KS Daily View 25.09.2023 >>> คาด SET รีบาวด์ระยะสั้น หนุนจากกลุ่มโรงกลั่น/ ICT ประเมินกรอบซื้อขายวันนี้ที่ 1,515-20/1,530 จุด หุ้นแนะนำ ERW, PTTGC

สรุปภาวะตลาดเมื่อวันวานนี้

ต่างประเทศ: ดัชนี DJIA -0.31%, S&P 500 -0.23%, NASDAQ -0.09%โดย Sector ที่ outperform ใน S&P500 เช่น Information technology (+0.26%), Energy (+0.15%), Communication services (-0.09%) ขณะที่ Consumer discretionary (-0.87%), Financials (-0.74%), Real estate (-0.72%)

ในประเทศ: SET Index +8.33 pts. หรือ +0.55% ปิดที่ 1,522.59 จุด ตัวขับเคลื่อนหลักสำคัญ DELTA (+2.87%), ADVANC (+2.70%), PTTGC (+5.19%) ขณะที่ SCB (-4.61%), CPALL (-0.81%), BDMS (-0.94%)

แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ:

มองดัชนีตลาดยังอยู่ในโหมดของการพักตัวหากยังไม่สามารถกลับไปยืนเหนือระดับ 1,540จุดได้ แต่ด้วยข่าวปัจจัยบวกเฉพาะอาจช่วยดึงให้ดัชนีมีการรีบาวด์ในระยะสั้นเช่นกลุ่มโรงกลั่น TOP, PTTGC, BCP, SPRC ที่ได้อานิสงค์เชิงบวกจากข่าวรัสเซียระงับการส่งออกน้ำมันดีเซล หรือกลุ่ม ICT เช่น ADVANC ที่มีแรงเก็งกำไรบนข่าวศาลปกครองกลางยกคำร้องเพื่อขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการกรณีข้อพิพาทของ NT และใกล้กำหนด กสทช. เคาะดีล 3BB ขณะที่ TRUE มีแรงเก็งกำไรในประเด็นขายสินทรัพย์เข้ากอง DIF มองกรอบซื้อขายวันนี้ที่1,515-20/1,530 จุด

ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:

1.) ความกังวลพลังงานขาดแคลนยังเป็นประเด็นหลัก หลังรัสเซียประกาศแบนห้ามส่งออกน้ำมันดีเซลและเบนซินออกจากประเทศชั่วคราวโดยอ้างเพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับราคาพลังงานภายในประเทศ สื่อตะวันตกมองรัสเซียใช้ภาวะการขาดแคลนพลังงานเป็นอาวุธในการทำสงครามโดยเฉพาะเมื่อยุโรปกำลังเข้าสู่ฤดูหนาว ทั้งนี้การประกาศระงับการส่งออกน้ำมันดังกล่าวเป็นมาตรการสั่งห้ามโดยที่ยังไม่มีกำหนดว่าจะสิ้นสุดเมื่อไร ข่าวเป็นบวกกับกลุ่มพลังงานโดยเฉพาะโรงกลั่น

2.) ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส เผยเตรียมนำ ตราสารหนี้อินเดีย เข้ารวมในการคำนวณดัชนีตราสารหนี้ของตลาดเกิดใหม่ คาดว่าน้ำหนักตราสารหนี้ของอินเดียจะแตะเพดานสูงสุด 10% ของดัชนี GBI-EM Global Diversified และราว 8.7% ในดัชนี GBI-EM Global index โดยตราสารหนี้ของอินเดียเข้ารวมในการคำนวณดัชนี GBI-EM ในวันที่ 28 มิ.ย.2567 การนำตราสารหนี้ของอินเดียเข้ารวมในการคำนวณดัชนี GBI-EM ส่งผลกระทบต่อการจัดสรรน้ำหนักสำหรับตราสารหนี้ของประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งได้รับผลกระทบหนักที่สุด จากการถูกปรับลดน้ำหนักตราสารหนี้ในการคำนวณดัชนีถึง 1.65% ขณะที่แอฟริกาใต้ โปแลนด์ สาธารณรัฐเชก และบราซิลถูกปรับลดน้ำหนักราว 1-1.36% ข่าวเป็นลบกับกลุ่มการเงินเนื่องจากอาจมีแรงเทขายตราสารหนี้ไทยทำให้อัตราผลตอบแทนดอกเบี้ยสำหรับตราสารหนี้เพิ่มขึ้น

