บล.ฟิลลิป:

ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ – BEM 2H66 ยังฟื้นตัวแข็งแกร่ง y-y

Key Point

1H66 กลับมาฟื้นตัวมีนัยสำคัญหลังโควิดคลี่คลายและเปิดประเทศเต็มรูปแบบ และ 2H66 ภาพยังฟื้นตัวแข็งแกร่ง y-y และ h-h ทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า โดยในส่วนของรถไฟฟ้าได้ผลบวกจากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเปิดให้บริการ และการกลับมาเปิดศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์หลังปิดปรับปรุง ซึ่งแนวโน้มดีต่อเนื่องไปในปี 2567 คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาพื้นฐาน 10.90 บาท

1H66 การฟื้นตัวมีนัยสำคัญกำไร +70.1% y-y ตามผู้ใช้บริการฟื้นตัว

ครึ่งปีแรก (1H66) กลับมาฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญหลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบและโควิดคลี่คลาย การเดินทางกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยใน 1H66 ทางด่วนมีผู้ใช้เฉลี่ย 1.11 ล้านคัน/วัน +12.1% y-y และคิดเป็น 90% ของปี 2562 ก่อนโควิดที่ 1.24 ล้านคัน จากทางด่วนนอกเมืองเข้าในเมืองของ SOE +23.5% y-y และนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยมากขึ้น ส่งผลดีต่อทางด่วน Sector B และ D ที่มาจากสนามบินสุวรรณภูมิ +20.6% และ +18.3% ส่วนผู้โดยสารรถไฟฟ้าเฉลี่ย 3.66 แสนคน/วัน +75% y-y และคิดเป็น 108.8% ในปี 2562 ที่ 3.37 แสนคน จากการเปิดดำเนินงานสายสีน้ำเงินได้ครบเส้นทาง จากช่วงโควิดเปิดใช้ส่วนของ “หัวลำโพง-หลักสอง” 29 ก.ย. 62 และ “เตาปูน-ท่าพระ” 30 มี.ค. 63 จึงไม่ได้ประโยชน์จากการเปิดใช้ส่วนต่อขยาย อีกทั้งธุรกิจพาณิชย์เติบโตจากสื่อโฆษณาในระบบรถไฟฟ้าที่ฟื้นตัวตามผู้โดยสาร ทำให้โดยรวม 1H66 รายได้ +26% y-y ที่ 8,006 ล้านบาท และกำไรสุทธิ +70.1% ที่ 1,650 ล้านบาท

2H66 ยังคงฟื้นตัวแข็งแกร่ง y-y และต่อเนื่องจาก 1H66  

ครึ่งปีหลัง (2H66) คาดผู้ใช้ทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้ายังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยในเดือน ก.ค. ผู้ใช้ทางด่วนและรถไฟฟ้า +6.4% และ +42.3% y-y ที่ 1.10 ล้านคัน และ 3.91 แสนคน/วัน โดยรถไฟฟ้าได้ผลบวกจากการเปิดทดลองวิ่งรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและเก็บค่าโดยสาร 3 ก.ค. หลังเก็บค่าโดยสารมีผู้โดยสารที่ราว 4.5 หมื่นคน/วัน โดย BEM ประเมิน 30% มาต่อรถไฟฟ้าของบริษัท ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่เปิดใหม่ 12 ก.ย. 2565 หลังปิดปรับปรุง 26 เม.ย. 2562 ก็เป็นอีกปัจจัยสนับสนุน รวมถึงการเปิดโครงการอสังหาฯ ตามแนวรถไฟฟ้าและเริ่มเข้า high season ของการท่องเที่ยว ทำให้ ส.ค. ในวันทำงานมีผู้โดยสารที่ 4.8-5.0 แสนคน/วัน จากเดือน ก.ค. ที่ 4.4-4.5 แสนคน ธุรกิจเชิงพาณิชย์อยู่ระหว่างออกแบบเมโทรมอลล์ที่สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์เปิดเป็นแห่งที่ 9 และสถานีลาดพร้าวแห่งที่ 10 ซึ่งเป็นสถานีเชื่อมต่อกับสายสีเหลือง อีกทั้งยังมีปันผลของ TTW เข้ามาอีก 221 ล้านบาท ในขณะที่ต้นทุนจะดีขึ้นจากต้นทุนค่าไฟฟ้ารอบใหม่ ก.ย.-ธ.ค. ลดลงเป็น 4.45 บาท/หน่วย ตามการปรับลดค่า Ft เทียบกับในช่วง ม.ค. – เม.ย. ที่ 5.33 บาท และ พ.ค. – ส.ค. ที่ 4.70 บาท ภาพรวมผลประกอบการใน 2H66 จะยังโตแข็งแกร่ง y-y และดีต่อเนื่องจาก 1H66

