โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พร้อมด้วยสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (TLCA) และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) จัดงานเปิดตัว “คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียน และมาตรฐานผลกระทบ SDG”
คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับบริษัทจดทะเบียนจัดทำขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติสำหรับภาคธุรกิจที่จะผนวกแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนเข้ากับการกลยุทธ์และการดำเนินธุรกิจ โดยกรอบการดำเนินธุรกิจและมาตรการการวัดผลกระทบด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นหลักการที่ถูกยอมรับระดับสากล ที่ภาคธุรกิจสามารถใช้เป็นแนวทางอ้างอิงในการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลเชิงบวกด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และสามารถจัดทำรายงานผลการดำเนินงานดังกล่าวได้โดยสอดคล้องตามข้อกำหนดในแบบการเปิดเผยข้อมูล 56-1 One Report
สำหรับมาตรฐานผลกระทบ SDGs นั้น คือ แนวปฏิบัติมาตรฐานแบบสมัครใจ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการและดำเนินงานขององค์กร โดยออกแบบมาเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจรวมทั้งผู้ลงทุนสามารถผนวกแนวคิดด้านความยั่งยืนและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ในระบบการบริหารจัดการและใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจ โดยระบุเกี่ยวกับสิ่งสำคัญที่บริษัทจะต้องดำเนินการใน 4 เรื่อง ได้แก่ กลยุทธ์ แนวทางการจัดการ ความโปร่งใส และการกำกับดูแล ซึ่งการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวจะช่วยให้บริษัทดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและสามารถบริหารจัดการเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวก ซึ่งส่งผลดีสำหรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ที่ผ่านมาคู่มือฉบับนี้ รวมถึงมาตรฐานผลกระทบ SDG ได้ให้กรอบการทำงานกับองค์กรที่สามารถตัดสินใจในประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ดีขึ้น ตั้งแต่ประเด็นลดก๊าซเรือนกระจก การจัดการขยะ ไปจนถึงสถานที่ทำงานที่มีความครอบคลุม นอกจากนี้ยังช่วยปรับเปลี่ยนโมเดลทางธุรกิจของทั้งองค์กรและของคู่ค้าให้สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดจนช่วยลดความเสี่ยง และสามารถคว้าโอกาสทางธุรกิจที่เกิดจากการปฏิบัติตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย
เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเข้าร่วมงานเพื่อแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับภาคธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ชี้ว่า “SDG guide book และ SDG Impact standards นี้เป็นทั้ง โอกาส และการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (competitiveness) รูปแบบใหม่ สำหรับบริษัทจดทะเบียน และภาคธุรกิจในประเทศไทย เนื่องจากบริษัทสมัยใหม่ต้องการจะนำเงินมาลงทุนในประเทศที่มีความยั่งยืนชัดเจนมากยิ่งขึ้น”
ด้านกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวชื่นชมการยกระดับตลาดทุนไทยให้เข้าถึงเครื่องมือและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศที่สอดคล้องกับ SDGs โดยเน้นย้ำว่า “การเร่งขับเคลื่อน SDGs จะต้องอาศัยภาคเอกชนในฐานะผู้นำอุตสาหกรรม ตลอดจนการปฎิรูปห่วงโซ่อุปทานให้มีความยั่งยืนยิ่งขึ้นในทุกด้าน คู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ฯ ที่เปิดตัวในวันนี้ ถือเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยให้ภาคเอกชนปรับตัวเข้ากับแนวทาง ESG ได้อย่างแนบแน่นยิ่งขึ้น สหประชาชาติในประเทศไทยมุ่งหวังที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศครั้งประวัติศาสตร์สู่การเติบโตสีเขียวที่มั่งคั่ง คาร์บอนต่ำ ทนต่อสภาพภูมิอากาศ และมีความเป็นธรรม”
ภาคธุรกิจถือว่ามีบทบาทสำคัญในการพาประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยระบบนิเวศที่ต้องเริ่มมาตั้งแต่วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร จนถึงการผลักดันการลงทุนในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า “ก.ล.ต. มุ่งพัฒนาระบบนิเวศของตลาดทุนให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่ดี และผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ สอดรับกับเป้าหมาย SDGs โดยเน้นบทบาทของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงในฐานะผู้นำบริษัท (tone from the top) ควบคู่ไปกับการผลักดันให้ผู้ลงทุนคำนึงถึงการลงทุนอย่างรับผิดชอบ เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าและระบบนิเวศที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนเงินทุนจากภาคเอกชนสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมมือและขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ ก.ล.ต. จึงหวังว่าคู่มือและมาตรฐานผลกระทบ SDGs จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมีความรู้ความเข้าใจ โดยนำมาใช้ประกอบการดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม และช่วยให้สามารถเปิดเผยข้อมูลการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืนและจัดทำรายงานประจำปี (56-1 One Report) ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สร้างความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของผู้ลงทุน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของกิจการ (value chain)”
โดยคู่มือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับภาคธุรกิจจะเป็นเครื่องมือที่สร้างมาตรฐานและบรรทัดฐานใหม่ในการทำธุรกิจ และช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการมุ่งมั่นทำธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อุปนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ชี้ว่า “ประเด็นการพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่สังคมโลกให้ความสำคัญมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้กลายเป็นประเด็นหลักของทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทย โดยทุกภาคส่วนของไทย ได้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานกำกับ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความสำคัญและกำหนดเรื่องดังกล่าวเป็นเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนความยั่งยืนขององค์กรและของประเทศ อาทิ สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลในแบบรายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) ให้ครอบคลุมนโยบายและแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนของบริษัทจดทะเบียนตลอดจนห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) และได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับบริษัทจดทะเบียนไทย ในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เปรียบเทียบ และแข่งขันระหว่างบริษัทจดทะเบียน รวมถึงการนำ ESG (Environment, Social, Governance) ผนวกเข้ากับกลยุทธในการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นช่องทางในการพัฒนาและต่อยอดในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุพันธกิจในการรักษาสิ่งแวดล้อมและการดูแลสิทธิมนุษยชนให้เป็นสากล”
เช่นเดียวกับศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ที่ย้ำถึงบทบาทของสมาคมฯ ว่า “สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย มุ่งส่งเสริมการแข่งขันกันทำความดีอย่างสร้างสรรค์ หรือ “Race to the top” พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วน สนับสนุนบริษัทจดทะเบียนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมตลอดทั้ง supply chain ของไทย เปิดเผยรายงานด้านความยั่งยืนต่อสาธารณะที่มีความโปร่งใส ประสิทธิภาพ และตรวจสอบติดตามผลการดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม”
และเพื่อเป็นการเร่งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย ระบุว่า “การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม รัฐบาลไม่สามารถทำให้สำเร็จได้เพียงผู้เดียว แต่ต้องอาศัยความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ระหว่างตัวแทนภาครัฐและตัวแทนที่ไม่ใช่รัฐ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติจึงทำงานใกล้ชิดกับภาคธุรกิจ และคาดหวังให้คู่มือเล่มนี้ให้แนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนกับบริษัทจดทะเบียน ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ยังสามารถประเมินผลกระทบด้าน SDGs เพื่อรายงานผลได้ด้วย มาตรฐานการประเมินและกรอบการทำงานภายใต้คู่มือนี้จะช่วยส่งเสริมการลงทุนของภาคธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน และโน้มน้าวให้บริษัทต่างๆ หันมาสร้างผลกระทบด้าน SDGs มากขึ้น”