3.) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานทางการจีนกำลังพิจารณาผ่อนคลายกฎระเบียบที่จำกัดการถือครองกรรมสิทธิ์ของต่างชาติในบริษัทมหาชนในประเทศ เพื่อดึงดูดเงินทุนกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และปักกิ่ง โดยในขณะนี้ จีนจำกัดการถือครองกรรมสิทธิ์ของต่างชาติในบริษัทจดทะเบียนในประเทศที่ 30% และจำกัดการถือครองหุ้นของต่างชาติแต่ละรายไว้ที่ 10% อย่างไรก็ตาม การพิจารณาล่าสุดเกี่ยวกับการถือหุ้นของต่างชาติยังคงอยู่ในขั้นเริ่มต้นและยังไม่มีการตัดสินใจรายละเอียด

4.) ที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส. นัดพิเศษมีมติเห็นชอบให้พักหนี้เกษตรกรทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 3 ปี และยังสามารถให้เกษตรกรกู้เพิ่มได้ โดยกำหนดเกษตรกรจะเข้าโครงการได้ต้องเป็นหนี้ไม่เกิน 3 แสนบาท ประเมินว่าจะมีเกษตรกรเข้าข่ายราว 2.8 ล้านราย ทั้งนี้รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส. โดยใช้วงเงินภายใต้กรอบมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังภาครัฐซึ่งคาดว่าจะใช้เงินราวหนึ่งหมื่นล้านบาท

5.) ในส่วนการพักหนี้ SME สำหรับลูกหนี้รหัส 21 ตามนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 และค้างชำระเกิน 90 วัน กลุ่มนี้มีวงเงินสินเชื่อประมาณ 3 แสนล้านบาท ลูกหนี้ประมาณ 3 ล้านบัญชี โดยทางสมาคมธนาคารไทยได้รับการประสานจากกระทรวงการคลังเพื่อตั้งคณะทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ประชาชาติธุรกิจรายงานข่าวว่าการให้ธนาคารพาณิชย์พักหนี้SME มีผลเสียมากกว่าผลดี เพราะ 1.)ทำให้ธนาคารเกิดปัญหาสภาพคล่อง กระแสเงินสดของธนาคารหายไป 2.เมื่อธนาคารมีปัญหาสภาพคล่อง ธนาคารจะไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าสู่ระบบ เพราะหนี้เดิมไม่สามารถเรียกเก็บได้ และ 3.เมื่อธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ จะทำให้เม็ดเงินที่จะไหลเข้าสู่ระบบหายไป ซึ่งจะซ้ำเติมให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) หายไปด้วย ไม่ได้เป็นไปตามนโยบายที่ต้องการหนุนให้จีดีพีโตเฉลี่ย 5% ตามที่รัฐบาลต้องการ และ 4.หากธนาคารทำตามนโยบาย จะเป็นการทำตามการเมือง ซึ่งจะมีผลต่อราคาหุ้น และนักลงทุนจะขาดความเชื่อมั่น

Theme การลงทุนสัปดาห์นี้

ประเมินตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวขึ้นในกรอบ 1,510 – 1,550 จุด จากความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากปัจจัยบวกทั้งภายในที่มีแรงหนุนจากนโยบายเชิงรุกของภาครัฐ และภายนอกจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ค่อยๆเร่งตัวขึ้น โดยสัปดาห์นี้ไทยจะมีการรายงานตัวเลขส่งออกเดือน ส.ค. คาดจะปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งเราคาดจะเริ่มเห็น flow ของนักท่องเที่ยวจีนไหลเข้ามามากขึ้นหลังมาตรการงดเว้นวีซ่าเริ่มมีผลในวันที่ 25 ก.ย.​ นอกจากนี้ให้ติดตามการประชุม กนง.​ ซึ่งความเห็นของBloomberg Consensus มีทั้งที่มองว่าขึ้นต่อ และคงดอกเบี้ย ทั้งนี้ทาง KBANK คาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยที่ 2.25% ในการประชุมวันพุธที่ 27 ก.ย.  หากคงดอกเบี้ยมองจะเป็นsentiment บวกต่อตลาดหุ้นไทย ส่วนปัจจัยในต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ทิศทาง US 10Y bond yield หลังทำจุดสูงสุดรอบ 16 ปีบนมุมมองนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของเฟด, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน รวมถึงพัฒนาการของ Geopolitical conflict ระหว่าง สหรัฐฯ-จีน และยุโรป-จีน

หุ้นแนะนำวันนี้

Top pick: ERW (ราคาพื้นฐาน 6.1 บาท) เรามองแนวโน้มผลประกอบการบริษัทสดใส กำไรเติบโตสูงตามการฟื้นตัวของทั้งอัตราการเข้าพัก (OCR) ที่เพิ่มขึ้น กอปรกับอัตราค่าห้องพักเฉลี่ยต่อคืน (ADR) และอัตรารายได้เฉลี่ยต่อห้องพัก (RevPar)ก็จะเติบโตสูง เล่นบนกระแสการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนในครึ่งปีหลังตามมาตรการวีซ่าพิเศษกระตุ้นท่องเที่ยวลดค่าไฟตามมาตรการรัฐ

Top pick: PTTGC (ราคาพื้นฐาน 41.5 บาท) มองราคาหุ้นปรับตัวลงมามากจน upside เริ่มเปิด โดยราคาหุ้นแม้ไม่ต่ำเท่าช่วง Covid พีค แต่ก็ลงมาใกล้ๆช่วง เม.ย.-พ.ค. 2020 ด้านvaluation เทรดที่เพียงราว PB 0.5x ขณะที่ผลประกอบการคาดจะทยอยฟื้นตัวขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงหลังของปีนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ประเด็นบวกจากข่าวรัสเซียระงับการส่งน้ำมันดีเซลและเบนซินช่วยหนุน

รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ

  • วันจันทร์ ติดตาม ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมัน (German Ifo business climate) เดือนก.ย. ตลาดคาดที่ 85.2 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 85.7 จุด และติดตามถ้อยแถลงของประธาน ECB นาง Christine Lagarde ต่อคณะกรรมการธิการเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์
  • วันอังคาร ติดตาม ตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ (CB consumer confidence) เดือนก.ย. ตลาดคาดที่ 105.6 จุด ลดลงจาก 106.1 จุด ในเดือนก่อนหน้า ต่อด้วยตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐฯ (New home sale) เดือนส.ค. ตลาดคาดที่ 7 แสนยูนิต เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 7.14 แสนยูนิต และดัชนีตัวเลขภาคการผลิต Richmond Manufacturing Index ของสหรัฐฯเดือนก.ย. ตลาดคาดที่ -6 จุด ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ -7 จุด
  • วันพุธ ติดตาม ผลการประชุมกนง. โดยตลาดคาดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อด้วยช่วงข้ามคืนมีรายงานตัวเลขยอดขายสินค้าคงทนของสหรัฐฯ (Durable goods orders) เดือนส.ค. ตลาดคาดที่หดตัว 0.4% MoM เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 5.2% MoMขณะที่ตัวเลขยอดขายสินค้าคงทนของสหรัฐฯที่ไม่นับยานพาหนะ (Core durable goods orders) เดือนส.ค. ตลาดคาดดีขยายตัว 0.2% MoM เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.5%MoM
  • วันพฤหัสฯ ติดตามตัวเลขส่งออกไทยเดือนส.ค. โดยตลาดคาดหดตัวลง 3.35% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 6.23%YoY ขณะที่ยอดนำเข้าเดือนส.ค. คาดหดตัว 10% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 11% YoY และดุลการค้าเดือนส.ค. ตลาดคาดขาดดุลที่ 1.7 พันล้านเหรียญฯ ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขาดดุล 1.9 พันล้านเหรียญฯ ต่อด้วยตัวเลข GDP ของสหรัฐฯสำหรับไตรมาส 2/2566 โดยเป็นการประกาศครั้งที่ 3 หลังปรับปรุงข้อมูล ตลาดคาดขยายตัว 2.2% QoQ เทียบกับการประกาศครั้งก่อนหน้าที่รายงานขยายตัว 2.0% QoQ และปิดท้ายด้วยตัวเลขบ้านรอปิดการขายของสหรัฐฯเดือนส.ค.ตลาดคาดหดตัว 0.2% MoM เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.9% MoM
  • วันศุกร์ ติดตามตัวเลขดัชนีรายจ่ายของผู้บริโภคของสหรัฐฯ (Personal consumption expenditure) เดือนส.ค. ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 3.3% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 3.5%YoY ขณะที่ตัวเลขดัชนีภาคการผลิต Chicago PMI ของสหรัฐฯ เดือนก.ย. ตลาดคาดที่ 47.4 จุด เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 48.7 จุด และดัชนีราคาผู้บริโภคเบื้องต้นของยุโรป (Flash CPI) เดือนก.ย. ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 4.5% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 5.2% YoY และดัชนีราคาผู้บริโภคเบื้องต้นของยุโรปที่ไม่รวมพลังงาน (Flash core CPI) เดือนก.ย. ตลาดคาดที่ 4.8% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 5.3% YoY
- Advertisement -