเป็น 16.25 บาท/ตัว ในช่วงกลางเดือนมิ.ย.) ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเชิงบวกต่อการปรับขึ้นทั้ง YoY และ QoQ ของราคาไก่มีชีวิตไทยเฉลี่ยในไตรมาส 2/66 โดยเราคาดราคาไก่มีชีวิตไทยเฉลี่ยที่ 43 บาท/กก. ใน ไตรมาส 2/66 เพิ่มขึ้น 6% ทั้ง YoY และ QoQ เรามองว่าอุปสงค์การส่งออกไก่ที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งตามปัจจัยฤดูกาลและจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น จะยังคงเป็นปัจจัยหนุนราคาไก่มีชีวิตไทยให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งในช่วง ไตรมาส 2/66 ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 3/66

ราคาตลาดสําหรับโครงไก่ในประเทศปรับตัวลดลง 24% ในเดือนเม.ย. (จาก 21 บาท/กก. ในช่วงต้นเดือนเม.ย. ลงไปแตะที่ระดับต่ำเมื่อเร็วๆ นี้ที่ 16 บาท/ กก. ในช่วงกลางเดือนเม.ย.) ก่อนจะทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น 9% ไปเป็น 17.5 บาท/กก. ในช่วงกลางเดือนมิ.ย. ถึงแม้ว่าเราใช้สมมติฐานราคาโครงไก่เฉลี่ยของ GFPT ในไตรมาส 2/66 มีแนวโน้มลดลง 32% YoY และ 18% QoQ (เหลือ 16 บาท/กก.) แต่เรามองว่าราคาโครงไก่ถือว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วที่ 13-14 บาท/กก. ในเดือนเม.ย. 2566 ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในรอบสองปี

ไฮซีซั่นของการส่งออกในไตรมาส 2-3/66; กําไรผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ในไตรมาส 1/66

วอลุ่มส่งออกไก่ของ GFPT คาดว่าจะเพิ่มขึ้น QoQ ตามปัจจัยฤดูกาล โดยเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 2/66 ต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3/66 ซึ่งปกติช่วงไฮซีซั่นจะเริ่มต้นในไตรมาสสอง และวอลุ่มส่งออกในไตรมาสสามจะสูงกว่าในไตรมาส สองตามปัจจัยด้านฤดูกาล และสําหรับในไตรมาส 2/66 เราคาดวอลุ่มส่งออกไก่ของ GFPT ที่ 8 พันต้น เพิ่มขึ้น 7% YoY และ 16% QoQ หนุนโดยวอลุ่มส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น เราคาดอัตรากำไรขั้นต้นเฉลี่ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น QoQ ไปอยู่ที่ 12-13% ในไตรมาส 2/66 (เพิ่มขึ้นจาก 10.4% ในไตรมาส 1/66) โดยจะได้รับแรงหนุนจากวอลุ่มส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น กลบผลกระทบของราคาส่งออกไปยังยุโรปที่คาดว่าจะลดลง เราคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นมี แนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง QoQ ไปเป็น 14-15% ในไตรมาส 3/66 โดยจะมีปัจจัยหนุนจากช่วงไฮซีซั่นของการส่งออก และต้นทุนวัตถุดิบที่คาดว่าจะลดลงเล็กน้อย และสำหรับในไตรมาส 2/66 ราคาตลาดสำหรับข้าวโพดในประเทศและกากถั่วเหลืองในประเทศคาดว่าจะอยู่ที่ 12.8 บาท/กก. ลดลง 2% YoY และ 3% QoQ และ 24 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 5% YoY และ 2% QoQ และเนื่องจากสต๊อกของวัตถุดิบ ซึ่งคิดเป็นระยะเวลา 2-3 เดือน ราคาข้าวโพดในประเทศที่ลดลงในไตรมาส 2/66 จะไปสะท้อนเป็นต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง สําหรับ GFPT ในไตรมาส 3/66

ถึงแม้ว่าไม่สามารถเปรียบเทียบ YoY ได้เนื่องจากฐานกำไรที่สูงมากในช่วงไตรมาส 2/65-4/65 แต่เราคาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวของกำไร QoQ ตั้งแต่ไตรมาส 2/66 ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 3/66 เราคาดกำไรหลักที่ 320 ล้านบาท สําหรับในไตรมาส 2/66 ลดลง 34% YoY แต่เพิ่มขึ้น 35% QoQ และกำไรหลักที่ 400 ล้านบาท สำหรับในไตรมาส 3/66 ลดลง 46% YoY แต่เพิ่มขึ้น 25% QoQ

มูลค่าหุ้นถูก บวกกับแนวโน้มกำไรที่เติบโต QoQ ในช่วงไตรมาส 2-3/66

ณ ปัจจุบัน ราคาหุ้นของ GFPT ซื้อขายที่ PER ปี 2566 ที่ 10.6 เท่า ซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 10.9 เท่า และต่ำกว่า PER สูงสุดเมื่อเร็วๆ นี้ที่ 12.5 เท่าในเดือนส.ค. 2565 เราเชื่อว่าราคาหุ้น ณ ปัจจุบันน่าเก็บสะสม ถ้าอิงกับการคาดการณ์สำหรับกำไรที่จะกลับมาฟื้นตัว QoQ ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 3/66

 

- Advertisement -