“คนอื่นอาจจะมุ่งมั่นในการสร้างเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ออกมามากมาย แต่สำหรับเรานวัตกรรมที่ดีที่สุดก็คือ…คน” ประโยคนี้เป็นเสียงประกาศที่หนักแน่นของเครือพญาไท-เปาโล
คุณจะรู้สึกอย่างไรถ้าได้ยินธุรกิจหนึ่งออกมาประกาศว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมากเป็นพิเศษ ซึ่งนวัตกรรมที่พวกเขาให้คุณค่ามากที่สุดก็คือ… คน เพราะคนคือสิ่งมีชีวิตที่มีอวัยวะสองส่วนที่สำคัญ นั่นคือ ‘หัวใจ’ ที่พร้อมจะเชื่อมโยงและเข้าใจความทุกข์ ความกังวลของผู้อื่น และ ‘สมอง’ ที่สามารถคิดสร้างสรรค์วิธีการใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาและบรรเทาความทุกข์ความกังวลของผู้คนเหล่านั้น
แนวคิดนี้ได้รับการตกผลึกจากทีมบริหารของกลุ่มโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล โดยเป็นแนวคิดที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่สะท้อนถึงการยึดมั่นต่อแนวคิดนี้อย่างแท้จริง และมันกำลังจะกลายไปเป็นแนวคิดหลักในโลกการทำงานยุคใหม่ที่ผู้คนเริ่มตระหนักถึงคุณค่าในฐานะมนุษย์ผู้ที่ต้องพัฒนาตัวเองเพื่อทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแค่ ‘แนวคิด’ แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงของคน ‘พญาไท-เปาโล’ อาจเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้คุณพัฒนาบางสิ่งภายในตัวเองเพื่อให้คุณกลายเป็น ‘นวัตกรรมชิ้นเอก’ เช่นกัน
ทีมบริหารของกลุ่มพญาไท-เปาโลระบุว่าหน้าที่หลักของนวัตกรรมทั้งหลายก็คือการแก้ไขปัญหาหรือทำให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น แรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังนวัตกรรมทั้งหลายในโลกใบนี้ก็คือจิตวิญญาณของมนุษย์ที่มุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง และจิตวิญญาณเช่นนี้แหล่ะที่กระตุ้นความเป็นเลิศและความกระตือรือร้นของคนพญาไท-เปาโลที่จะเรียนรู้ เติบโต และทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เรื่องราวของโรงพยาบาลที่เต็มไปด้วยความเชื่อใน ‘Fight for Better’ และ ‘Growth Mindset’ ซึ่งไม่ใช่แค่คำที่พูดตามๆ กันหรือตัวหนังสือที่ติดอยู่บนผนัง แต่มันคือความเชื่อหลักที่ฝังลึกอยู่ในใจคนพญาไท-เปาโลให้มีความมุ่งมั่นในการดูแลสุขภาพผู้คนในระดับที่ยอดเยี่ยม
“คำว่า Better ให้ความรู้สึกถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างมีพลัง ไม่ใช่การแข่งขันกับคนอื่นใด แต่เป็นการแข่งขันกับตนเอง ที่ดีขึ้น ดีขึ้นในทุกๆ ปี ทุกๆ เดือน ทุกๆ วัน เมื่อ input ด้านความรู้ ด้านประสบการณ์ ด้านวิจารณญาณ และจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้เพิ่มขึ้นภายในตนเองอย่างต่อเนื่อง เราจึงฮึดสู้และยกระดับตนเองให้เหนือกว่าตนเองอยู่ตลอดเวลา เพราะตัวเราเท่านั้นที่รู้ลึกๆ ว่า เราเก่งแล้วแค่ไหน” คำกล่าวจาก นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ผู้อำนวยการสายบริหารการสื่อสาร และพัฒนาสุขภาพสัมพันธ์องค์กร เครือ รพ.พญาไท – เปาโล
เรื่องราวที่สะท้อนความเชื่อและความรู้สึกนี้มาจากทุกคนที่ทำงานที่ ‘พญาไท-เปาโล’ โดยเฉพาะเรื่องของ ‘นุชจรี กิจวรรณ’ พยาบาลวิชาชีพที่ประสบปัญหาในการดูแลผู้ป่วยที่ปัญหาเดิมมักจะวนกลับมาซ้ำๆ ตลอดหลายปีที่เธอทำงาน สถานการณ์นี้ทำให้เธอไปพูดคุยกับผู้บริหารเพื่อขอกำหนดบทบาทตัวเองใหม่ในฐานะ ‘พยาบาลวิจัย’ ซึ่งเธอได้กลายเป็นพยาบาลวิจัยคนแรกในโรงพยาบาลแห่งนี้
นุชจรีให้เวลาในการพบปะและสนทนากับพยาบาลร่วมวิชาชีพเพื่อรับฟังปัญหาต่างๆ ของพวกเขา เธอเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อไปทำการวิจัยและร่วมงานกับวิศวกรในการออกแบบเครื่องมือเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้น โดยที่เธอสามารถคิดค้นนวัตกรรมในการแก้ปัญหาต่างๆ ออกมาได้มากกว่า 400 โครงการ
หนึ่งในนวัตกรรมชิ้นโบว์แดงของนุจรีคือเตียงลดแผลกดทับ ที่สามารถวัดแรงกดทับของร่างกายของผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะติดเตียงได้อย่างแม่นยำ นวัตกรรมนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งช่วยลดการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว เพราะหัวใจของโรงพยาบาลและธุรกิจการดูแลสุขภาพคือ ‘การดูแลคน’ จึงไม่มีนวัตกรรมใดที่จะมีคุณค่าและสัมผัสถึงหัวใจของคนได้ดีกว่า ‘คน’ ตัวอย่างของนุชจรี และแพทย์ พยาบาล ไปจนถึงพนักงานทุกคนที่พญาไท-เปาโลคือหลักฐานที่บอกว่าความสำเร็จไม่ได้มาจากนวัตกรรมที่เป็นเทคโนโลยีหรือสิ่งประดิษฐ์เท่านั้น แต่ความสำเร็จคือเรื่องที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณของนวัตกรรมที่เติบโตอยู่ภายในใจของ ‘คน’ แต่ละคนที่แตกต่างแต่ก็มีสิ่งที่เชื่อมโยงกันเสมอ