บล.บัวหลวง:

Agro & Food – ถั่วเหลือง: สภาพการเพาะปลูกของสหรัฐฯ พลิกกลับมาดีกว่าปีก่อนในเดือนส.ค. (NEUTRAL)

ฝนที่กลับมาตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่แถบมิดเวสต์ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.ค. ต่อเนื่องไปยังเดือนส.ค. ได้ส่งผลให้สภาพการเพาะปลูกถั่วเหลืองของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น และเนื่องจากราคาดั่วเหลืองโลก ที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงไปอีกจาก ณ ปัจจุบันจากการคาดการณ์ผลผลิตถั่วเหลืองจากทวีปอเมริกาใต้ที่มีแนวโน้มออกมาจำนวนมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ภายใต้สมมติฐานของความรุนแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่ยังคงมีต่อเนื่อง เราจึงยังคงคําแนะนํา “ถือ” สําหรับหุ้น TVO

สภาพการเพาะปลูกถั่วเหลืองของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น YoY เป็นครั้งแรกในเดือนส.ค.

ถ้าอ้างอิงจากรายงาน “ความคืบหน้าของการเพาะปลูก” ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ 96% ของพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองของสหรัฐฯ ทั้งหมดจนถึง ณ วันที่ 20 ส.ค. เข้าสู่ช่วงของการออกดอกแล้ว ซึ่งถือว่าเท่ากับช่วงเดียวกันของปี ก่อนหน้า และเท่ากับค่าเฉลี่ยย้อนหลังในช่วงปี 2561-65 ในขณะที่ 86% ของพื้นที่เพาะปลูกถั่วเหลืองของสหรัฐฯ ทั้งหมดจนถึง ณ วันที่ 20 ส.ค. ได้ทําการออกฝักแล้ว หรือคิดเป็นเร็วกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 3% และเร็วกว่า ค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังคิดเป็น 2% เรามองว่าพัฒนาการดังกล่าวถือว่าเป็นปัจจัยบวกเนื่องจากมีความคืบหน้าเล็กน้อยถ้าเทียบกับปีก่อนหน้า สําหรับสภาพของการเพาะปลูกในสหรัฐฯ 59% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดอยู่ในสภาพที่ดีถึงดีเยี่ยมจนถึง ณ วันที่ 20 ส.ค. หรือคิดเป็นดีกว่าปีที่แล้ว 2% สภาพของการเพาะปลูกถั่วเหลืองของสหรัฐฯ ในรอบนี้พลิกกลับจาก “แย่ลง YoY” ไปเป็น “ดีขึ้น YoY” ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนส.ค. ที่ผ่านมา เรามองว่าเป็นปัจจัยบวกในแง่ของส่วนต่างของสภาพการเพาะปลูกในระดับที่ “ดีถึงดีเยี่ยม” ได้ปรับตัวดีขึ้นจาก “ต่ำกว่าปีที่แล้ว 11-14% (11 มิ.ย.-9 ก.ค.) ไปเป็น “ต่ำกว่าปีที่แล้ว 5-8%” (16 ก.ค.-6 ส.ค.) และ “ดีกว่าปีที่แล้ว 1-2%” (13-20 ส.ค.) สภาพความชื้นของดินชั้นบนและดินชั้นใต้ผิวดินถือว่าดีขึ้นเช่นกันถ้าเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งได้เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนก.ค. เป็นต้นมา ฝนที่กลับมาตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่แถบมิดเวสต์ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนก.ค. ได้ส่งผลให้สภาพการเพาะปลูกถั่วเหลืองของสหรัฐฯ ปรับตัวดีขึ้น

ฝนตกเพิ่มขึ้นในพื้นที่แถบมิดเวสต์ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงกลางเดือนส.ค.

