MICRO ชูกลยุทธ์ H2 รักษาพอร์ตลูกหนี้ดี-คุมเข้มคุณภาพสินเชื่อสกัดหนี้เสีย Q4/66 MFIN ดีเดย์ปล่อยสินเชื่อจำนำเล่มทะเบียน เสริมแกร่งรายได้
“บมจ.ไมโครลิสซิ่ง หรือ MICRO” เผยกลยุทธ์ครึ่งปีหลังเน้นดูแลรักษาพอร์ตลูกหนี้ที่ดีไว้ รวมถึงเน้นคุณภาพสินเชื่อเป็นหลัก คุม NPL ให้อยู่ระดับต่ำกว่า 4% รักษาพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 4,700-5,000 ลบ. ล่าสุดปรับเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่เหลือ 1,800-2,000 ลบ. ประกาศข่าวดี ไตรมาส 4/66 MFIN ดีเดย์ ปล่อยสินเชื่อจำนำเล่มทะเบียน (Title Loan) เสริมแกร่งรายได้ ล่าสุดประกาศผลประกอบการในงวดไตรมาส 2/2566 บริษัทมีรายได้รวม 232.35 ลบ. เพิ่มขึ้น 11.41% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ขาดทุนสุทธิรวมส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท จำนวน 11.81 ลบ.
นายวิศาลท์ บูรณสันติกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MICRO เปิดเผยว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566 บริษัทฯเน้นรักษาพอร์ตลูกหนี้ที่ดีไว้ และคัดกรองลูกหนี้ที่มีคุณภาพเพื่อป้องกันการเกิดหนี้เสีย และควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 4% รวมถึงพยายามรักษาพอร์ตสินเชื่อรวมให้อยู่ที่ 4,700-5,000 ล้านบาท
“ในครึ่งปีหลังนี้เป็นช่วงที่ทางบริษัทพยายามมุ่งเน้นในการดูแลและรักษาเงินทุนหมุนเวียนเป็นหลัก เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวลากยาวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยธุรกิจภาคการขนส่งและภาคก่อสร้างยังคงชะลอตัวต่อ เนื่องจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะสงคราม ราคาน้ำมัน และความไม่แน่นอนทางด้านการเมือง ขณะที่ภาคการเกษตรประสบกับภาวะเอลนีโญซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อจำนวนผลผลิต ทำให้ภาพรวมของการขนส่งโดยใช้รถบรรทุกมีโอกาสปรับตัวลดลง ดังนั้น บริษัทฯจึงมีการเพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองคุณภาพหนี้ของลูกค้าที่เข้ามาขอสินเชื่อพร้อมปรับเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้อยู่ที่ 1,800-2,000 ล้านบาท โดยปีนี้เราจะเน้นคุณภาพของสินเชื่อเป็นหลัก จึงไม่เน้นการปล่อยสินเชื่อแบบเติบโต แต่จะพยายามดูแลฐานลูกค้าเดิมที่มีศักยภาพและมีคุณภาพหนี้ที่ดีไว้ โดยดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง รวมถึงยังไม่มีการเปิดสาขาใหม่เพิ่ม โดยขอประเมินและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและรอความชัดเจนด้านนโยบายของรัฐบาลใหม่ เพื่อกำหนดทิศทางในปีหน้าต่อไป” นายวิศาลท์ กล่าว
ปัจจุบัน MICRO ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสอง ในปี 66 จะเน้นการควบคุมพอร์ตสินเชื่อที่มีคุณภาพ โดยในกลุ่มธุรกิจประกอบด้วย บริษัท ไมโครพลัสลิสซิ่ง จำกัด (MPLUS) ที่เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เน้นดีลเลอร์ที่คัดคุณภาพลูกหนี้ที่ดีให้กับเรา ยังขยายพอร์ตแต่จะมีการปล่อยสินเชื่อลดลงเฉลี่ยเดือนละ 40 ล้านบาท
ขณะที่บริษัท ไมโครอินชัวร์ โบรกเกอร์ จำกัด (MIB) ดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต วางแผนต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้กับกลุ่มลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อทั้งรถบรรทุกมือสอง และรถจักรยานยนต์
รวมถึงบริษัท ไมโคร ฟิน จำกัด (MFIN) ที่ตั้งเป้าให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และสินเชื่อที่ไม่มีทะเบียนรถเป็นประกัน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ต้องการเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลังผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งได้เริ่มปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมให้กับลูกค้าเก่าของบริษัท (Top-up) ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2566 และคาดว่าจะเริ่มปล่อยสินเชื่อจำนำเล่มทะเบียน (Title Loan) ได้ในช่วงไตรมาส 4/2566 โดยเน้นขยายจากฐานลูกค้าเดิมของ MICRO เป็นหลัก เพื่อเพิ่มรายได้อีกทางให้กับบริษัท
อย่างไรก็ตาม ไมโครลิสซิ่ง กรุ๊ป ไม่ได้ปิดกั้นการดำเนินธุรกิจ แต่ดำเนินธุรกิจแบบระมัดระวัง โดยยังคงมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงช่องทางการให้บริการต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ และไลฟ์สไตล์ของลูกค้าเป็นสำคัญ โดยมุ่งหวังที่จะส่งต่อผลิตภัณฑ์ และบริการที่มีคุณค่าสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด
สำหรับผลประกอบการในงวดไตรมาส 2/2566 บริษัทมีรายได้รวม 232.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.79 ล้านบาท จากงวดเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นร้อยละ 11.41 ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นรายได้ดอกเบี้ยรับจากสัญญาเช่าซื้อจำนวน 200.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32.88 ล้านบาท หรือ 19.62% ซึ่งเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อบริษัท และรายได้จากค่าบริการและค่าธรรมเนียมจากประกันรถและประกันคุ้มครองวงเงินสินเชื่ออยู่ที่ 29.55 ล้านบาท ลดลง 22.72% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
โดยมีผลขาดทุนสุทธิรวมส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท จำนวน 11.81 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่ 18.72 ล้านบาท ลดลง 30.53 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 163.07 ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมันที่กระทบต่อรายได้ของลูกค้าค่อนข้างเยอะ ส่งผลต่อคุณภาพหนี้ การตัดหนี้สูญ และการยึดรถที่สูงมากขึ้นมากกว่าปกติ ภาพรวมทั้งหมดทำให้ต้นทุนด้านเครดิตคอสต์สูงขึ้น