KS Daily View 28.06.2023 >>> คาด SET รีบาวด์ แต่ยังไม่ใช่การฟื้นตัวได้แบบต่อเนื่อง SET คาดแกว่ง 1,470-1,480/1,490 จุด หุ้นแนะนำวันนี้ GFPT, SPA

สรุปภาวะตลาดเมื่อวันวานนี้

ต่างประเทศ: ดัชนี DJIA +0.63%, S&P 500 +1.15%, NASDAQ +1.65% โดย Sector ที่ outperform ใน S&P500 ได้แก่ Consumer discretionary (+2.06%), Information technology (+2.04), Material (+1.40%) ส่วน Health care (-0.20%)

ในประเทศ: SET Index -7.22 pts. หรือ -0.49% ปิดที่ 1,478.10 จุด ตัวขับเคลื่อนหลักสำคัญคือ DELTA (+1.04%), CPN (+0.80%), BJC (+1.44%), JMT (+3.73%) ตัวฉุดคือ PTT (-1.57%), BDMS (-1.75%), PTTEP (-1.02%), GULF (-1.14%)

แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ: ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงหลุดกรอบแนวรับสำคัญ 1,490/1,500 จุดและสร้างระดับต่ำสุดใหม่ของปีทำให้เรามองมีโอกาสที่ดัชนีจะปรับตัวลงต่อ ช่วงการซื้อขายระหว่างวันเมื่อวานนี้เห็นได้ชัดว่าภาวะตลาดค่อนข้างอ่อนแอมาก ดัชนีเปิดบวกและพยายามปรับตัวเพิ่มขึ้นช่วงในเปิดตลาดเช้าแต่ก็เจอแรงทะยอยขายใส่โดยเฉพาะการซื้อขายช่วงบ่าย ฝั่งซื้อเหมือนไม่อยากรับแล้วขอดูความชัดเจนหลังตั้งรัฐบาลเลย อย่างไรก็ดี ช่วงข้ามคืนวานนี้ตลาดต่างประเทศปิดบวกแรง ทำให้ดัชนีตลาดบ้านเราอาจมีการฟื้นตัวตามได้บ้าง แต่เรายังไม่มองถึงว่าเป็นการฟื้นตัวในลักษณะต่อเนื่อง เชื่อเป็นการเด้งชั่วคราวโดยวันนี้เรามองกรอบการซื้อขายที่ 1,470-1,480/1,490 จุดและประเมินแนวรับสำคัญระดับถัดไปที่ 1,444 จุด

ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:

1.) วานนึ้ไทยรายงานตัวเลขส่งออกแม้ยังหดตัวที่ -4.6% YoY ในเดือนพ.ค. แต่ถือว่าดีกว่าที่ตลาดคาดที่ -8.0% YoY และดีกว่าเดือนก่อนหน้าที่ -7.6% YoY ข้อดีคือตัวเลขเริ่มส่งสัญญาณเชิงบวกว่าส่งออกยังลดลงแต่ลดลงด้วยอัตราที่ช้าลงแล้ว แนวโน้มครึ่งปีหลังดีกว่าครึ่งปีแรก แต่อย่างไรก็ดี ทิศทางยังค่อนข้างไม่แน่นอนสูงเพราะหากดูตัวภาคการผลิตคู่ค้าหลักก็ยังหดตัวหรือดูตัวเลขนำเข้าวัตถุดิบซึ่งเอาไว้ใช้ประกอบเพื่อส่งออกต่อก็ยังปรับตัวลดลง ดังนั้นเรามองว่าอาจต้องรอตัวเลขที่ดีชัดกว่านี้ในการยืนยันภาพการฟื้นตัว

2.) ช่วงข้ามคืนสหรัฐฯรายงานตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ 3 ชุด ซึ่งทั้งหมดออกมาดีกว่าเดือนก่อนหน้าและดีกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก โดยเริ่มจากตัวเลขคำสั่งซื้อสินค้าคงทน (durable goods order) ของเดือนพ.ค. ซึ่งออกมาแรง +1.7% MoM ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะปรับตัวลดลง -1% MoM และดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +1.2% MoM นอกจากนั้นฝั่งสหรัฐฯยังประกาศตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CB consumer confidence index) ของเดือนมิ.ย. ซึ่งก็ออกมาดีเหนือคาดอีกที่ 109.7 ขณะที่ตลาดมองจะปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 103.7 และเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 102.3 ด้านตัวเลขยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯ (New home sales) ของเดือนพ.ค. ก็ออกมาเพิ่มขึ้นแตะระดับ 7.63 แสนยูนิต ดีกว่าตลาดคาดว่าปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ 6.76 แสนยูนิต เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 6.80 แสนยูนิต ตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ 3 ชุดที่ออกมาแข็งแกร่งและสูงกว่าที่ตลาดประเมินช่วยหนุนให้ตลาดต่างประเทศปิดตลาดบวกได้ในช่วงข้ามคืน

