บริษัท เกียรติธนาขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ KIAT ผู้นำในการให้บริการด้านการขนส่งวัตถุอันตรายและสินค้าพิเศษที่เน้นความปลอดภัยสูง เปิดข้อมูลจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พบการขนส่งสินค้าทางรถไฟเริ่มขยับตัวเติบโต หลังจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่แล้วเสร็จ ดันผู้ประกอบการใช้บริการขนส่งทางรางเพิ่ม เผยเป็นระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ประหยัดพลังงาน และมีความคุ้มค่าสูงสุด เชื่อการขนส่งทางรางยังคงเติบโตต่อเนื่อง ด้าน KIAT สบช่องรุกตีตลาดขนส่งทางรางเพิ่มช่องทางขนส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เล็งเพิ่มสัดส่วนรายได้ขนส่งทางรางเป็น 15% จากเดิม 5% คาดรายได้ทั้งปีโตรวม 15%
นางสาวมินตรา มนต์เสรีนุสรณ์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เกียรติธนาขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ KIAT เปิดเผยว่า จากข้อมูลของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พบว่าการขนส่งสินค้าทางรางด้วยรถไฟมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการผลักดันของภาครัฐบาล โดยได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบรางอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการโดยสารและการขนส่งสินค้าต่าง ๆ เพื่อยกระดับระบบโลจิสติกส์ของประเทศให้สามารถแข่งขันทัดเทียมนานาประเทศ การก่อสร้างรถไฟทางคู่แล้วเสร็จ โดยพบว่าการขนส่งสินค้าทางรางมีอัตราต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้กับการขนส่งทางรถบรรทุก อีกทั้งการขนส่งสินค้าทางรถไฟมีจุดเด่นในเรื่องความปลอดภัย ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงพาหนะขนส่ง เหมาะเป็นทางเลือกใหม่ของการขนส่งในสถานการณ์น้ำมันราคาขาขึ้น และช่วยลดปัญหาด้านมลพิษ ลดการปล่อยคาร์บอนจากรถบรรทุก โดยในภาคธุรกิจเริ่มนำไปคำนวน และนำไปขายในตลาดซื้อ-ขาย ‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ
“การขนส่งทางรางเป็นโอกาสของผู้ประกอบ ทั้งในด้านการลดต้นทุน ความปลอดภัย อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มกำลัง ซึ่ง KIAT มองเห็นโอกาสดังกล่าว และกำลังเดินหน้าแผนขยายการให้บริการขนส่งทางรางรถไฟ ด้วยสัญญางานขนส่งใหม่ที่เพิ่งได้มามีมูลค่าสัญญากว่า 470 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี โดยเป็นการขนส่งเกลือบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตสารคลอร์-อัลคาไล ให้กับ บริษัท เอจีซี วีนิไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AGC Vinythai ผู้ผลิตและจำหน่ายโซดาไฟ ผงพีวีซี และอีพิคลอโรไฮดรินฐานชีวภาพให้แก่อุตสาหกรรมและตลาดเกิดใหม่ในประเทศต่าง ๆ โดยใช้การขนส่งทางรถไฟเป็นหลัก 60% และขนส่งทางรถบรรทุก 40%” นางสาวมินตรากล่าว
ทั้งนี้ การลงนามสัญญาขนส่งทางรางดังกล่าว เป็นการต่อจากสัญญาที่ลูกค้ามีความพึงพอใจและให้ความไว้วางใจ KIAT ในการขนส่งผ่านระบบรางด้วยรถไฟ จึงเพิ่มวอลลุ่มการขนส่ง ส่งผลให้สัญญาใหม่มีมูลค่าเพิ่ม 35% โดยในอนาคต KIAT มีแผนที่จะบุกการขนส่งทางราง ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ขนส่งทางรางจากปัจจุบัน 5% ไปเป็น 15% ภายในปี 67 คาดรายได้จากทั้งธุรกิจหลักการขนส่งวัตถุอันตรายและสินค้าพิเศษ และธุรกิจอื่น ๆ ของบริษัทย่อย โตรวม 15% ภายในปี 2566 นี้
อย่างไรก็ดี การขนส่งทางรางนับเป็นระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย ที่มองเห็นอนาคตที่สดใส โดยมีภาครัฐคอยให้การสนับสนุน บุกเบิกการเชื่อมต่อรางรถไฟไปยังประเทศเพื่อนบ้าน – ลาวและกำพูชา นอกจากนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้การขนส่งทางรางมีแนวโน้มเติบโตยังมาจากปัญหาค่าน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของค่าแรงจากนโยบายรัฐบาลใหม่ ทำให้ค่าใช้จ่ายพนักงานขับรถมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น รวมไปถึงในปี 2567 สมอ. เห็นชอบให้บังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 คุมมลพิษรถบรรทุก ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น ทั้งค่ารถและ AddBlue น้ำยาบำบัดไอเสียที่ผ่านมาตรฐานไอเสียระดับสูง ตลอดจนตลาดคาร์บอนเครดิตที่เริ่มเติบโตในไทย ด้วยปัจจัยเหล่านี้นับเป็นโอกาสของภาคธุรกิจโลจิสติกส์ไทย ในการสร้างผลกำไร จากการขนส่งที่ปลอดภัย ลดต้นทุน เพื่อทิศทางการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน นางสาวมินตรากล่าวทิ้งท้าย