บล.บัวหลวง:

Agro & Food – ปศุสัตว์: ชอบกลุ่มผู้ประกอบการไก่ไทยมากกว่าผู้ประกอบการหมูไทย (NEUTRAL)

เนื่องจากราคาไก่มีชีวิตไทยที่กลับมาฟื้นตัวแรงและดูดีกว่าราคาหมูมีชิวิตไทยสําหรับในไตรมาส 2/66 ซึ่งถือเป็นสัญญาณบวกของ ราคาไก่มีชีวิตที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน เราจึงเลือกกลุ่มธุรกิจไก่ไทยมากกว่ากลุ่มธุรกิจหมูไทยสำหรับการลงทุนในกลุ่มปศุสัตว์ ณ ปัจจุบัน โดยเราเลือก GFPT เป็นหุ้นที่เราชื่นชอบมากที่สุดในกลุ่มผู้ประกอบการปศุสัตว์ไทย เรามองว่าไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเข้าลงทุนในกลุ่มผู้ประกอบการหมูไทยแต่อย่างใด ณ ตอนนี้

ราคาไก่มีชีวิต/ชิ้นส่วนไก่/ลูกเจี๊ยบของไทยปรับตัวขึ้นแรงในไตรมาส 2/66

เราเชื่อว่าสามปัจจัยบวก ซึ่งได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของการส่งออกไก่ไทยในช่วงไตรมาสสองต่อเนื่องไปยังไตรมาสสาม (ซึ่งปกติวอลุ่มส่งออกในไตรมาสสามมักจะสูงกว่าไตรมาสสอง) และการ บริโภคในประเทศที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น เป็นปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวของราคาไก่มีชีวิตไทยในช่วงไตรมาส 2/66 โดยราคาไก่มีชีวิตในกทม. เด้งแรง 27% ภายในระยะเวลา 4 เดือน จาก 35.5 บาท/กก. (14-27 มี.ค.) ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดล่าสุดที่ 45.5 บาท/กก. (30 พ.ค.-19 มิ.ย.) ก่อนที่จะย่อตัวลงเล็กน้อยเหลือ 45 บาท/กก. (20-26 มิ.ย.) เรามองว่าระดับราคาไก่มีชีวิตของไทยที่ 45 บาท/กก. ถือว่าอยู่ในระดับสูงปานกลาง ถ้าเทียบกับต้นทุนการเลี้ยงไก่ที่ 39-42 บาท/กก. สําหรับผู้ประกอบการไก่ขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ ถึงแม้ว่าอุปสงค์การบริโภคเนื้อสัตว์ในประเทศจะเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่นในช่วงไตรมาสสาม เนื่องจากฝนที่จะกลับมาตกเพิ่มขึ้น แต่เรายังคงคาดว่าราคาไก่มีชีวิตไทยจะทรงตัวได้ในระดับสูงในช่วง 42-46 บาท/กก. ในช่วงไตรมาส 3/66 เราคาดราคาไก่มีชีวิตไทยเฉลี่ยในไตรมาส 2/66 ที่ 43 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 6% ทั้ง YoY และ QoQ

ถึงแม้ว่าราคาไก่มีชีวิตและราคาโครงไก่ (หรือผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนไก่) จะมีช่วงระยะเวลาของการปรับราคาให้ไล่ตามกัน  แต่เรามองว่าราคาโครงไก่ในประเทศมีแนวโน้มที่จะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในเดือนเม.ย. ที่ 13-14 บาท/กก. ก่อนที่จะ ฟื้นตัวกลับมาอยู่ในช่วง 14-17 บาท/กก. ในช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. 2566 อีกหนึ่งปัจจัยบวก ได้แก่ ราคาลูกเจี๊ยบที่พุ่งขึ้นแรงถึง 43% ภายในระยะเวลา 4 เดือนจาก 11.50 บาท/ตัว (27 ก.พ. -23 เม.ย.) ไปเป็น 16.50 บาท/ตัว (29 พ.ค.-26 มิ.ย.) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสต๊อกพันธุ์ต้นน้ำที่ยังคงขาดแคลนอยู่เล็กน้อย ณ ปัจจุบัน

อัตราการเติบโตของไก่ส่งออกไทยปี 2566 ได้รับแรงหนุนจากจีนและญี่ปุ่น

สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทยคาดวอลุ่มส่งออกไก่ไทยในปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 2.9% YoY (ไปอยู่ที่ 1.07 ล้านตัน) โดยปัจจัยหนุนอัตราการเติบโตจะมาจากประเทศจีน (9 หมื่นตัน เพิ่มขึ้น 7.3% YoY) ตามมาด้วย ประเทศญี่ปุ่น (4.75 แสนตัน เพิ่มขึ้น 3.5% YoY) และยุโรปรวมประเทศสหราชอาณาจักร (3.38 แสนตัน เพิ่มขึ้น 1.2% YoY) เราเชื่อว่าประเทศจีน (จากนโยบายปลอดโควิด) และญี่ปุ่น (นักท่องเที่ยวและการบริโภคที่เพิ่มขึ้น) จะเป็นปัจจัยหนุนตลาดส่งออกไก่ไทยที่สำคัญในปี 2566 ในขณะที่ยุโรปจะเป็นตลาดหลักหนุนการส่งออกไก่ไทยในปี 2567 เนื่องจากการฟื้นตัวของยุโรปจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยในปี 2566 ในขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดวอลุ่มไก่ส่งออกของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.4% YoY (ไปเป็น 1.04 ล้านตัน) สำหรับในปี 2566

เรามั่นใจในกลุ่มผู้ประกอบการไก่ไทยมากกว่าผู้ประกอบการหมูไทย

เนื่องจากสถานการณ์การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง รวมถึงความไม่แน่นอนสำหรับกำลังการผลิตใหม่ของผู้ประกอบการหมูรายย่อยถึงรายกลางว่าจะเข้าสู่ระบบในช่วงไหน หลังจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 เราจึงเลือกกลุ่มผู้ประกอบการไก่ไทยเพียงอย่างเดียว (เช่น GFPT) มากกว่ากลุ่มผู้ประกอบการที่ทำทั้งธุรกิจไก่ไทยและหมูไทย (เช่น CPF BTG และ TFG) ราคาหมูมีชีวิตไทยในกทม. ปรับตัวลงแรง 24% ในช่วงระยะเวลา 5 เดือนที่ผ่านมา จาก 99.5 บาท/กก. (9-29 ม.ค.) ลงมาแตะระดับต่ำสุดครั้งล่าสุดที่ 75.5 บาท/กก. (8-28 พ.ค.) ก่อนที่จะฟื้นตัวกลับมาเล็กน้อย 3% ไปอยู่ที่ 77.5 บาท/กก. (29 พ.ค.-26 มิ.ย.) เรามองว่าการฟื้นตัวของราคาหมูมีชีวิตไทยเพียงแค่ 3% ในเดือนมิ.ย. ถือว่าน้อยมาก และคาดราคาหมูมีชีวิตไทยเฉลี่ยในไตรมาส 2/66 ที่ 80 บาท/กก. ลดลง 18% YoY และ 9% QoQ เรามองว่ายังคงไม่เห็นสัญญาณของการฟื้นตัวของราคาหมูมีชีวิตไทยอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาส 2/66

 

- Advertisement -