KS Daily View 27.07.2023 >>> มองตลาดเคลื่อนไหวในกรอบรอมติศาลรัฐธรรมนูญและทิศทางการเมืองคลี่คลาย ประเมินกรอบซื้อขายวันนี้ 1,515/1,535  หุ้นแนะนำวันนี้ BANPU CK

สรุปภาวะตลาดเมื่อวันวานนี้ ต่างประเทศ: ดัชนี DJIA +0.23%, S&P 500 -0.02%, NASDAQ -0.12% โดย Sector ที่ outperform ใน S&P500 ได้แก่ Communication service (+2.65%), Industrials (+0.66%), Financials (+0.65%) ขณะที่ Information techonolgoy (-1.30%), Materials (-0.28%), Energy (-0.09%)

ในประเทศ: SET Index -1.71 pts. หรือ -0.11% ปิดที่ 1,524.59 จุด ตัวขับเคลื่อนหลักสำคัญคือ SCB (+2.80%), BBL (+1.78%), TRUE (+2.21%) ขณะที่ BDMS (-1.74%), DELTA (-0.46%), SCGP (-2.50%), PTTEP (-0.62%)

แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ: มอง Fed ขึ้นดอกเบี้ยเป็นไปตามคาดไม่น่ามีผลต่อตลาดมากนัก ขณะที่เชื่อว่าใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ดังนั้นเหลือเพียงประเด็นเดียวที่ยังต้องรอให้คลี่คลายคือเรื่องการเมืองในประเทศ ทำให้เรามองว่าดัชนีจะยังแกว่งตัวในกรอบรอพิจารณาผลมติศาลรัฐธรรมนูญว่าจะรับคำร้องไว้วินิจฉัยหรือไม่สำหรับกรณีข้อบังคับที่ประชุมสภาอาจขัดกฏหมายรัฐธรรมนูญ โดยมองกรอบซื้อขายวันนี้ที่ 1,515/1,535 จุด

ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:

  1. สำนักข่าวรายงานสำนักงานของศาลรัฐธรรมนูญให้ข้อมูลว่าในวันที่ 3 ส.ค. 2566 เวลา 09.30 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้วินิจฉัยหรือไม่ โดยตลาดมองมติออกได้ 3 แนวทางคือ 1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง, 2.ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง แต่ไม่มีคำสั่งให้ชะลอการโหวตนายกฯ และ 3.ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและมีคำสั่งให้ชะลอการโหวตนายกฯไว้ก่อน
  2. กระทรวงพาณิชย์รายงานตัวเลขการค้าของไทยเดือนมิ.ย.หดตัว 6.4% YoY ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่จะหดตัวราว 7.3% YoY ขณะที่ตัวเลขนำเข้าปรับตัวลดลงแรง 10.3% YoY มากกว่าที่ตลาดประเมินที่จะลดลง 7.7% YoY ส่งผลให้ดุลการค้าไทยพลิกกลับมาเป็นเกินดุลได้เล็กน้อยที่ราว 58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ข้อมูลชี้ตัวเลขการค้าไทยยังอ่อนแอ โดยสินค้าเกษตรที่ส่งออกเติบโตได้ดีช่วงต้นปีพลิกเป็นหดตัวหลังอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าดูแผ่วลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก
  3. ธนาคารกลางสหรัฐฯ Fed ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 25bps จาก 5.25% เป็น 5.50% ตามที่ตลาดส่วนใหญ่คาดกันเอาไว้ โดยเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็นครั้งที่ 11 แล้ว นับตั้งแต่มีการปรับขึ้นมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2022 ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯระดับปัจจุบันเป็นระดับที่สูงสุดในรอบมากกว่า 22 ปี อย่างไรก็ดี Fed ไม่ได้ส่งสัญญาณชัดว่าจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อหรือไม่ แต่ระบุขึ้นอยู่กับข้อมูลเงินเฟ้อและตลาดแรงงานในระยะถัดไป โดยไม่ปิดประตูที่จะขึ้นทันทีในรอบการประชุมถัดไปในช่วงเดือนก.ย. อย่างไรก็ดีตลาดมองมีโอกาส 20% ที่จะขึ้นช่วงเดือน ก.ย. และ 30-40% ที่จะขึ้นในช่วงเดือนพ.ย.

Theme การลงทุนสัปดาห์นี้

ประเมินตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในกรอบ 1,525 – 1,555 จุด ทั้งนี้ประเมินกว่าตลาดจะแกว่งตัวขึ้นต่อได้จากโอกาสที่ดอกเบี้ยโลกกำลังจะถึงจุดสูงสุดบนแนวโน้มเงินเฟ้อชะลอตัว และคาดจีนจะทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยการเมืองในประเทศนักลงทุนเลือกให้น้ำหนักถึงโอกาสที่จะได้รัฐบาลที่มีนโยบายเป็นมิตรกับตลาดทุนมากกว่าที่จะกลัวความเสี่ยงกรณีเกิดความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล โดย Key highlight สัปดาห์นี้จะอยู่ที่การประชุม FOMC คืนวันพุธ รวมถึงการประชุม ECB วันพฤหัสฯ และ BOJ วันศุกร์ สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้าได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือน มิ.ย., ตัวเลขรายได้ภาคเกษตร และตัวเลขเศรษฐกิจเดือน มิ.ย. ของ ธปท.

หุ้นแนะนำวันนี้

Top pick: BANPU (ราคาพื้นฐาน 9.4 บาท) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท BANPU กล่าวในการประชุม Bloomberg Summit ในสิงคโปร์ว่า บริษัทกำลังพิจารณาการลงทุนในโครงการท่อก๊าซธรรมชาติและมีแผนจะลงทุนในธุรกิจก๊าซและโรงไฟฟ้าในสหรัฐ โดยตั้งเป้าใช้เงินลงทุนอีก 1.5 พันล้านเหรียญ นอกจากนี้ การ listing บริษัท BKV (ธุรกิจก๊าซในสหรัฐ) คาดจะยังอยู่ในปีนี้โดยการ listing บริษัท BKV มีความพร้อมหมดแล้ว Filing ได้รับการอนุมัติแล้ว รอเพียงสภาพอุตสาหกรรมที่เอื้ออำนวยต่อการนำเข้าจดทะเบียน

Top pick: CK (ราคาพื้นฐาน 30.25 บาท) มองผลประกอบการบริษัทมีแนวโน้มเติบโตสูง โดยเราคาดกำไรเติบโต 37% ปีนี้และ 88% ปีหน้า ทั้งนี้เราประเมินบริษัทจะมี backlog งานในมือสูงสุดเป็นประวัติการณ์มากกว่า 2 แสนล้านบาท ณ สิ้นปีนี้ สูงกว่าระดับสูงสุดเดิมเมื่อปี 2555 ที่ 1.18 แสนล้านบาท

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

วันพฤหัสบดี ติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป ECB ตลาดคาดปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นจาก 4.00% เป็น 4.25% ต่อด้วยตัวเลข GDP สำหรับไตรมาส 2/2566 ของสหรัฐฯคาดชะลอตัวลงเหลือ 1.8%  เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ 2.0% และวันศุกร์ ติดตามผลการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น BOJ ตลาดคาดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.10%

- Advertisement -