KS Daily View 27.09.2023 >>> ดอลลาร์แข็ง/บอนด์ยีลด์เด้ง คาด SET แกว่งตัวลง ประเมินกรอบซื้อขายวันนี้ที่ 1,480/1,500 หุ้นแนะนำ SPRC HANA
สรุปภาวะตลาดเมื่อวานนี้
ต่างประเทศ :ดัชนี DJIA -1.14%, S&P 500 -1.47%, NASDAQ -1.57%โดย Sector ที่ outperform ใน S&P500 Energy (-0.50%), Health care (-0.86%), Consumer staples (-0.90%) ขณะที่ Utilities (-3.05%), Consumer discretionary (-2.03%), Information technology (-1.78%)
ในประเทศ: SET Index -13.34 pts. หรือ -0.88% ปิดที่ 1,494.02 จุด ตัวขับเคลื่อนหลักสำคัญ BDMS (+1.87%), PTTEP (+1.20%), PTT (+0.75%), BH (+1.14%) ขณะที่ GULF (-2.76%), DELTA (-0.95%), BAY (-3.10%), AOT (-0.72%)
แนวโน้มตลาดหุ้นในประเทศ:
มองดัชนีตลาดยังอยู่ในโหมดของการพักตัว โดยประเมินมีความเป็นไปได้ที่ดัชนีอาจปรับลงแตะแนวรับสำคัญที่ 1490 จุดวันนี้หลังตลาดหุ้นต่างประเทศปรับตัวลงแรงช่วงข้ามคืนไล่จากฝั่งยุโรปไปจนถึงสหรัฐฯ แม้หวังลึกๆว่าตลาดหุ้นไทยควรจะมีรีบาวด์ได้บ้างหลังปรับตัวลงมาแรงต่อเนื่องจนอยู่ในระดับ oversold แต่ดูแล้วความหวังเป็นได้ยากเพราะภาวะตลาดดูไร้ความมั่นใจ ไม่มีประเด็นบวกเข้ามาช่วยหนุน ขนาดวานนี้ประกาศตัวเลขส่งออกฟื้นตัวดียังไม่มีการตอบสนองเชิงบวก ดังนั้นหากมีการฟื้นตัวยังมองการฟื้นตัวของดัชนีคงเป็นไปในลักษณะค่อนข้างจำกัด มองกรอบซื้อขายวันนี้ที่ 1,480/1,500 จุด
ประเด็นสำคัญที่เป็นกระแสในช่วงนี้และมีผลต่อการลงทุน:
1.) อัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกเดินหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อโดยเฉพาะในส่วนของสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีของสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นทะลุระดับ 4.55% แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 และอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรของไทยระยะ 10 ปีแตะระดับ 3.24% ใกล้เคียงกับระดับสูงสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรของไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากและเร็วในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้ความน่าสนใจของการลงทุนในหุ้นไทยลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออัตราดอกเบี้ยผลตอบแทนพันธบัตรของไทยต่ำกว่าของสหรัฐฯค่อนข้างมากส่งผลกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงกว่า 25 สตางค์ วานนี้และแนวโน้มของค่าเงินบาทที่อ่อนจึงยังทำให้กระแสเงินต่างชาติยังไม่กลับมา
2.) ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้รายย่อยตามนโยบายรัฐบาลระยะที่ 1 กำหนดให้พักชำระหนี้เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยคุณสมบัติจะต้องเป็นลูกค้ารายย่อย ธ.ก.ส.ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้คงเหลือทุกสัญญารวมกัน ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท และมีสถานะเป็นหนี้ปกติ สำหรับลูกหนี้ที่มีสถานะเป็น NPLs จะสามารถเข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ได้ เมื่อได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์ของ ธ.ก.ส. แล้ว
3.)นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่าเพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาลในการทำโครงการเศรษฐกิจต่างๆ มีความต้องการในการใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นรวมถึงต้องใช้เงินตามมาตรา 28 สอดคล้องกับกระแสข่าวว่ารัฐบาลอาจมีความจำเป็นต้องเพิ่มเพดานเงินตามมาตรา 28 ขึ้นไปจากปัจจุบันที่ 32% เป็น 45% ของเงินงบประมาณ
4.) บริษัทมูราตะ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศญี่ปุ่นและซัพพลายเออร์ของ iPhone ได้สร้างโรงงานแห่งใหม่ในจังหวัดลำพูนเสร็จเป็นที่เรียบร้อยและคาดจะเริ่มการผลิตในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ โดยทางบริษัทคาดว่าจะลงทุนในโรงงานแห่งนี้กว่าหลายหมื่นล้านเยน หรือคิดเป็นเงินไทยราว 2.4 พันล้านบาท เพื่อการผลิตอย่างเต็มประสิทธิภาพภายในปี 2028 และรองรับความต้องการตัวเก็บประจุเซรามิกหลายชั้น (MLCC) ในอนาคต ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ใช้ในโทรศัพท์และรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
5.) ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลดลงแรงวานนี้หลังการเจรจาร่วมเจ้าหนี้สำหรับแผนการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของประเทศอย่าง โนวาแลนด์ อินเวสต์เมนท์ กรุ๊ป คอร์ป ไม่ลงตัว ส่งผลให้เกิดความกังวลถึงความเสี่ยงเชิงระบบและอาจลุกลามจนเป็นวิกฤตอสังหาฯเหมือนกับประเทศจีน
