บล.กรุงศรีฯ:
INVESTMENT STRATEGY – policy buffer จะส่งผลเสียมากกว่าผลดีหรือเปล่า?
What’s new?
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 25bp เป็น 2.25% ในการประชุม กนง. รอบล่าสุด ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดเอาไว้ แม้ว่าจะสวนทางกับมุมมองของเราที่คาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ย โดย ธปท. ให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ในขณะที่ความเสี่ยงในด้านเงินเฟ้อยังค่อนไปทาง upside ธปท. ยังระบุอีกว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงคือราคาพลังงานที่ลดลง มาตรการลดค่าครองชีพ และจากฐานที่ต่ำ นอกจากนี้ ยังคาดว่าราคาอาหารจะเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นในระยะต่อไป และ ธปท. ยังกล่าวถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากพลวัตรนโยบายการเงินของ Fed ด้วย
Analysis
เราเชื่อว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ ธปท. อาจจะดำเนินนโยบายผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ายังเดินหน้าไปในแนวทาง hawkish ต่อไป ซึ่งหากพิจารณาแนวโน้มการเติบโตในภาพรวมแล้ว ข้อมูลที่สำคัญส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งออก การบริโภค (ไม่รวม non-residence) และ การลงทุน มีแนวโน้มลดลงทุกด้าน นอกจากนี้ ข้อมูลการส่งออกล่าสุดของประเทศในภูมิภาค (เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน) ยังส่งสัญญาณที่อ่อนแอออกมาอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าตัวเลขในภาคบริการจะยังถือว่าแข็งแกร่งอยู่ แต่โมเมนตัมด้านบวกกำลังแผ่วลงไปเรื่อย ๆ เราเห็นด้วยว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ราคาอาหารทั้งโลกจะสูงขึ้นในช่วงเดือนต่อ ๆ ไปจากข้อจำกัดในฝั่งอุปทาน แต่ก็น่าจะหักล้างกันไปกับราคาสินค้าอื่น ๆ ที่ลดลงอย่างมาก ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าจีนกำลังส่งต่อภาวะ disinflation ไปยังประเทศอื่น ๆ ในโลก รวมถึงไทยด้วย ซึ่งเมื่อพิจารณา moving average 6 เดือนของทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเห็นว่ากำลังขยับเข้าใกล้เป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารกลางแล้ว ดังนั้น เราจึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องขึ้นปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นอีก สำหรับการทำหน้าที่เป็น policy buffer นั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง (real policy rate) อยู่ที่ 2% ซึ่งถือว่าอยู่ในแดนบวกแล้ว หมายความว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ในปัจจุบันน่าจะเพียงพอที่จะฉุดให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเข้าใกล้ศูนย์ได้ถ้าจำเป็น