“สิริซอฟต์ (SRS)” บริษัทที่ปรึกษาการพัฒนาระบบแบบ DevOps เดินหน้า IPO
จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงแบบ New Normal นำพาให้เกิดกระแส Digital Disruption ที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับตัวและ Transform องค์กร ให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน นำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และมีคุณภาพ เป็นโอกาสของสิริซอฟต์ (SRS) ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ เดินหน้าเสนอขาย IPO 40 ล้านหุ้น เข้าจดทะเบียนใน mai โดยมี บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
นายสิริวัฒน์ ธนุรเวท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิริซอฟต์ จำกัด (มหาชน) หรือ SRS กล่าวว่า เราเล็งเห็นโอกาสในการเติบโต ในฐานะบริษัทผู้ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศโดยใช้ DevOps Culture เป็นแนวคิด และให้บริการออกแบบพัฒนาซอฟต์แวร์โดยใช้สถาปัตยกรรมแบบ Microservices ในการพัฒนา เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว รองรับการแข่งขัน โดยบริษัทให้บริการลูกค้าตั้งแต่เริ่มต้นการเข้าไปช่วยวาง framework อบรมกับทีมพัฒนาของลูกค้าให้พัฒนาทีมให้เป็น DevOps โดยลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะพัฒนาเอง หรือจะให้สิริซอฟต์ พัฒนาให้ หรือพัฒนาร่วมกัน
สำหรับ DevOps คือการผสานสร้างการทำงานแบบไร้รอยต่อระหว่างทีม Dev(Software Development Team) ที่ต้องการพัฒนาแอปพลิเคชันให้ตอบสนองต่อธุรกิจโดยใช้มุมมองของธุรกิจเป็นตัวตั้ง ออกซอฟต์แวร์ให้ทันต่อความต้องการที่รวดเร็วของตลาด แต่ก็ยังต้องมีความเสถียร มีประสิทธิภาพ มีโอกาสผิดพลาดน้อยที่สุด หรือถ้ามีความผิดพลาดจะต้องเข้าถึงปัญหาได้เร็วที่สุด ตามมาตรฐานของทีม Ops (IT Operations Team) รวมถึงตรวจสอบเรื่องความปลอดภัย เพื่อส่งมอบงานให้กับลูกค้าได้อย่างถูกต้อง ทันเวลา
ขณะที่ Microservices เป็นสถาปัตยกรรมในการออกแบบซอฟต์แวร์ ที่เน้นการแบ่งการทำงานเป็นส่วนย่อยๆ ตามลักษณะของธุรกิจแล้วค่อยนำมาผสานรวมกัน เพื่อให้ง่ายต่อการพัฒนา (Development) การนำไปใช้ (Deployment) และการดูแล (Maintenance) เช่น แอปพลิเคชัน Online Shopping เราก็จะพัฒนาเป็นส่วนๆ แล้วก็ทดสอบการเชื่อมต่อ ทำงานทีละชิ้น คล้ายจิ๊กซอว์ที่ประกอบกันเป็นรูปภาพที่สมบูรณ์เต็มระบบ สถาปัตยกรรมแบบนี้ทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ทันต่อธุรกิจที่มีความต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หรือหากต้องการพัฒนา Feature & Function ใหม่ของโปรแกรมด้วยภาษาอื่น ก็สามารถใช้ภาษาที่แตกต่างกันในการเขียน Microservices ได้
ในด้านผลการดำเนินงาน ปัจจุบันบริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้ตามลักษณะการให้บริการ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รายได้จากการบริการ เป็นสัดส่วนรายได้หลักของบริษัท คิดเป็น 62.5 % ในปี 2565 และ รายได้จากการขาย คิดเป็น 37.2 % ในปี 2565 โดยบริษัทมีรายได้ที่เป็น Recurring Income เช่น การขาย Subscription License การบำรุงรักษาระบบ และการบริการบุคลากรไอที เป็นต้น
ขณะที่ ผลการดำเนินการสามปีย้อนหลัง (2563 – 2565) บริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 137.63% จากลูกค้าเก่า ได้แก่ ลูกค้ากลุ่มธนาคารและการเงิน ค้าปลีก ภาครัฐ และกลุ่มลูกค้าเอกชนที่ไว้วางใจใช้บริการต่อเนื่องประกอบกับการขยายตลาดเข้าสู่ลูกค้ารายใหม่เพิ่มมากขึ้น
นายสิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า ในปัจจุบัน ความต้องการด้านซอฟต์แวร์ หรือบริการดูแลระบบที่เป็น High Code ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ผู้ให้บริการในตลาดยังมีจำนวนไม่มากพอ ซึ่ง High Code คือสิ่งที่สิริซอฟต์ถนัด เราพัฒนาโปรแกรมได้ตาม requirements ที่ลูกค้าต้องการ ฟังก์ชั่นที่หลากหลาย รองรับความเฉพาะตัวของธุรกิจ หรือระบบที่มีความซับซ้อนในทำงานหรือระบบที่ต้องการเชื่อมต่อกับระบบรอบๆ ข้างเพิ่มเติม บางครั้งระบบเหล่านี้ก็ใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องใช้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ที่ยืดหยุ่น และพัฒนาให้ตอบโจทย์ในประสิทธิภาพและความเร็วที่ธุรกิจต้องการ ซึ่งหากสิริซอฟต์เป็นผู้พัฒนาโปรแกรมให้ตั้งแต่ต้น ก็จะยิ่งลดเวลาการพัฒนาได้ยิ่งขึ้น ลดปัญหาความยุ่งยาก และช่วยในการต่อยอดระบบได้ดีกว่า พร้อมช่วยทำการควบคุมคุณภาพในการส่งมอบเพื่อช่วยธุรกิจให้เติบโต
เพื่อรองรับโอกาสในอนาคต สิริซอฟต์ (SRS) อยู่ระหว่างเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน (IPO) จำนวน 40,000,000 หุ้น คิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลัง IPO มูลค่าที่ตราไว้ (Par value) 0.50 บาทต่อหุ้น เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) หมวดธุรกิจ (Sector) เทคโนโลยี (TECH) โดยมี บริษัท ไพโอเนีย แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
วัตถุประสงค์การระดมทุน เพื่อขยายทีมก้าวกระโดด เพิ่มโอกาสในการเติบโต โดยใช้สรรหาและพัฒนาบุคลากรในการพัฒนาระบบหรือซอฟต์แวร์ รวมถึงการขยายพื้นที่สำนักงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ นำไปใช้พัฒนาและปรับปรุงซอฟต์แวร์สำหรับใช้งานภายในองค์กร เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายธุรกิจ นอกจากนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 50% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการ