มั่นใจรายได้ปี 64 โต 15% ตามเป้า ลุยมาร์เก็ตแชร์ลีสซิ่งมอเตอร์ไซค์เพิ่ม
ก้าวใหม่ NCAP หลังเปิดตัว CEO ใหม่ “ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา” ชูวิสัยทัศน์ NCAP จะไม่ได้ทำแค่ลีสซิ่งมอเตอร์ไซค์ พร้อมขยายผลิตภัณฑ์ทางการเงินไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ และกำลังขยายไปยังตลาดที่ใหญ่มากขึ้น โดยเตรียมเข้าสู่ธุรกิจจำนำทะเบียนรถ และให้บริการสินเชื่อในผลิตภัณฑ์อื่นเพิ่มเติม คาดเริ่มเห็นความชัดเจนปี 65 มั่นใจจะสร้างการเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญด้วยการขับเคลื่อนธุรกิจสู่ฟินเทค เจาะฐานลูกค้ากลุ่ม Underbanked ส่วนผลงานปี 64 มั่นใจรายได้ตามเป้า โตไม่ต่ำกว่า 15% และพอร์ตสินเชื่อมอเตอร์ไซค์โตไม่ต่ำกว่า 20%
นายปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (NCAP) หนึ่งในผู้นำธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เปิดเผยถึง ภาพรวมธุรกิจปี 2564 ประเมินมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี และมั่นใจจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ รายได้เติบโตไม่น้อยกว่า 15% จากปีก่อนมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,141.40 ล้านบาท โดยมีธุรกิจหลักให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ แม้ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 NCAP มุ่งเน้นการบริหารจัดการอย่างรัดกุม รถจักรยานยนต์ยังถือเป็นพาหนะหลักในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพ ส่งผลให้ภาพรวมพอร์ตสินเชื่องวดล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 2 ปีนี้ มีมูลค่าพอร์ตรวมอยู่ที่ 4,296.80 ล้านบาท โดยในครึ่งปีแรก NCAP มีมูลค่าสัญญาใหม่เพิ่มขึ้น 1,670 ล้านบาท หรือเพิ่มเขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 78% ขณะที่ปีที่แล้วสัญญาใหม่รวมทั้งปีอยู่ที่ 2,302 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นรถจักรยานยนต์ขนาดเล็ก (Small Bike) สัดส่วนประมาณ 54% สะท้อนดีมานด์ยังอยู่ในระดับสูง และตั้งเป้าสิ้นปีนี้ NCAP จะมีพอร์ตสินเชื่อรวมโตไม่ต่ำกว่า 20%
กลยุทธ์ในช่วงต่อจากนี้ NCAP จะยังคงมุ่งมั่นขยายตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ จากผลงานในไตรมาส 2 ที่ผ่านมามีมาร์เก็ตแชร์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้วยการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน มีเครือข่ายสาขา 24 สาขา สามารถเข้าถึงลูกค้าครอบคลุม 51 จังหวัด หรือคิดเป็นการเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศประมาณ 95% แล้ว มีพันธมิตรดีลเลอร์ราว 602 ดีลเลอร์ และพนักงานภาคสนาม 352 คน แผนการโตในช่วงต่อจากนี้ จะไม่เน้นการขยายสาขาหลัก บริษัทฯ จะใช้เทคโนโลยีในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะ การเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส จากสถานการณ์โควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งให้ประชาชนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปสู่รูปแบบดิจิทัล ผนวกกับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของผู้บริหาร จะสามารถสร้างความแตกต่าง และมอบประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าได้ ด้วยต้นทุนในการขยายธุรกิจในระดับที่ต่ำลง
นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นนำ AI มาช่วยสนับสนุนการอนุมัติการปล่อยสินเชื่อได้รวดเร็วกว่าปกติ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าที่ดี และเพิ่มประสิทธิภาพในการติดตาม สะท้อนจากภาพรวม NPL ในไตรมาส 2 ปีนี้ อยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ดี ภาพรวมธุรกิจในอนาคต NCAP จะปรับเข้าสุ่ธุรกิจฟินเทคอย่างเต็มตัวมากขึ้น เจาะฐานลูกค้ากลุ่มที่ใช้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นฐานลูกค้ากลุ่มหลักในปัจจุบัน และมีแผนขยายไปยังธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่กว่าตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ถึง 7 เท่า มุ่งเน้นสินค้าอื่นๆ เพิ่มเติมที่นอกเหนือจากสินชื่อรถจักรยานยนต์ คาดได้เห็นความชัดเจนภายในปี 2565
“ภาพรวมตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ มีขนาดประมาณ 75,000 – 80,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ที่เราให้ความสำคัญ และมีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต อีกทั้ง เรากำลังเดินหน้าต่อยอดไปยังธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มเติม จากปัจจุบันเรามีฐานลูกค้าเดิมประวัติดีที่ผ่อนจบกับเราแล้ว และลูกค้าที่ยังมีความเคลื่อนไหวรวมประมาณ 2 แสนราย ที่จะสามารถเริ่มต้นในการขยายไปยังธุรกิจจำนำทะเบียนรถได้ทันที นอกจากนี้ แผนขยายไปยังธุรกิจไฟแนนซ์อื่นๆ เจาะฐานะลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีอาชีพอิสระ ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อในระบบจากธนาคารได้ (Underbanked) ซึ่งตัวเลขกลุ่มนี้มีจำนวนสูงถึงประมาณ 15 ล้านคน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล และไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป NCAP จึงรุกไปข้างหน้า ไปยังตลาดที่ใหญ่กว่าเดิม ด้วยจุดดมุ่งหมายในการเป็นที่พึ่งทางการเงินให้กลุ่มลูกค้าดังกล่าวได้” นายปุณณมาศ กล่าวทิ้งท้าย
ก่อนหน้านี้ NCAP ประกาศผลประกอบการงวดครึ่งปีแรกปี 2564 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 149.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 112% รายได้รวมอยู่ที่ 636.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากจำนวนสัญญาเช่าซื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 23.5% แข็งแกร่งต่อเนื่อง