บล.บัวหลวง:

Utilities – มีโอกาสอะไรซ่อนอยู่ในความกังวลของตลาด (NEUTRAL)

ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าล่าสุดปรับตัวลงแรง จากแผนการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าเพิ่มเติม ทั้งนี้เราปรับลดน้ำหนักการลงทุนจากมากกว่าตลาด ลงมาเหลือเท่ากับตลาด เนื่องจากจิตวิทยาเชิงลบของตลาด แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าทุกตัวที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับลดค่าไฟดังกล่าว

สะดุดระยะสั้น

หาก กกพ. ปรับลดค่าไฟรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. ลงมาเหลือ 3.99 บาท/กิโลวัตต์ ชั่วโมง (จากแผนเดิมที่ 4.45 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง) ตามมติคณะรัฐมนตรี โดยแนวโน้มราคาก๊าซยังเป็นไปตามที่ PTT คาดไว้ก่อนหน้านี้ เราคาดกําไรปี 2566 ของกลุ่มโรงไฟฟ้าที่เราให้คำแนะนำจะมีความเสี่ยงปรับลงในกรอบ 2-24% BGRIM และ GPSC มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบมาก ขณะที่ GUNKUL และ GULF มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้นายกฯ กล่าวว่าต้องการให้ค่าไฟฟ้าอยู่ราวๆ 3.00 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือถูกกว่านั้น และจะเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า แต่เราเห็นว่าระดับราคาดังกล่าวน่าจะเป็นไปไม่ได้

การยืดชำระหนี้ของ กฟผ. จะหมายถึงค่าไฟในระยะยาวที่สูงขึ้น

รายละเอียดการปรับลดราคาค่าไฟยังไม่ชัดเจน แต่เรามองว่ารัฐบาลจะชะลอการชำระหนี้ให้กับ กฟผ.แน่นอน หากแนวโน้มราคาก๊าซยังคงเป็นไปตามที่เราคาดก่อนหน้า ภาระเงินอุดหนุนของ กฟผ. อาจเพิ่มขึ้นเป็น 1.7-1.8 แสนล้านบาทภายในสิ้นปี 2566 ซึ่งภาระจํานวนมากนี้อาจทําให้ กฟผ. ประสบปัญหาในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผนรวมหลายกิกะวัตต์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และหากใช้โรงไฟฟ้าเก่าต่อไป (ประสิทธิภาพต่ำ) ก็อาจทําให้ค่าไฟสูงขึ้นได้ในระยะกลางถึงระยะยาว

ปรับลดค่าไฟต่อ?

บนสมมติฐานที่ PTT สามารถเพิ่มกำลังการผลิตที่แหล่งก๊าซเอราวัณจากปัจจุบันที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ไปเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในไตรมาส 1/67 และ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ภายในไตรมาส 2/67 ราคาก๊าซในปี 2567 น่าจะปรับตัวลงมาเหลือ 260-280 บาท/ล้าน btu (จาก 310-500 บาท/ล้าน btu ในปี 2566) ซึ่งบนระดับราคาดังกล่าว ค่าไฟ (ที่ไม่ต้องนํามาช่วยชำระภาระเงินอุดหนุนของ กฟผ.) น่าจะอยู่ในกรอบ 3.7-3.9 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง หากรัฐบาลคงค่าไฟไว้ที่ 3.99 บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง อาจต้องใช้เวลา 30-40 เดือนในการเคลียร์ภาระหนี้ของกฟผ. ซึ่งในช่วงดังกล่าว โรงไฟฟ้า SPP จะได้ผลประโยชน์จากอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงกว่าปกติ

หาก กฟผ. ไม่สามารถสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ แล้วใครจะทํา?

ในรายงานกลุ่มโรงไฟฟ้าล่าสุดของเรา (เมื่อวันที่ 11 ก.ย.) เราได้อธิบายว่า แผนพัฒนาค่าลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่น่าจะต้องการกำลังการผลิตใหม่จากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนอย่างน้อย 2 กิกะวัตต์ ซึ่งต้องเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในปี 2570 และ กฟผ. จะต้องสร้างตามแผนอีก 4.8 กิกะวัตต์ในช่วงปี 2567-2571 เพื่อแทนที่โรงไฟฟ้าเก่า แต่หากภาครัฐลดค่าไฟเร็วกว่าต้นทุนก๊าซ จะทำให้กฟผ.สร้างโรงไฟฟ้าใหม่ได้ยาก ก็อาจจะทำให้มีการจัดสรรกำลังการผลิตโรงไฟฟ้า IPP มากขึ้น ดังนั้นเราจึงมองว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นโอกาสที่ดีในการเข้า ซื้อ GULF (หนึ่งในผู้เล่นกลุ่ม IPP รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย) ในราคาถูก

- Advertisement -