KS Daily View 04.07.2023 >>> SET ปิดเหนือ 1,500 จุด แนวโน้มหลักเป็นบวกมากขึ้น กรอบการซื้อขายที่ 1,490-1,500/1,520 หุ้นแนะนำวันนี้ PTTGC KTB
สรุปภาวะตลาดเมื่อวานนี้
ต่างประเทศ : ดัชนี DJIA +0.03%, S&P 500 +0.12%, NASDAQ +0.21% โดย Sector ที่ outperform ใน S&P500 ได้แก่ Consumer discretionary (+1.07%), Real Estate (+0.85%), Consumer Staples (+0.69%) ส่วน Health care (-0.82%), Information technology (-0.31%)
ในประเทศ: SET Index +3.74 pts. หรือ +0.25% ปิดที่ 1,506.84 จุด ตัวขับเคลื่อนหลักสำคัญคือ DELTA (+2.17%), PTTEP (+1.33%), PTT (+0.75%) ตัวฉุด ADVANC (-0.93%), CPAXT (-1.42%), INTUCH (-2.03%)
แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ: เรามองแนวโน้มหลักเป็นบวกมากขึ้นหลังดัชนียังปิดยืนเหนือระดับ 1,490-1,500 จุดได้ อีกทั้งบรรยากาศการเมืองภายในประเทศดูคลี่คลายหลังอุปสรรคแรกน่าจะผ่านได้คือเรื่องการเจรจาตำแหน่งประธานสภาฯ เราประเมินกรอบการซื้อขายวันนี้ที่ 1,490-1,500/1,520 เชื่อว่าแม้ภาวะตลาดดูจะเป็นบวกมากขึ้นแต่ปัจจัยตัดสินหลักยังคือเรื่องการเลือกนายกซึ่งคาดว่าน่าจะมีการโหวตช่วงกลางเดือน มองกลุ่ม ENERG, ICT, TRAN, PETRO, TOUR ยังเป็นตัวนำตลาด
ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:
1.) ประเด็นการเมืองในประเทศยังเป็นประเด็นสำคัญที่สุดในวันนี้หลังช่วงข้ามคืนวานนี้หลังพิธีเปิดประชุมสภาทางพรรคก้าวไกลและเพื่อไทยได้แถลงข้อสรุปทำข้อตกลงร่วม MOU เสนอชื่อ นายวันมูหะมัด นอร์ มะทา เป็นประธานสภาฯ โดยตำแหน่งรองประธานฯคนที่หนึ่งเป็นของพรรคก้าวไกล และตำแหน่งรองประธานฯคนที่สองจะเป็นของทางพรรคเพื่อไทย อีกทั้งยังได้มีการร่วมกันเห็นชอบในกฏหมายที่สำคัญเพื่อประชาชนเช่นการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมืองและการแก้ไขกฏหมายเพื่อปฏิรูปกองทัพ เรามองบรรยากาศการเมืองภายในประเทศดูคลี่คลายหลังอุปสรรคแรกน่าจะผ่านได้คือเรื่องการเจรจาตำแหน่งประธานสภาฯซึ่งจะมีการเปิดประชุมสภาฯและเลือกกันในวันนี้ก่อนที่คาดว่าน่าจะได้โหวตเลือกนายกกันได้ในช่วงกลางเดือน
2.) สหรัฐฯรายงานตัวเลขภาคการผลิต US ISM manufacturing PMI สำหรับเดือน มิ.ย. ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 46 จุด ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 47.2 และลดลงจากเดือนก่อนที 47.1 สะท้อนภาคการผลิตของสหรัฐฯยังหดตัวและอ่อนแอโดยรายละเอียดดัชนีภายในมีการปรับตัวลดลงในทุกรายการต่ำกว่าระดับ 50 จุดซึ่งสะท้อนการหดตัวลง ตัวเลขภาคการผลิตสหรัฐฯมีความสำคัญเนื่องจากเป็นตัวชี้นำภาคการส่งออกและการผลิตอุตสาหกรรมไทยในระยะข้างหน้า
3.) ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียประกาศลดการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมสำหรับเดือน ส.ค. เพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากความกังวลที่เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวและโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยต่อโดยซาอุดีอาระเบียจะขยายการลดการผลิตโดยสมัครใจที่ 1 ล้านบาร์เรล/วัน เพิ่มอีก 1 เดือนในเดือน ส.ค. ในขณะที่ รัสเซียจะลดกำลังการส่งออกน้ำมันอีก 0.5 ล้านบาร์เรล ในเดือน ส.ค. เช่นกัน การปรับลดอุปทานน้ำมันดังกล่าวคิดเป็น 1.5% ของอุปทานน้ำมันโลกและทำให้ OPEC+ ลดกำลังการผลิคแล้วรวม 5.16 ล้านบาร์เรล/วัน เรามีมุมมองที่ดีขึ้นสำหรับราคาน้ำมัน เนื่องจากการลดการผลิตดังกล่าวจะทำให้การปรับตัวขึ้นของสต๊อกน้ำมัน OECD เปลี่ยนจากปรับขึ้นเป็นทรงตัว ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพราคาได้ในช่วงครึ่งปีหลัง
Theme การลงทุนสัปดาห์นี้
ประเมินตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวผันผวนในกรอบ 1,475 – 1,525 จุด โดยปัจจัยการเมืองในประเทศจะเป็นตัวกำหนดทิศทางตลาดในสัปดาห์หน้า Key highlight จะอยู่ที่วันอังคารที่ 4 ก.ค. ที่จะมีการเลือกประธานสภา หากได้ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลก็หมายได้ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกลกับเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน แต่หากประธานสภาเป็นตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยก็หมายได้ว่ามีโอกาสจะเกิดการพลิกขั้วในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะทำให้นักลงทุนตีความต่อถึงนโยบายของรัฐบาลหลังจากนี้ว่าจะเป็นบวกหรือลบกับตลาดทุน ขณะเดียวกันในช่วงกลางและปลายสัปดาห์นักลงทุนต้องติดตามตัวเลขสำคัญในตลาดแรงงานของสหรัฐฯ คือ ตัวเลขตำแหน่งงานเปิดใหม่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และอัตราการว่างงานซึ่งมีความสำคัญในการสะท้อนภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯและการกำหนดนโยบายการเงิน
หุ้นแนะนำวันนี้ Top pick:
PTTGC (ราคาพื้นฐาน 46.7 บาท) เราคาดว่าผลประกอบการจะทยอยฟื้นตัวขึ้นได้ตลอดทั้งปี หลังผู้บริหารยืนยันปริมาณอีเทนราคาถูกจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการใช้อีเทนเป็นวัตถุดิบจะเพิ่มขึ้นจาก 36% ในครึ่งแรกของปี 2566 เป็น 40% ในครึ่งหลังของปี 2566 ซึ่งน่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้ 4-5 พันลบ./ปี นอกจากนี้ ผู้บริหารเผยว่าระบบทุ่นรับน้ำมันดิบ (SPM) น่าจะกลับมาดำเนินงานได้ภายในปีนี้ โดยขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการซ่อมแซมแล้วและคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3/2566
KTB (ราคาพื้นฐาน 24.75 บาท) เรามอง NIM จะเป็นขาขึ้นต่อเนื่องอย่างน้อยอีก 2-3 ไตรมาสข้างหน้า จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและสัดส่วนสินเชื่อรายย่อยที่เร่งตัวซึ่งจะสร้างผลตอบแทนสินเชื่อให้กับธนาคารได้ดี เรามอง NIM ปี 2566 มีแนวโน้มจะสูงกว่าเป้าหมายของ KTB ซึ่งทำให้กำไรที่แข็งแกร่งของ KTB ในไตรมาส 1/2566 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในไตรมาส 2/2566-3/2566 หนุนโดย NIM ที่เพิ่มขึ้นเป็น อีกทั้งเราเชื่อว่าการประเมินมูลค่าปัจจุบันของ KTB นั้นไม่แพง เนื่องจากซื้อขายด้วย PBV ปี 2566 เพียง 0.6 เท่า ซึ่งสอดคล้องกับคู่แข่งธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ แต่เราคาดว่าจะให้ ROE ที่แข็งแกร่งกว่าธนาคารหลักอื่น
รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ
- วันจันทร์ ติดตามประเด็นการเมืองไทยวันนี้มีพิธีเปิดประชุมสภาและด้านตัวเลขเศรษฐกิจประเทศหลักประกาศตัวภาคการผลิต โดยช่วงเช้าญี่ปุ่นมีกำหนดประกาศตัวเลขภาคการผลิต (Tankan manufacturing PMI) ตลาดคาดปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3 จุด (เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 1 จุด) ช่วงบ่ายประกาศตัวเลขภาคการผลิตยุโรปตลาดคาดทรงตัวเมือเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 43.6 และช่วงข้ามคืนสหรัฐฯประกาศตัวเลขภาคการผลิต US ISM manufacturing คาดปรับตัวดีขึ้น 47.2 (เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 46.9 จุด)
- วันอังคาร ติดตามประเด็นการเมืองไทยโดยมีการเรียกประชุมสภาวันแรกและคาดจะเริ่มประชุมเพื่อเลือกประธานสภา ต่อด้วยการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ตลาดคาดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 4.1% สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญอื่นวันนี้จะค่อนข้างน้อยเนื่องจากเป็นวันหยุดวันชาติของสหรัฐฯ (Independence Day)
- วันพุธ ติดตามตัวเลขภาคบริการสหรัฐฯ US ISM service ตลาดคาดที่ 51.3 (เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 50.3) และตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ADP employment change ตลาดคาดที่ 236k (เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 278k) และ ตัวเลขงานที่กำลังประกาศหารับคน Jolts job opening ตลาดคาดที่ 9.94m (เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 10.1m)
- วันพฤหัสฯ ติดตามช่วงบ่ายยุโรปมีกำหนดประกาศตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อเบื้องต้นของเยอรมันสำหรับเดือน มิ.ย. (German Prelim CPI) ตลาดคาดเพิ่มขึ้นที่ +0.2% MoM (เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -0.1% MoM) ตัวเลขมีความสำคัญเนื่องจากทิศทางเงินเฟ้อของเยอรมันสะท้อนทิศทางเงินเฟ้อของทั้งยุโรปเนื่องจากเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดและมีผลกระทบมากที่สุดในกลุ่ม ต่อด้วยช่วงข้ามคืนสหรัฐฯมีกำหนดประกาศตัวเลข Final GDP ของไตรมาส 1/2023 เป็นการปรับปรุงตัวเลขครั้งสุดท้ายหลัง (final revision version) หลังประกาศตัวเลขเร็วไปแล้วก่อนหน้า ตลาดคาดว่าจะออกมาที่ +1.4% (เทียบกับรอบก่อนหน้าที่ +1.3%)
- วันศุกร์ ติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ (non-farm payrolls) ตลาดคาดที่ 222k (เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 339k) ต่อด้วยตัวเลขอัตราการว่างงานสหรัฐฯตลาดคาดที่ 3.6% (เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 3.7%) และตัวเลขค่าจ้างแรงงาน Average hourly earnings ตลาดคาดที่ +0.3% MoM (เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ +0.3% MoM)