6.) ตัวเลขสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด โดยยอดขายบ้านใหม่อยู่ที่ 675,000 ยูนิตในเดือนสิงหาคม ต่ำกว่าประมาณการของนักเศรษฐศาสตร์ที่ 695,000 ยูนิต ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในสหรัฐฯลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบสี่เดือนที่ 103 ในเดือนกันยายนจาก 108.7 ในเดือนสิงหาคม และต่ำกว่าคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่สำรวจโดย Dow Jones ที่ 105.5
Theme การลงทุนสัปดาห์นี้
ประเมินตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวขึ้นในกรอบ 1,490 – 1,550 จุด จากความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากปัจจัยบวกทั้งภายในที่มีแรงหนุนจากนโยบายเชิงรุกของภาครัฐ และภายนอกจากอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ค่อยๆเร่งตัวขึ้น โดยสัปดาห์นี้ไทยจะมีการรายงานตัวเลขส่งออกเดือน ส.ค. คาดจะปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งเราคาดจะเริ่มเห็น flow ของนักท่องเที่ยวจีนไหลเข้ามามากขึ้นหลังมาตรการงดเว้นวีซ่าเริ่มมีผลในวันที่ 25 ก.ย. นอกจากนี้ให้ติดตามการประชุม กนง. ซึ่งความเห็นของ Bloomberg Consensus มีทั้งที่มองว่าขึ้นต่อ และคงดอกเบี้ย ทั้งนี้ทาง KBANK คาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยที่ 2.25% ในการประชุมวันพุธที่ 27 ก.ย. หากคงดอกเบี้ยมองจะเป็น sentiment บวกต่อตลาดหุ้นไทย ส่วนปัจจัยในต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ทิศทาง US 10Y bond yield หลังทำจุดสูงสุดรอบ 16 ปีบนมุมมองนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของเฟด, มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน รวมถึงพัฒนาการของ Geopolitical conflict ระหว่าง สหรัฐฯ-จีน และยุโรป-จีน
หุ้นแนะนำวันนี้ Top pick:
SPRC (ราคาพื้นฐาน 10.5 บาท) ค่าการกลั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยปรับเพิ่มขึ้นถึงกว่า 800% WoW และมองมี upside ต่อจากการบังคับใช้มาตรฐาน Euro V ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567 ขณะที่ด้าน valuation ยังถูกเทรดที่ discount 1SD ของ PB เทียบอดีตมอง downside risk จำกัด
HANA (ราคาพื้นฐาน 69 บาท) แนวโน้มกำไรเติบโตต่อเนื่องหลังเราเชื่อว่ายอดขายเซมิคอนดักเตอร์ได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในครึ่งแรกของปี 2566 และน่าจะเติบโตได้ในครึ่งปีหลังจากความต้องการเติมสต็อกของลูกค้า สอดคล้องกับข้อมูลส่งออกไทยเดือนส.ค. ที่รายงานส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ฟื้นแรง
รายงานตัวเลขเศรษฐกิจ
- วันพุธติดตาม ผลการประชุมกนง. โดยตลาดคาดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 25bps จาก 2.25% เป็น 2.50% ต่อด้วยช่วงข้ามคืนมีรายงานตัวเลขยอดขายสินค้าคงทนของสหรัฐฯ (Durable goods orders) เดือนส.ค. ตลาดคาดที่หดตัว 0.4% MoM เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัว 5.2% MoM ขณะที่ตัวเลขยอดขายสินค้าคงทนของสหรัฐฯที่ไม่นับยานพาหนะ (Core durable goods orders) เดือนส.ค. ตลาดคาดดีขยายตัว 0.2% MoM เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.5% MoM
- วันพฤหัสบดีติดตามตัวเลข GDP ของสหรัฐฯสำหรับไตรมาส 2/2566 โดยเป็นการประกาศครั้งที่ 3 หลังปรับปรุงข้อมูล ตลาดคาดขยายตัว 2.2% QoQ เทียบกับการประกาศครั้งก่อนหน้าที่รายงานขยายตัว 2.0% QoQ และปิดท้ายด้วยตัวเลขบ้านรอปิดการขายของสหรัฐฯเดือนส.ค.ตลาดคาดหดตัว 0.2% MoM เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 0.9% MoM
- วันศุกร์ติดตามตัวเลขดัชนีรายจ่ายของผู้บริโภคของสหรัฐฯ (Personal consumption expenditure) เดือนส.ค. ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 3.3% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 3.5% YoY ขณะที่ตัวเลขดัชนีภาคการผลิต Chicago PMI ของสหรัฐฯ เดือนก.ย. ตลาดคาดที่ 47.4 จุด เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 48.7 จุด และดัชนีราคาผู้บริโภคเบื้องต้นของยุโรป (Flash CPI) เดือนก.ย. ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 4.5% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 5.2% YoY และดัชนีราคาผู้บริโภคเบื้องต้นของยุโรปที่ไม่รวมพลังงาน (Flash core CPI) เดือนก.ย. ตลาดคาดที่ 4.8% YoY เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ 5.3% YoY