ก.ล.ต. ออกหลักเกณฑ์การเปิดเผยคำเตือนความเสี่ยงจากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการห้ามให้บริการหรือสนับสนุนบริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการจ่ายผลตอบแทน 

ก.ล.ต. ออกหลักเกณฑ์การเปิดเผยคำเตือนความเสี่ยงจากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและการห้ามให้บริการหรือสนับสนุนบริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝากและการให้กู้ยืม

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยคำเตือนความเสี่ยงจากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีของผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้ผู้ซื้อขายได้รับข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของคริปโทเคอร์เรนซีอย่างเพียงพอ และออกหลักเกณฑ์ห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการหรือสนับสนุนการให้บริการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีการจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝากและการให้กู้ยืม (deposit taking & lending) เพื่อเพิ่มความคุ้มครองแก่ผู้ลงทุนจากความเสี่ยงของบริการดังกล่าว

ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 12/2565 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 มีมติเห็นชอบการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับคริปโทเคอร์เรนซีเปิดเผยคำเตือนความเสี่ยงจากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี และกำหนดห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการหรือสนับสนุนการให้บริการ deposit taking & lending และในการประชุมครั้งที่ 16/2565 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 และครั้งที่ 9/2566 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยคำเตือนความเสี่ยงจากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์ทั้งสองเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

(1) การเปิดเผยคำเตือนความเสี่ยงจากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี (มีผลใช้บังคับวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2566) กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี นายหน้าซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี และผู้ค้าคริปโทเคอร์เรนซี ต้องเปิดเผยคำเตือนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี โดยมีข้อความดังนี้ “คริปโทเคอร์เรนซีมีความเสี่ยงสูง โปรดศึกษาและทำความเข้าใจความเสี่ยงของคริปโทเคอร์เรนซีอย่างรอบด้าน เพราะท่านอาจสูญเสียเงินลงทุนได้ทั้งจำนวน” ซึ่งข้อความคำเตือนต้องสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน พร้อมกับการแจ้งผลการประเมินความเหมาะสมในการลงทุน และการจัดสรรและกำหนดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม (basic asset allocation) ก่อนให้ลูกค้าใช้บริการ และผู้ประกอบธุรกิจจะต้องจัดให้ผู้ใช้บริการให้ความยินยอมรับทราบความเสี่ยงดังกล่าวก่อนใช้บริการด้วย

(2) การห้ามผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการหรือสนับสนุนการให้บริการ deposit taking & lending โดยมีข้อยกเว้นบางประการตามที่ประกาศกำหนด (มีผลใช้บังคับวันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2566) ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

(2.1) ห้ามรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล และนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับฝากไปให้กู้ยืมหรือลงทุน และจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ฝาก

(2.2) ห้ามรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัล โดยให้หรือเสนอว่าจะให้ผลตอบแทนจากการฝากสินทรัพย์ดิจิทัลหรือผลตอบแทนอื่นแก่ผู้ฝาก (เช่น จากงบการตลาดของบริษัท) เว้นแต่มีลักษณะเป็นการส่งเสริมการขายตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

(2.3) ห้ามโฆษณาหรือชักชวนบุคคลทั่วไปหรือกระทำการอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนการให้บริการ deposit taking & lending ตามข้อ (2.1) และ (2.2) ของผู้ให้บริการหรือบุคคลอื่น

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

 

- Advertisement -