ปี 2567 มีโครงการอสังหาฯ ขนาดใหญ่เตรียมเปิดและโครงการใหม่จะมีความชัดเจนมากขึ้น

ปี 2567 นอกจากจะได้ประโยชน์จากการเติบโตของผู้โดยสารสายสีเหลืองและรับรู้เต็มปี จะมีโครงการอสังหาฯขนาดใหญ่ “วัน แบงค็อก” บนพื้นที่ 104 ไร่ จะเปิดเฟสแรกใน 4067 ใกล้สถานีลุมพินี และ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” บนพื้นที่ 23 ไร่ ก็จะมีการเปิดบางส่วนใน 4Q67 ใกล้สถานีสีลม ซึ่งทั้ง 2 โครงการเป็น mixed use ขนาดใหญ่ มีทั้งโรงแรม ออฟฟิศ ศูนย์การค้า และที่พักอาศัย

โครงการระยะสั้นที่จะมีความชัดเจนมากในปี 2567 สายสีส้มที่ชนะการประมูลอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญา และโครงการทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างทำ EIA คาดจะได้ผลในเร็วๆ นี้ ทั้ง 2 โครงการยังต้องรออนุมัติจาก ครม. ชุดใหม่ ส่วนต่อขยายสายสีม่วงๆ ใต้ที่เริ่มก่อสร้างแล้ว ซึ่งในส่วนของสีม่วงเหนือ BEM ได้สัญญาบริหารการเดินรถไฟฟ้า คาดว่า รฟม. จะเข้าเจรจากับ BEM ในการบริหารทั้งเส้นทาง และโครงการระยะยาวรอการเปิดประมูลมอเตอร์เวย์เส้นใหม่ โดย BEM สนใจ คือ มอเตอร์เวย์ศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (M7), มอเตอร์เวย์ นครปฐม-ปากท่อ (M8) และมอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-บางบัวทอง (M9) ส่วนรถไฟฟ้าคงรอสายใหม่ๆ

ราคาพื้นฐานปี 66 ที่ 10.90 บาท ยังคงแนะนำ “ซื้อ”

ฟื้นตัวได้ดีจากโควิดและการกลับมาเป็นประเทศเต็มรูปแบบในอนาคตยังมีการเติบโตได้ต่อเนื่องจากโครงการใหม่ ๆ ที่มีโอกาสได้งาน ทางฝ่ายยังคงคาดกำไรสุทธิปี 66 ที่ 3,580 ลบ. +47%y-y ราคาพื้นฐานปี 66 อยู่ที่ 10.90 บาท บนวิธี SOTP ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ”

ความเสี่ยง

  1. การดำเนินธุรกิจภายใต้สัญญากับหน่วยงานภาครัฐและนโยบายของรัฐบาล
  2. รายได้ไม่เป็นไปตามประมาณการและความผันผวนของต้นทุน
  3. โครรงการใหม่ที่ไม่เป็นไปตามแผนทั้งของบริษัทและภาครัฐ

 

- Advertisement -