SJWD กำไรสุทธิ 6 เดือนแรกปีนี้ 360.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.9% แข็งแกร่งกว่าตลาด ชูจุดเด่นบริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนหลากหลาย มั่นใจผลงานครึ่งปีหลังโดดเด่น
บมจ.เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ หรือ SJWD ทำกำไรสุทธิงวด 6 เดือนแรก 360.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.9% และรายได้รวม 11,141.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 296.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ดีมานด์โลจิสติกส์และซัพพลายเชนสินค้าบางกลุ่มชะลอตัวในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ตอกย้ำศักยภาพธุรกิจแข็งแกร่งกว่าตลาด จากความหลากหลายของบริการและฐานธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงการรวมงบการเงินของ เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเมนท์ มั่นใจแนวโน้มผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก จากความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าห้องเย็น คลังสินค้าอันตราย การขนส่งเชื้อเพลิงถ่านหิน บริการรับฝากและบริหารยานยนต์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รุกเจรจาดีล M&A ขยายธุรกิจตามแผน
ดร.เอกพงษ์ ตั้งศรีสงวน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD ผู้ให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนานยน) ของปีนี้ แม้มีความท้าทายจากภาพรวมอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนบางกลุ่มที่ชะลอตัวในไตรมาส 2/2566 อย่างไรก็ตามจากความหลากหลายของการให้บริการและกลยุทธ์กระจายการลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงการรวมงบการเงินของบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SCGL) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถทำผลงานแข็งแกร่งกว่าตลาด โดยมีรายได้รวม 11,141.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 296.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 360.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีธุรกิจโลจิสติกส์สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ และธุรกิจต่างประเทศที่เติบโตโดดเด่น
ขณะที่ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2566 (เมษายน-มิถุนายน) มีรายได้รวม 6,199.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 343.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 25.4% จากไตรมาสก่อนหน้าตามลำดับ โดยธุรกิจที่เติบโตได้ดี เช่น ธุรกิจขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นพอร์ตหลัก มีรายได้ 3,220.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 955% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ธุรกิจคลังสินค้า มีรายได้ 844.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มนี้บริการรับฝากและบริหารยานยนต์ มีรายได้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากได้รับงานขนส่งยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น, ธุรกิจต่างประเทศมีรายได้ 747.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,200% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, ธุรกิจอื่น ๆ เช่น ซัพพลายเชนอาหาร, สถาบันศึกษาด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น มีรายได้ 706.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% เป็นต้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากธุรกิจขนส่งสินค้าบางประเภทมีดีมานด์ชะลอตัว ปริมาณการเช่าพื้นที่คลังสินค้าห้องเย็นลดลงเนื่องจากมีการเบิกสินค้าออกจากคลังเพิ่มขึ้น และส่วนแบ่งกำไรจากธุรกิจที่เข้าร่วมลงทุนบางส่วนที่ลดลง ประกอบกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับการควบรวมกิจการที่รับรู้เพิ่มเติมในระหว่างไตรมาส ส่งผลให้มีกำไรสุทธิไตรมาส 2/2566 อยู่ที่ 129.2 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีความมั่นใจว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยบวกจากความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าห้องเย็นที่กลับมาเพิ่มขึ้นแล้วในปัจจุบันจากดีมานด์กลุ่มปลาแช่แข็ง ความต้องการใช้และขนส่งถ่านหินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากราคาในตลาดโลกทยอยลดลง ความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าอันตรายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และบริการรับฝากและบริหารยานยนต์ที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการให้บริการแก่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าโมเดลใหม่ นอกจากนี้ธุรกิจที่เข้าร่วมลงทุนคาดว่าจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้น เช่น นิคมอุตสาหกรรม PPSP ในประเทศกัมพูชาที่คาดว่าจะมีการโอนที่ดินแก่ลูกค้า, Transimex ในประเทศเวียดนามที่คาดว่าผลประกอบการจะดีขึ้นหลังรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว
“ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างดำเนินการรับโอนกิจการทั้งหมด (EBT) ของ SCGL เพื่อรวมกิจการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 ปีนี้ และอยู่ระหว่างเจรจาดีล M&A เพื่อขยายการลงทุน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในครึ่งปีหลังของปีนี้ รวมถึงเตรียมเสนอขายหุ้นกู้แก่นัลงทุนเพื่อนำเงินมาใช้ขยายธุรกิจและปรับโครงสร้างทางการเงิน ล่าสุดมีผู้แสดงความสนใจมากกว่าจำนวนหุ้นกู้ที่จัดสรรไว้เพื่อเสนอขายครั้งนี้ จึงมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน” ดร.เอกพงษ์ กล่าว