Theme การลงทุนสัปดาห์นี้

ประเมินตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวลงโดยปรับกรอบแนวรับดัชนีเป็น 1,444/1,482 และแนวต้านที่ 1,500 จุด ปัจจัยกดดันยังเป็นเรื่องการเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่ชัดเจน และปัจจัยแวดล้อมต่างประเทศที่พลิกเป็นลบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อของธนาคารกลางหลัก

หุ้นแนะนำวันนี้

Top pick: GFPT (ราคาพื้นฐาน 13.6 บาท) แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/2566 ปรับตัวดีขึ้นหลังจากโลว์ซีซั่นในไตรมาส 1/2566 และจะดีขึ้นต่อในไตรมาส 3/2566 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นสำหรับการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคากากถั่วเหลืองต้นทุนอาหารสัตว์ปรับตัวลดลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

Top pick: SPA (ราคาพื้นฐาน 12.81 บาท) เราปรับเพิ่มกำไรสุทธิปี 2566-67 เป็น 214 ลบ. และ 227 ลบ. เพิ่มขึ้นจาก 107 ลบ. และ 198 ลบ. หรือ 101% และ 15% ตามลำดับ เนื่องจากรายได้จากการให้บริการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งเกินคาดในไตรมาส 1/2566 และคาดว่าจะเร่งตัวแรงต่อในไตรมาส 2/2566 โดยได้รับแรงหนุนหลักจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

  • วันพุธ ติดตามงานสัมมนาอภิปรายในหัวข้อนโยบายการเงินจัดโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB forum) โดยในงานมีกำหนดให้ประธาน ECB Lagarde และประธาน Fed Powell มีการพูดให้สัมภาษณ์ถึงความเห็นในการดำเนินนโยบายการเงินต่างๆของธนาคารกลาง
  • วันพฤหัสฯ ติดตามช่วงบ่ายยุโรปมีกำหนดประกาศตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อเบื้องต้นของเยอรมันสำหรับเดือน มิ.ย. (German Prelim CPI) ตลาดคาดเพิ่มขึ้นที่ +0.2% MoM (เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -0.1% MoM) ตัวเลขมีความสำคัญเนื่องจากทิศทางเงินเฟ้อของเยอรมันสะท้อนทิศทางเงินเฟ้อของทั้งยุโรปเนื่องจากเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดและมีผลกระทบมากที่สุดในกลุ่ม ต่อด้วยช่วงข้ามคืนสหรัฐฯมีกำหนดประกาศตัวเลข Final GDP ของไตรมาส 1/2023 เป็นการปรับปรุงตัวเลขครั้งสุดท้ายหลัง (final revision version) หลังประกาศตัวเลขเร็วไปแล้วก่อนหน้า ตลาดคาดว่าจะออกมาที่ +1.4% (เทียบกับรอบก่อนหน้าที่ +1.3%)
  • วันศุกร์ ติดตามช่วงเช้าติดตามตัวเลขภาคการผลิตจีน (manufacturing PMI) ของเดือนมิ.ย. ตลาดคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นเป็น 51 (เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 48.8) ต่อด้วยแถลงการณ์รายงานภาพรวมเศรษฐกิจของธปท.ในช่วงบ่าย ต่อด้วยตัวเลขดัชนีภาคอุตสาหกรรมไทย (MPI) ตลาดคาดว่าจะยังคงหดตัวที่ -4.5% YoY (เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -8.14% YoY) และช่วงข้ามคืนสหรัฐฯมีกำหนดประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ core PCE ของเดือนพ.ค. ตลาดคาดที่ +0.4% MoM (เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +0.4% MoM) ต่อด้วยตัวเลขภาคการผลิตรายรัฐ Chicago PMI ของเดือนมิ.ย. ตลาดคาดที่ 44 (เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 40.4)
- Advertisement -