บล.บัวหลวง:

Agro & Food – น้ำตาล: สต็อกน้ำตาลจีนต่ำสุดในรอบ 16 ปี และผลผลิตไทยที่มีแนวโน้มต่ำกว่าคาด (NEUTRAL)

เรามองว่าปัจจัยข่าวบวกซึ่งได้แก่ ผลผลิตอ้อยของประเทศไทย สําหรับปี 2566/67 ที่มีแนวโน้มต่ำกว่าที่คาดก่อนหน้า บวกกับสต็อกน้ำตาลของประเทศจีนที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา และการจำกัดการส่งออกน้ำตาลอย่างต่อเนื่องของประเทศอินเดีย ถือว่าเป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำตาลโลกให้ยืนในระดับสูงในช่วงครึ่งหลังของปี 2566  เรายังคงมุมมองบวกต่อปัจจัยพื้นฐานของสินค้าเกษตรโภคภัณฑ์อย่างเช่น น้ำตาล ซึ่งจะยังคงแข็งแกร่งในระยะยาว  ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากภาวะเอลนีโญ่ที่แรงขึ้น เรายังคงคําแนะนํา “ซื้อเก็งกำไร” หุ้น KSL

ความเสี่ยงต่อการปรับลดประมาณการผลผลิตอ้อยของประเทศไทยสําหรับปี 2566/67

Czarnikow โบรกเกอร์และเทรดเดอร์น้ำตาลชั้นนำของโลก ได้คาดการณ์ว่าผลผลิตอ้อยของประเทศไทยสําหรับปี 2566/67 มีแนวโน้มอยู่ที่ 66.5 ล้านต้น หรือลดลง 29% YoY จาก 93.88 ล้านต้นในปี 2565/66 ประมาณการใหม่ในครั้งนี้ถือว่าต่ำกว่า 10% จากประมาณการก่อนหน้าที่ 74 ล้านต้นใน ปี 2566/67 บริษัทอ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (TSMC) ได้คาดการณ์ว่า ผลผลิตอ้อยของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง 24% YoY (จาก 92 ล้านต้นใน ปี 2565/66 เหลือ 70 ล้านตันในปี 2566/67) ในขณะที่ผลผลิตน้ำตาลของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง 21% YoY (จาก 11.2 ล้านต้นในปี 2565/66 เหลือ 8.8 ล้านตันในปี 2566/67) ซึ่งเป็นผลมาจากการคาดการณ์ภัยแล้งในประเทศไทย ซึ่งมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 กรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศไทย ได้คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนรวมของประเทศไทยสำหรับฤดูฝนในปีนี้ต่ำกว่าปีที่แล้ว คิดเป็น 19% และปริมาณน้ำฝนของประเทศไทยสําหรับทั้งปี 2566 มีแนวโน้มต่ำกว่าปีที่แล้วคิดเป็น 29% ด้วยเหตุนี้ เราจึงมองว่าเป็นความเสี่ยงต่อการปรับลดประมาณการผลผลิตอ้อยและผลผลิตน้ำตาลของประเทศไทยสําหรับในปี 2566/67 ลงจากเดิม และเชื่อว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในระดับที่ “รุนแรงปานกลาง” ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ที่จะต่อเนื่องไปยังไตรมาส 1/67 ถือว่าเป็นปัจจัยที่จะจํากัดปริมาณน้ำฝนของประเทศไทยให้ลดลงในปี 2567

สต็อกนํ้าตาลในประเทศจีนเดือนพ.ค. ลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

สต็อกน้ำตาลของประเทศจีนได้ปรับตัวลดลงเหลือ 2.8 ล้านตัน ณ สิ้นเดือน พ.ค. (ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา) และ ณ วันที่ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ถ้าอ้างอิงจากข้อมูลของสมาคมน้ำตาลของประเทศจีน ยอดขายน้ำตาลสะสมของประเทศจีนอยู่ที่ 6.88 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 14% YoY ในขณะที่ผลผลิตน้ำตาลสะสมของประเทศจีนอยู่ที่ 8.97 ล้านตัน ลดลง 6% YoY และถ้าอ้างอิงจากการคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ในเดือนพ.ค. 2566 สต็อกน้ำตาลของประเทศจีนสำหรับปี 2566/67 มีแนวโน้มลดลง 31% YoY เหลือ 1.86 ล้านตัน ซึ่งถือว่าลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปี และเนื่องจากยอดขายน้ำตาลของประเทศจีนที่สูงสุดในรอบ 10 ปีที่ 1.1 ล้านตันในเดือนพ.ค. 2566 Czarnikow จึงคาดว่าเทรดเดอร์น้ำตาลกำลังยอมรับกับราคาน้ำตาลในระดับสูงได้แล้ว และอยู่ในช่วงของการเพิ่มสต็อกน้ำตาล ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะช่วยพยุงราคาน้ำตาลในตลาดโลก เราคาดว่าคลื่นความร้อนที่รุนแรงมากขึ้น และการบริโภคน้ำตาลในช่วงไฮซีซั่นของประเทศจีนจะเป็นปัจจัยหนุนการบริโภคน้ำตาลในประเทศจีนในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ท่ามกลางอุปสงค์นํ้าตาลที่คาดว่าจะค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวตามการยกเลิกนโยบายปลอดโควิดให้เป็นศูนย์ของประเทศจีน (ถึงแม้ว่าน้ำตาลจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากการใช้สารให้ความหวานทางเลือกประเภทอื่นๆ ทดแทนก็ตาม)

อินเดียมีแนวโน้มที่จะระงับการส่งออกน้ำตาลไปจนถึงกลางปี 2567

กรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศอินเดียกล่าวว่าปริมาณน้ำฝนทั้งหมดในประเทศอินเดีย ณ วันที่ 25 มิ.ย. ต่ำกว่าค่าปกติคิดเป็น 28% ส่งผลให้คาดว่าปริมาณผลผลิตอ้อยมีแนวโน้มที่จะลดลง 10-15% ในรัฐมหาราษฏระ และกรณาฏกะ ปริมาณน้ำฝนทั้งหมดในรัฐกรณาฏกะในเดือนมิ.ย. ต่ำกว่าค่าปกติคิดเป็น 48% ถึงแม้ว่าฝนได้กลับมาตกมากขึ้นในทุกรัฐของประเทศอินเดียในช่วงต้นเดือนก.ค. แต่ปริมาณน้ำฝนโดยรวม ณ วันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมายังคงต่ำกว่าค่าปกติคิดเป็น 10% และเนื่องจากรัฐบาลอินเดียจะไม่อนุญาตให้ส่งออกน้ำตาลจนกว่าจะถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2567 และถ้าส่งออกได้วอลุ่มส่งออกมีแนวโน้มไม่เกิน 4 ล้านต้นเพื่อให้มั่นใจว่ามีสต็อกนํ้าตาลเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือน เม.ย. ถึงเดือนพ.ค. 2567 ปัจจัยดังกล่าวถือว่าบ่งบอกถึงสถานะของสต็อกน้ำตาลของประเทศอินเดียที่คาดว่าจะตึงตัวอย่างน้อยไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2567

- Advertisement -