บล.บัวหลวง:
COCOCO – มุ่งสู่ผู้นำธุรกิจน้ำมะพร้าวไทย กับอนาคตอันสดใส ที่ไม่ใช่แค่ฝัน (IPO Report)
COCOCO เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากมะพร้าว (ส่วนใหญ่เป็น OEM ให้แบรนด์และห้าง) โดยผลิตภัณฑ์หลักใน 1Q23 แบ่งตามสัดส่วนรายได้ ได้แก่ กะทิ (57.1%) น้ำมะพร้าว (31.1%) อาหารสัตว์เลี้ยง (7.9%) และอื่นๆ ที่เหลือ เรามองประเด็นบวกในการลงทุน 4 ประการ
1) อุตสาหกรรมมะพร้าวไทย ยังไปได้อีกไกล ภายใต้มูลค่าตลาดโลกกว่า 2 แสนล้านบาท และเติบโตเฉลี่ยราว 14.8-16.5% ต่อปี ช่วง 5-10 ปีข้างหน้า และไทยมีจุดแข็งที่มะพร้าวน้ำหอม ซึ่งมีปลูกหลักๆ แค่ไทย ที่กำลังนิยมนำมาทดแทนเครื่องดื่มต่างๆ มากขึ้น
2) COCOCO มาถูกที่ ถูกเวลา กับกระแสการเติบโต โดยมีฐานลูกค้ากระจายอยู่กว่า 90 ประเทศทั่วโลก และกำลังจับตลาดส่งออกน้ำมะพร้าวน้ำหอม (ซึ่ง GM สูงก่าเฉลี่ย) โดยเฉพาะไปขายที่จีน ที่เป็นเบอร์ 1 ผู้ส่งออกแล้วในช่วง 5M23 ที่ผ่านมา โดยคนจีนนิยมมากขึ้น และมองว่าเป็น Perfect Pairing กับทุเรียน ทั้งนี้ การเสนอขาย IPO จะนำเงินไปขยายสายการผลิตส่วนนี้เพิ่มราวเท่าตัว และมีฐานลูกค้าติดต่อมาแล้ว
3) สยายปีกธุรกิจด้านอาหารมีอนาคต รองรับการเติบโตแบบมี New S-Curve เพื่อไม่ให้พึ่งพาแค่มะพร้าว ประกอบด้วย อาหารสัตว์เลี้ยง, Plant based และชีสและเนยที่ทำจากพืช ปูทางต่อยอดในอนาคต
4) มีทีเด็ด-เคล็ดลับ ในการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่าย ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบที่เป็นปัญหาหลัก แต่ COCOCO มีจุดเด่นทั้งด้านทำเล การวางแผนกับตัวกลางในการจัดหา และการนำเข้าวัตถุดิบมะพร้าวจากต่างประเทศ ช่วยเกลี่ยผลกระทบด้านปริมาณและราคาจากฤดูกาล อีกทั้งได้คิดค้นกรรมวิธีลดความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบผ่านการเลือกใช้วัตถุดิบสำคัญที่มีอายุยาวกว่าเดิมด้วย นอกจากนี้ ยังได้รับ BOI ต่อเนื่อง ช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลก
เราคาดการณ์กำไรหลักปี 2023 เติบโต 57% YoY สู่ 470 ล้านบาท หนุนโดยรายได้จากการขายน้ำมะพร้าวเติบโตแรงหลังเดินเครื่องจักรใหม่ต้นปี และ GM ขยายตัว และในปี 2024-26 เติบโตเฉลี่ย 25.2% ต่อปี CAGR ปี 2024-26 หนุนโดยรายได้ขยายตัว 22.3% ต่อปี CAGR
Fundamental View: เราประเมินมูลค่าพื้นฐานปี 2024 ของ COCOCO ที่ 17,052 ล้านบาท หรือเทียบเป็นราคา 11.6 บาท/หุ้น โดยอิงวิธีการประเมินมูลค่ากิจการแบบเป้าหมาย PER ที่ค่าเฉลี่ยระยะยาว (5 ปี) ของกลุ่มผู้ประกอบการเครื่องดื่มในไทยที่ 24.7 เท่า และ EPS ปี 2024 ที่ 0.47 บาท/หุ้น PER ที่ใช้ ถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ย PER ของกลุ่มดังกล่าวบนราคาซื้อขายปัจจุบันที่ 27.2 เท่า อยู่ราว 9% และผู้ประกอบการเครื่องดื่มระดับโลกที่นำมาใช้เปรียบเทียบเฉลี่ยที่ 28.7 เท่า อยู่ 14%