บล.บัวหลวง: 

Agro & Food – ปศุสัตว์: ความสัมพันธ์ในระดับสูงระหว่างราคาเนื้อสัตว์บกไทยและปรากฏการณ์เอลนีโญ่ (NEUTRAL)

เราแนะให้นักลงทุนมองข้ามช่วงโลว์ซีซั่นของไตรมาส 3/66 (บวกกับช่วงเทศกาลกินเจในเดือนต.ค.) ไปยังช่วงไฮซีซั่นที่จะเริ่มตั้งแต่ กลางเดือนพ.ย. ไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2567 (ซึ่งจะได้รับแรงหนุนจากความแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญ่ด้วย) เรายังคงคําแนะนํา “ซื้อเก็งกําไร” หุ้น CPF BTG TFG และ GFPT

ปรากฏการณ์เอลนีโญ่จะยิ่งส่งผลให้ภาวะอุปทานเนื้อสัตว์ที่ลดลงแย่ลงไปอีกในช่วงหน้าร้อนปี 2567

โดยปกติฤดูร้อนของประเทศไทยจะเริ่มต้นตั้งแต่กลางเดือนก.พ. ไปจนถึงกลางเดือนพ.ค. โดยเดือนเม.ย.จะเป็นเดือนที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดในรอบปี ซึ่งภาวะอากาศที่ร้อนจะส่งผลให้น้ำหนักตัวของสัตว์บกลดลงจากการกินอาหารที่ น้อยลง และอุปทานที่มีแนวโน้มเสียหายจากโรคระบาดตามฤดูกาลที่มาพร้อมอากาศที่ร้อน เช่น โรคอหิวาต์หรือโรคท้องร่วงในสัตว์ปีก โรคหลอดลมอักเสบติดเชื้อในสัตว์ปีก โรคไข้หวัดหมู โรคอุจจาระร่วงในสุกร (PED) และโรคระบบทางเดินหายใจบกพร่องและแท้งลูกในสุกร (PRRS) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ราคาสัตว์บกของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. ถ้าหากเปรียบเทียบ MoM กับในช่วงเดือนก.พ.-มี.ค.  ดังนั้นถ้าหากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในช่วงฤดูร้อน (ช่วงกลางเดือนก.พ. ถึงกลางเดือนพ.ค.) เราเชื่อว่าจะส่งผลให้ภาวะอุปทานเนื้อสัตว์บกที่ลดลงตามฤดูกาลจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และเนื่องจากความแรงของปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่คาดว่าจะยังคงยืนในระดับสูงในช่วงไตรมาส 4/66 ต่อเนื่องไปจนถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ภายใต้สมมติฐานของดัชนีที่ชี้วัดความแรงของปรากฎการณ์เอลนีโญ่หรือลานีญ่า (ONI) ที่ 1.5-1.6 ในช่วง เดือนพ.ย. 2566-ม.ค. 2567 และ 1.3 ในช่วงไตรมาส 1/67 และ 1 ในช่วงไตรมาส 2/67 เราจึงคาดว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ่จะเป็นปัจจัยบวกที่หนุนราคาเนื้อสัตว์บกไทยสําหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2567

ความสัมพันธ์ในระดับสูงระหว่างราคาเนื้อสัตว์บกไทยและปรากฏการณ์เอลนีโญ่

ถ้าพิจารณาจากรูปที่ 3 เราย้อนกลับไปติดตามปรากฏการณ์เอลนีโญ่ 7 ครั้ง ในช่วงอดีตที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2547-2563 และความสัมพันธ์กับราคาเนื้อสัตว์บกไทย เราพบว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ่ 6 ครั้งในจำนวนทั้งหมด 7 ครั้งได้ ส่งผลให้ราคาหมูไทยและราคาไก่ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏการณ์เอลนีโญ่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน มีเพียงแค่ช่วงเดียวเท่านั้นในปี 2549 ที่ราคาหมูไทยปรับตัวลดลง 28% (เนื่องจากสาเหตุอุปทานหมูล้น ตลาด) และในช่วงปี 2562-2563 ที่ราคาไก่ไทยปรับตัวลดลง 14% (เนื่องจากอุปทานไก่ที่ล้นตลาดและสถานการณ์การระบาดของ COVID-19)

ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่ “แบบไม่รุนแรงมาก” โดยมีค่า ONI อยู่ ในช่วง 0.5-0.9 และปรากฎการณ์เอลนีโญ่ระดับ “ปานกลางจนถึงรุนแรงมาก” โดยมีค่า ONI อยู่ในช่วง 0.5-2.6 ราคาหมูไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 30% ในปี 2547 (เดือนมิ.ย. 2547-มี.ค. 2548) เพิ่มขึ้น 11% ในปี 2552 (เดือนมิ.ย. 2552-เม.ย. 2553) เพิ่มขึ้น 16% ในปี 2558 (เดือนต.ค. 2557-ธ.ค. 2558) เพิ่มขึ้น 17% ทั้งในปี 2559 (เดือนม.ค.-มิ.ย. 2559) และในปี 2561-62 (เดือนก.ย. 2561-ก.ค. 2562) และเพิ่มขึ้น 34% ในช่วงปี 2562-63 (เดือนต.ค. 2562-เม.ย. 2563) และสำหรับระยะเวลาที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในช่วงเดียวกัน ราคาไก่ไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง 67% ในปี 2547 เพิ่มขึ้น 50% ในปี 2549 เพิ่มขึ้น 21% ในปี 2552 เพิ่มขึ้น 6-7% ในปี 2558 และ 2559 และ เพิ่มขึ้น 12% ในช่วงปี 2561-62

มองข้ามช่วงโลว์ซีซั่นในไตรมาส 3/66 (รวมถึงเทศกาลกินเจในเดือนต.ค.) ไปยังช่วงครึ่งแรกของปี 2567

เรามองว่าราคาหมูไทยที่ปรับตัวลดลงอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ (จาก 69.5 บาท/กก. เหลือ 65.5 บาท/กก. ในช่วง วันที่ 15-18 ก.ย. สำหรับตลาดกทม. และจาก 70.5 บาท/กก. เหลือ 66 บาท/กก. เมื่อวันที่ 18 ก.ย. สำหรับ ตลาดจังหวัดนครปฐม) และราคาไก่ไทยที่ลดลง (จาก 41 บาท/กก. เหลือ 40 บาท/กก. เมื่อวันที่ 18 ก.ย. สําหรับตลาดจังหวัดนครปฐม) เป็นผลกระทบทางลบระยะสั้นตามฤดูกาล เนื่องจากฝนที่กลับมาตกแบบรายวัน สําหรับในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งนำไปสู่อุปสงค์และการบริโภคเนื้อสัตว์ที่อ่อนตัวลง เรามองว่าช่วงโลว์ซีซั่นจะลากยาวไปจนถึงช่วงกินเจในช่วงวันที่ 15-23 ต.ค. ก่อนที่คาดว่าราคาเนื้อสัตว์บกไทยจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพ.ย. และจะลากยาวไปจนถึงช่วงไฮซีซั่นในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 (ซึ่งในครั้งนี้ช่วงไฮซีซั่นจะได้รับปัจจัยบวกหนุนจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ด้วย)

- Advertisement -