ปัจจัยต่างประเทศ: ตัวเลขเงินเฟ้อผู้ผลิตจีนพุ่งสูง 9.5% YoY สูงกว่าเดือนก่อนและตลาดคาดที่ 9.0% ซึ่งถือว่าสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2008 โดยราคาถ่านหิน, เคมีภัณฑ์และโลหะอุตสาหกรรมเป็นตัวหลักในการดึงตัวเลขพุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเงินเฟ้อผู้บริโภคออกมาที่ 0.8% ต่ำกว่าตลาดคาดที่ 1.0% และระดับเป้าหมายที่ 3.0% จากการควบคุมโควิดเดลต้าในจีนส่งผลต่อภาคบริการและเงินเฟ้อผู้บริโภคชะลอตัว ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อผู้บริโภคจะเป็นตัวเลขหลักที่ทางธนาคารกลางจีนใช้กำหนดนโยบายการเงิน เมื่อพิจารณาตัวเลขดังกล่าวเราจึงยังไม่ต้องกังวลว่าธนาคารกลางจีนจะหันมาดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ในทางกลับกันจากตัวเลขเงินเฟ้อผู้ผลิตที่ยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องแสดงถึงผู้ผลิตไม่สามารถผลักภาระต้นทุนมาให้ผู้บริโภคได้ กดดันกำไรของบริษัทและอาจส่งผลให้เศรษฐกิจจีนโดยรวมยังชะลอตัวต่อ อาจทำให้ธนาคารกลางต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ

ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป ECB เผยเตรียมปรับลดวงเงิน QE ลงใน 4Q21 จากปัจจุบันที่ซื้อเดือนละ EUR80bn (หรือ US$95bn) เนื่องจากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นไปที่ 3% ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สูงกว่าเป้าของ ECB ที่ 2% ดังนั้นการลด QE จะทำให้เงินยูโรแข็ง และราคาสินค้านำเข้าถูกลงส่งผลให้เงินเฟ้อลดลง ทั้งนี้เรามองว่าการประกาศลด QE ของ ECB เป็นไปตามที่ตลาดคาด โดย Bloomberg survey คาด ECB จะลดวงเงินซื้อ QE เดือนละ EUR10-20bn เหลือ EUR60-70bn ใน 4Q21 การตัดสินใจของ ECB ส่งผลให้ค่าเงินยูโรแข็ง (EUR/USD +0.14% เป็น 1.1829) ดอลลาร์อ่อน (Dollar index -0.13% เป็น 92.528) และค่าเงินบาทแข็ง (USD/THB -0.23% เป็น 32.675) สิ่งที่ต้องติดตามคือการประชุม Fed ในวันที่ 21-22 ก.ย. ซึ่งหาก Fed ไม่ส่งสัญญาณลด QE (ตลาดคาด Fed ประกาศแผนในเดือน พ.ย.) จะหนุนให้ค่าเงิน Dollar index อ่อนค่าไปถึงเดือน พ.ย. นี้ และทำให้บาทมีแนวโน้มแข็งค่าเทียบดอลลาร์ และมีโอกาสที่ flow จะไหลเข้าตลาด Emerging market รวมถึงตลาดหุ้นไทย

ขณะที่ทางฝั่งสหรัฐฯ รายงานตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 310,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ต่ำกว่าสัปดาห์ก่อน (345,000 ราย) และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด (335,000 ราย) ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 เดือน นับตั้งแต่เกิดโควิดในสหรัฐฯ แสดงถึงการจ้างงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่องและเมื่อประกอบกับตัวเลขเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง จึงคาดว่า Fed จะเริ่มประกาศ QE Tapering ภายในปีนี้ค่อนข้างแน่แค่ขึ้นอยู่ว่าจะเริ่มประกาศชัดเจนเมื่อไหร่เท่านั้น (ตลาดคาดว่าจะเป็นเดือน พ.ย.) และขนาดของการลดจะมากน้อยแค่ไหน (นักวิเคราะห์คาดจะลดลงประมาณ 1-1.5 หมืนลบ.ต่อเดือน) จากการที่ทางธนาคารกลางทั้งสหรัฐฯและยุโรปเริ่มมีแนวโน้มที่จะลดการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายลง อาจส่งผลให้ตลาดมีความผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงการปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของตลาดหุ้นสหรัฐฯตั้งแต่ต้นปีโดยไม่มีการปรับฐานลงมามากกว่า 5% เลย ส่งผลให้ตลาดอาจจะ sensitive ต่อข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี อย่างไรก็ตามเรายังมีมุมมองบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยงโดยรวมและตลาดหุ้นไทยที่ยัง laggard ตลาดหุ้นโลกอยู่ ดังนั้นหากมีการปรับฐานเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าจะถือเป็นโอกาสในการทยอยสะสม buy on dip

มุมมองตลาดหุ้น/ กลยุทธ์การลงทุน วันนี้คาด SET 1620-1640 หุ้นแนะนำ MEGA, BGC

1) MEGA (ราคาพื้นฐาน 52.00  บาท) คาดบริษัทจะมีกำไรดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง จากความต้องการสินค้ายาและเวชภัณฑ์รวมถึงแนวโน้มคนหันมาสนใจสุขภาพหนุนความต้องการอาหารเสริมเติบโตต่อแม้หลังโควิดดีขึ้น ขณะที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองในพม่า อาจสร้าง panic buy กระตุ้นความต้องการสินค้าของบริษัทเพิ่มเติมในระยะสั้น 2) BGC (ราคาพื้นฐาน 12.00 บาท)  มีปรับโครงสร้างธุรกิจแสงอาทิตย์ผ่านวิธี share swap กับบริษัทแม่หรือ BGE และลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเป็น 19.9% โดยขายหุ้นคืนให้กับบริษัทแม่ซึ่ง BGC จะได้รับเงินสดที่ราว 608 ลบ. และจะนำไปลงทุนในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ดังนั้นเรามีมุมมองบวกต่อทิศทางการเติบโตระยะยาวของ BGC เพราะมุ่งเน้นไปยังธุรกิจ packaging solution มากขึ้น

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ 

วันศุกร์ ติดตาม ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปของเยอรมันเดือน ส.ค. คาด +0% MoM และ +3.9% YoY ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐฯเดือน ส.ค. คาด +0.6% MoM และ +8.2% YoY และตัวเลข Wholesale Inventories ของสหรัฐฯ เดือน ก.ค. คาด +0.6% MoM

- Advertisement -