บล.บัวหลวง:
Betagro (BTG TB/BTG.BK)
BTG – ขาดทุนหลักมากกว่าคาดเล็กน้อย; คาดขาดทุนหลักไตรมาส 3/66 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น QoQ
ขาดทุนสุทธิเป็นไปตามคาด แต่ขาดทุนหลักมากกว่าคาดเล็กน้อย
BTG รายงานขาดทุนสุทธิไตรมาส 2/66 ที่ 351 ล้านบาท พลิกกลับจากกำไรสุทธิ 1.87 พันล้านบาทในไตรมาส 2/65 และกำไรสุทธิ 393 ล้านบาทในไตรมาส 1/66 หากไม่รวมรายการพิเศษในไตรมาส 2/66 ได้แก่ กำไรจาก อัตราแลกเปลี่ยน 12 ล้านบาท ขาดทุนจากการป้องกันความเสี่ยงตราสารอนุพันธ์ 79 ล้านบาท ขาดทุนจากสินทรัพย์ชีวภาพ 20 ล้านบาท และกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนและที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ 5 ล้านบาท ขาดทุนหลักในไตรมาสนี้อยู่ที่ 268 ล้านบาท แย่ลงถ้าเทียบกับกำไรหลัก 2.01 พันล้านบาทในไตรมาส 2/65 และกําไรหลัก 400 ล้านบาทในไตรมาส 1/66 ชาดทุนสุทธิถือว่าเป็นไปตามที่เราคาดก่อนหน้า แต่ขาดทุนหลักถือว่า มากกว่าคาด 7% เนื่องจากรายการเครดิตภาษีที่น้อยกว่าคาด ยอดขาย กำไรขั้นต้น และอัตรากำไรขั้นต้นถือว่าเป็นไปตามคาดก่อนหน้า อัตรากำไรขั้นต้นที่ 10.5% ถือว่าใกล้เคียงกับที่เราคาดก่อนหน้า แต่ต่ำกว่า 19.6% ในไตรมาส 2/65 และ 12.7% ในไตรมาส 1/66 ขาดทุนหลังหักภาษีมากกว่าที่เราคาด 7% เนื่องจากรายการเครดิตภาษีที่น้อยกว่าคาด
ประเด็นสําคัญจากผลประกอบการ
ผลประกอบการหลักที่แย่ลง YoY เนื่องจากราคาหมูไทยที่ปรับตัวลงแรง (จากสถานการณ์หมูเถื่อนที่ลักลอบนำเข้าที่แย่ลงในไตรมาส 2/66) ราคาหมูและไก่ในกัมพูชาที่ปรับตัวลดลง ยอดขายรวมที่ลดลง และอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลง อย่างมาก (จากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นแรงและราคาหมูที่ปรับตัวลดลง) ยอดขายรวมในไตรมาสนี้ลดลง 5% YoY เนื่องจากยอดขายธุรกิจปศุสัตว์ (ลดลง 22% YoY จากราคาหมูมีชีวิตที่ปรับตัวลดลง) ยอดขายธุรกิจอาหารเพื่อการ บริโภค (ลดลง 17% YoY จากราคาผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วนหมูไทยที่ปรับตัวลดลง) ยอดขายธุรกิจชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์พลอยได้ (ลดลง 13% YoY) และยอดขายธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง (ลดลง 8% YoY เนื่องจากการลดค่าสั่งซื้อ จากลูกค้าในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 หลังจากที่ลูกค้าได้ทำการสต็อกสินค้าไปแล้วจํานวนมากในช่วงครึ่งหลังของปี 2565) ในทางตรงกันข้าม ยอดขายธุรกิจเกษตรในไตรมาสนี้กลับเพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 15% YoY (เนื่องจากการ ปรับเพิ่มราคาขายซึ่งสอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และวอลุ่มขายที่เพิ่มขึ้นจากการขยายกำลังการผลิตที่โรงงานจังหวัดนครราชสีมาในช่วงปลายปี 2565)
อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจเกษตรเพิ่มขึ้นจาก 10.6% ในไตรมาส 2/65 ไปเป็น 12.8% ในไตรมาส 2/66 เนื่องจากการปรับราคาขายอาหารสัตว์ให้สะท้อนต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นได้มากขึ้น อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจอาหารและโปรตีนลดลงจาก 23.4% ในไตรมาส 2/65 เหลือ 9.2% ในไตรมาส 2/66 เนื่องจากราคาขายหมูที่ปรับตัวลดลงและต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น อัตรากําไรขั้นต้นของธุรกิจในต่างประเทศลดลงจาก 10.5% ในไตรมาส 2/65 เหลือ 7.7% ในไตรมาส 2/66 (แต่ฟื้นตัว QoQ จาก 1% ในไตรมาส 1/66 เนื่องจากการฟื้นตัวของทั้งราคาหมูและราคาไก่ในประเทศกัมพูชา) อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นทั้ง YoY และ QoQ ไปเป็น 25.9% (เนื่องจากการปรับเพิ่มราคาขายและการเพิ่มสัดส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงที่ราคาแพงขึ้นและมีอัตรากำไรที่สูงขึ้น)
แนวโน้ม
ปัจจัยบวกหนึ่งอย่าง ได้แก่ ราคาหมูในตลาดกทม. ได้ปรับตังวเพิ่มขึ้น 2 บาท/กก. เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (จาก 65.5 บาท/กก. เพิ่มเป็น 67.5 บาท/กก.) แต่ราคาหมูในตลาดนครปฐมยังคงยืนที่เดิมที่ 59 บาท/กก. ตั้งแต่กลางเดือนก.ค. เป็นต้นมา เราจะจับตาดูราคาหมูไทยอย่างใกล้ชิดในอีก 2-3 เดือนข้างหน้าว่า แนวโน้มราคาหมูไทยที่เพิ่มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจะยืนยาวต่อเนื่องหรือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามราคาหมูไทยได้ปรับตัวลดลงจาก 78-82 บาท/กก. (ช่วงต้นเดือน มิ.ย.) ลงไปเหลือ 59-67 บาท/กก. (ช่วงตั้งแต่กลางเดือน ก.ค. จนถึงต้นเดือน ส.ค.) และราคาเฉลี่ยตั้งแต่ต้นไตรมาส 3/66 จนถึงปัจจุบัน (1 ก.ค.-11 ส.ค.) อยู่ที่ 64 บาท/กก. เราจึงใช้สมมติฐานราคาหมูไทยเฉลี่ยสำหรับทั้งไตรมาส 3/66 ที่ 62 บาท/กก. ลดลง 40% YoY และ 22% QoQ และเนื่องจากราคาไก่ไทยตั้งแต่ต้นไตรมาส 3/66 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ 42.5 บาท/กก. เราจึงใช้สมมติฐานราคาไก่ไทยเฉลี่ยที่ 41 บาท/กก. สำหรับทั้งไตรมาส 3/66 หรือลดลง 12% YoY และ 4% QoQ และเนื่องจากราคาที่ปรับตัวลงแรงของราคาหมูไทย และราคาที่อ่อนตัวลงสำหรับราคาไก่ไทยในไตรมาสที่ 3/66 เราจึงคาดขาดทุนหลักในผลประกอบการ 3/66 ที่ 300 ล้านบาท แย่ลง YoY ถ้าเทียบกับกำไรหลัก 2.33 พันล้านบาทในไตรมาส 3/65 และขาดทุนหลักเพิ่มขึ้น 12% QoQ
สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป
เรายังคงประมาณการกำไรสุทธิสำหรับทั้งปี 2566 ไว้เท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
คำแนะนำ
ถึงแม้ว่าเรายังคงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร” หุ้น BTG แต่เรามองว่าไม่ต้องรีบร้อนที่จะลงทุนในหุ้น BTG ในขณะที่ราคาหมูไทยยังคงไม่เห็นสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