US Bond Yield ยังเป็นแรงกดดดันแต่ Valuation น่าสะสมสำหรับระยะกลาง

ในช่วงที่ผ่านมาแรงกดดันหลักของตลาดหุ้นทั่วโลก ได้แก่ US Bond Yield ซึ่งจากการประเมินแนวโน้มของ US Bond Yield ในมุมมองเราเชื่อว่ายังไม่ปรับลงในเร็วๆนี้ เนื่องจาก (1) ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯยังแข็งแกร่งในหลายๆมิติ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการว่างงานทรงตัวระดับต่ำยอดขายบ้านทั้งมือหนึ่งและมือสองที่ฟื้นตัว (2) เงินเฟ้อสหรัฐฯมีแนวโน้มจะยืนระดับ 3-4% จนกระทั่งกลางปี 2024 ซึ่งเป็นระดับที่ห่างไกลจากเป้าหมายของ FED ที่ระดับ 2% อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการปรับฐานของตลาดหุ้นไทยจะเริ่มมี Downside ที่จำกัดมากขึ้น จากการที่ปรับฐานลงแรงมาก่อนหน้าประกอบกับระดับ Valuation ที่เริ่มเข้าสู่โซนถูก (13.9x PE 2024) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 15 ปีที่ 15.5x กลยุทธ์การลงทุนจึงแนะนักลงทุนระยะกลาง – ยาว เริ่มทยอยสะสมบางส่วนในหุ้นขนาดใหญ่และเป็นผู้นำอุตสาหกรรม Top Pick เลือก (AOT BBL CPALL CPN KBANK MINT TU)

  • ในช่วงที่ผ่านมาปัจจัยกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงหุ้นไทยได้แก่การปรับขึ้นของ US Bond Yield (ตามรูปที่ 1 ด้านขวามือ) ดังนั้นหากจะพิจารณาการเคลื่อนไหวของตลาดจากนี้ก็จำเป็นจะต้องวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของ US Bond Yield ซึ่งพบข้อมูลในอดีตว่าหากนำ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯอายุ 10 ปี กับดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED Rate) พบข้อมูลดังต่อไปนี้ (1) ในช่วงบี 2000 ที่ดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นมาทดสอบจุดสูงสุดที่ 6.5% ซึ่งในช่วงนั้นส่วนต่างระหว่าง US Bond Yield 10 ปี กับ US FED Rate ห่างกันเพียง -0.076% หรือเท่ากับว่า US Bond Yield ปรับขึ้นมาใกล้เคียงกับ FED Rate (2) ดอกเบี้ยสหรัฐฯปรับขึ้นมาทดสอบจุดสูงสุดอีกครั้งในช่วงปี 2006 ทดสอบระดับ 5.25% และเป็นอีกครั้งที่ส่วนต่างระหว่าง US Bond Yield 10 ปี กับ FED Rate ห่างกันเพียง -0.05% หรือเรียกได้ว่าแทบไม่มีส่วนต่างระหว่างกันสำหรับรอบปัจจุบัน FED ประเมินว่าดอกเบี้ยปลายทาง (Terminal Rate) จะขึ้นไปอยู่ที่ 5.75% แต่หากอิง CME FED Watch ให้ดอกเบี้ยปลายทางที่ 5.5% แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามปัจจุบัน US Bond Yield 10 ปีอยู่ที่เพียง 4.8% จึงมีความเสี่ยงที่ US Bond Yield จะปรับขึ้นต่อเนื่องและถือเป็นความเสี่ยงกับตลาดหุ้นที่รออยู่

  • ปัจจัยบวกเดียวที่จะหนุนให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับขึ้นได้สดใสอีกครั้ง ได้แก่ การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯแต่อย่างใด เนื่องจาก (1) ภาคแรงงานสหรัฐฯที่ยังแข็งแกร่ง หากพิจารณาอัตราการว่างงานพบว่ายังอยู่ระดับต่ำที่เพียง 3.8% นับเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำสุดในรอบ 2 ปี สะท้อนถึงประชาชนในสหรัฐฯส่วนใหญ่มีงานทำ ขณะเดียวกันอัตราการว่างงานที่อยู่ระดับต่ำสะท้อนถึงอุปสงค์ที่แข็งแกร่งแต่จะเป็นปัจจัยเร่งเงินเฟ้อให้ปรับลดลงได้ยาก (2) เงินเฟ้อสหรัฐฯยังอยู่ระดับสูงและห่างไกลจากเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯที่ระดับ 2% ขณะที่หากคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯเฉลี่ยจะขยายตัว 0.3%MoM ในทุกๆเดือน ซึ่งเมื่อมองไปยังปี 2024 ในช่วงกลางปีก็จะพบว่าเงินเฟือสหรัฐฯจะทรงตัวราว 3.8%YoY โดยมีเพียงทางเดียวที่เงินเฟ้อสหรัฐฯจะลงมาต่ำกว่า 2% นั่นคือเฉลี่ยต่อเดือนแล้วเงินเฟ้อสหรัฐฯ ต้องมิขยายตัวเลย (รูปที่ 4 ขวามือ) แต่มองถึงโอกาสเป็นไปได้ ค่อนข้างยาก
  • แม้ตลาดหุ้นในภาพรวมยังมีความเสี่ยงจากการทรงตัวระดับสูงของ US Bond Yield และดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าผลกระทบต่อ SET INDEX จะเริ่มจำกัดมากขึ้นและไม่น่าจะปรับฐานแรงมากกว่าปัจจุบันเท่าใดนัก เนื่องจาก YTD SET ปรับฐานลงมาแล้วถึง 17% สวนทางกับ S&P500 ที่ YTD ให้ผลตอบแทน 8% ซึ่งทำให้ปัจจุบัน Valuation ของ SET INDEX ในเชิง Forward PE ปรับลงมาซื้อขายเพียง 13.9x PE 24E เป็นจุดเหมาะสมสำหรับการลงทุนระยะกลาง – ยาว ขณะเดียวกันในเชิง PBV ก็ปรับลงมาซื้อขายเพียง 1.39x ต่ำกว่าช่วง -1SD ในรอบ 15 ปี

- Advertisement -