บล.กรุงศรีฯ:
INVESTMENT STRATEGY – เงินเฟ้อสหรัฐเดือน มิ.ย. ลดลงมากกว่าที่คาดไว้
What’s new?
อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐในเดือนมิถุนายนลดลงมาอยู่ที่ 3% yoy จาก 4% ในเดือนก่อนหน้า และต่ำกว่าที่ตลาดคาดเอาไว้ที่ 3.1% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ 4.8% yoy จาก 5.3% ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าแทบทั้งหมด มีเพียงราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงานที่เพิ่มขึ้น 0.6% ประเด็นสำคัญของเงินเฟ้อเดือนนี้คือราคาหมวดที่พักที่ชะลอลงมาอยู่ที่ 0.4% จาก 0.6% ในขณะที่ราคารถยนต์ และรถบรรทุกมือสองลดลงตามคาดที่ -0.5% จาก +4.4% ทั้งนี้ ในขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ การตอบรับในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และค่าเงิน USD เป็นไปตามคาด โดยอัตราผลตอบแทน UST10 ลดลงเหลือ 3.911 (-0.071%) ในขณะที่ดัชนี US dollar index ลดลง 0.625 เหลือ 100.79
Analysis
เรามองว่าเป็นเรื่องดีที่เห็นตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐลดลงในอัตราที่เร็วขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเป็นการลดลงแบบกระจายตัว ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่ไม่ยอมลงมาง่าย ๆ ด้วย (หมวดที่พัก และบริการ) แต่ถึงแม้จะเป็นข่าวบวก เรามองว่า Fed น่าจะยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 25bp ในการประชุมเดือนนี้ เพราะตัวเลขตลาดงานส่วนใหญ่ที่ออกมาในสัปดาห์ก่อนยังแข็งแกร่งเกินกว่าจะวางใจได้ อย่างไรก็ตาม เรามองว่ามีความน่าจะเป็นสูงขึ้นมากที่ Fed จะหยุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นที่ระดับ 5.25-5.50% แม้จะมีโอกาสสูงที่ Fed จะคงดอกเบี้ยเอาไว้ในระดับสูงไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจาก cyclical core PCE ยังสูงอยู่ (ในภาพที่ 4) นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาช่วงเหลื่อมเวลา (lag time) ในการส่งผ่านผลของนโยบายการเงิน เราคิดว่าการขึ้นดอกเบี้ยสะสม 525bps น่าจะ ฉุดให้เงินเฟ้อส่วนที่มีความหนืด (sticky inflation) กลับลงมาได้ในเร็ว ๆ นี้
ถึงแม้ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาล่าสุดจะช่วยหนุนภาวะตลาดหุ้นทั่วโลก แต่เราคิดว่าตลาดไทยไม่น่าจะตอบรับมากนักกับปัจจัยนี้ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่ผันผวนในวันที่ 13 กรกฎาคมจะเป็นปัจจัยหลัก หรืออาจจะเป็นเพียงปัจจัยเดียวด้วยซ้ำ ที่ขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้