เราเห็นฝนที่ตกเพิ่มขึ้นในแถบมิดเวสต์ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนก.ค. จนถึงสัปดาห์ที่สามของเดือนส.ค. (จนถึงวันที่ 19 ส.ค.) ซึ่งพื้นที่บางส่วนของแถบมิดเวสต์ ได้รายงานปริมาณน้ำฝนรายสัปดาห์ที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อยสองเท่าของปริมาณ นํ้าฝนในช่วงภาวะปกติรายสัปดาห์ (โดยมีระดับปริมาณน้ำฝนรายสัปดาห์อยู่ที่ 2-6 นิ้วหรือมากกว่านั้น) และอุณหภูมิได้กลับมาเย็นลงกว่าปกติในช่วงต้นจนถึงกลางเดือนส.ค. ในช่วงต้นเดือนส.ค. พื้นที่บางแห่งในรัฐมิสซูรี่มีระดับปริมาณน้ำฝนรวมรายสัปดาห์ที่สูงกว่า 8 นิ้วหรือมากกว่านั้น ดัชนีความรุนแรงและความครอบคลุมภัยแล้ง (DSCI) สําหรับพื้นที่ในแถบมิดเวสต์ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจากจุดสูงสุดที่ 184 (11 ก.ค.) เหลือ 124 (15 ส.ค.) และบางส่วนของพื้นที่ที่เข้าข่าย “ภัยแล้งขั้นรุนแรงมากผิดปกติ” ในรัฐวิสคอนซิน มินเนโซต้า และมิสซูรี่ได้ถูกปรับลดระดับลงมาเหลือ “ภัยแล้งขั้นรุนแรง” และพื้นที่ที่เข้าข่าย “ภาวะอากาศที่แห้งผิดปกติ” ในรัฐอิลลินอยส์ได้ปรับลดลงเช่นกันในช่วงสัปดาห์ที่สองของเดือนส.ค. เรามองว่าเป็นพัฒนาการเชิงบวกในแง่ของภาวะภัยแล้งในแถบมิดเวสต์ ซึ่งรุนแรงอย่างมากในช่วงก่อนหน้านี้ได้เริ่มที่จะคลี่คลายลงเนื่องจากฝนที่ตกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ หากพิจารณาจากแนวโน้มปริมาณฝนตามฤดูกาลของสหรัฐฯ พื้นที่แถบมิดเวสต์ส่วนใหญ่ (ยกเว้นตอนบนของรัฐวิสคอนซินและทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐมินเนโซต้า) คาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนในระดับปกติสำหรับในช่วงตั้งแต่เดือนก.ย.-พ.ย. 2556

รายงานกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ-ปรับลดสต็อกของสหรัฐฯ และของโลกปี 2566/67 ลงจากเดิม

ในรายงาน “ประมาณการอุปทานและอุปสงค์ของสินค้าเกษตรโลก” เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้ทำการปรับลดสต็อกถั่วเหลืองสหรัฐฯ สำหรับปี 2566/67 ลงอีก 18% MoM (หรือลดลง 55 ล้านบูเชลเหลือ 245 ล้านบูเซล) และปรับลดสต็อกถั่วเหลืองโลกลงอีก 1.3% (หรือลดลง 1.6 ล้านตันมา เหลือ 119 ล้านตัน) เพื่อสะท้อนผลผลิตต่อพื้นที่ปลูกของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง 2% MoM (เหลือ 50.9 บูเชล/ เอเคอร์) ส่งผลให้ประมาณการผลผลิตถั่วเหลืองของสหรัฐฯ ปรับลดลง 2% MoM (เหลือ 4.21 พันล้าน บูเซล) เรามองว่าเป็นปัจจัยบวกเล็กน้อยต่อราคาถั่วเหลืองโลก เราคิดว่าการที่กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ทำการปรับลดผลผลิตต่อพื้นที่ปลูกของสหรัฐฯ ลงจากเดิมถือว่าอยู่ในการคาดการณ์ของนักลงทุนอยู่แล้วก่อนหน้า โดยนักลงทุนได้มองข้ามและหันไปเฝ้าจับตาดูผลผลิตถั่วเหลืองของทวีปอเมริกาใต้ที่คาดว่าจะออกจำนวนมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 แทน เนื่องจากความแรงของ “ปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในระดับปานกลาง” ที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ต่อเนื่องไปยังช่วงครึ่งแรกของปี 2567

- Advertisement -